"เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว" ยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 27.74 ล้านหุ้น โดยมี บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เล็งเข้าตลาด mai เผยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ขยายงาน
บมจ.เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว ยื่นไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 27,741,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 27.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ และมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้
วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้สร้างศูนย์ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Support Center) การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cybersecurity) การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยหลักแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ เป็นธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซลูชันด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cybersecurity) ให้แก่เจ้าของผลิตภัณฑ์ (Vendor) ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกหลายราย โดยผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายสามารถจำแนก เป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ผู้ใช้งานโดยตรง (End Point Security) (2) ระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย (Network Security) (3) ระบบการบริหารจัดการประสิทธิภาพ (Network Performance and Monitoring) และ (4) ระบบหรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่บริษัทฯ จำหน่าย (Others) ได้แก่ ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption Solution) ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันและระบุตัวตน (Authentication) และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล (Archiving) เป็นต้น โดยจากรายได้จากการขายของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 60-62 มีมูลค่า 450.57 ล้านบาท 553.34 ล้านบาท 623.00 ล้านบาท ตามลำดับ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 17.59
นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลติดตั้ง ฝึกอบรม ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ มีการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสามารถแบ่งประเภทการให้บริการออกได้ 3 ประเภท ดังนี้ 1.การให้บริการติดตั้ง (Installation Service) 2.การให้บริการฝึกอบรม (Training Service) 3.การให้บริการบำรุงรักษาระบบ (Maintenance Service)
ผลดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 2563 รายได้จากการขาย 308.78 ล้านบาท ต้นทุนขายหรือการให้บริการ 248.57 ล้าบาท กำไรสุทธิสำหรับงวด 8.69 ล้านบาท ด้านสินทรัพย์รวม 300.40 ล้านบาท หนี้สินรวม 151.13 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 149.27 ล้านบาท
รายได้จากการขายและให้บริการของบริษัทฯ ในปี 2560-2562 เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 17.19 โดยรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากรายได้จากการขายระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย (Network Security) รองลงมาเป็นรายได้จากการขายระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ผู้ใช้งานโดยตรง (End point security) และระบบการบริหารจัดการประสิทธิภาพ (Network performance & monitoring) โดยแต่ละปีบริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากการที่องค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล แผนการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คาดว่าจะมีผลบังคับในปี 2564 ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับโอกาสให้ทำงานโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น
สำหรับในงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 8.69 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 10.09 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1.39 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 13.80 เนื่องจากบริษัทฯ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจำนวน 11.54 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในไตรมาส 1 ปี 2563
โครงการในอนาคต บริษัทฯ มีแผนการลงทุนดังนี้ การสร้างศูนย์ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Support Center) และขยายทีมบุคลากรในฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการให้แก่ลูกค้า และใช้ในการสาธิตการทำงานของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้ ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ และสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานของบริษัทฯ ปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ที่โครงการเดอะซิงโครไนซ์ ซอยรัชดาฯ 18 มีพื้นที่ไม่เพียงพอ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเช่าอาคารเพิ่มเติมเพื่อที่จะรองรับแผนการดังกล่าว บริษัทฯ คาดว่าศูนย์บริการด้านเทคนิคจะมีพื้นที่ใช้สอยโดยรวมประมาณ 300-400 ตารางเมตร เพื่อปรับปรุงอาคารเช่า และจัดหาอุปกรณ์ตกแต่ง อุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์ทางด้าน Cybersecurity ต่างๆ โดยบริษัทฯ คาดว่าการปรับปรุงอาคารจะแล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้ภายในไตรมาส 4/64
การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Cybersecurity โดยบริษัทฯ มีแผนมุ่งเน้นพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Cybersecurity ที่จะช่วยในการเชื่อมต่อโซลูชันของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย เข้ากับระบบต่างๆ ของลูกค้า เช่น ระบบการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานได้เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าและประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจมีการร่วมมือกับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาจรวมถึงการขายซอฟท์แวร์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ (White Label) ตลอดจนการซื้อทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
การลงทุนในธุรกิจที่ต่อยอดสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ตลอดจนการลงทุนในบริษัทที่มีฐานลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยทำให้บริษัทฯ สามารถก้าวสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Technology) ชั้นนำในระดับภูมิภาคได้อย่างแท้จริง โดยนโยบายในการพิจารณาการลงทุนของบริษัทฯ มีแนวทางเป็นไปเพื่อการต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจที่เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ ดังต่อไปนี้ เป็นไปเพื่อให้บริษัทฯ เพิ่มความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กรด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นไปเพื่อให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Technology)
เป็นไปเพื่อให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สามารถต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Technology) ของบริษัทฯ และความสัมพันธ์ที่บริษัทฯ มีกับกลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ชั้นนำระดับโลก เช่น การลงทุนเพื่อควบรวมธุรกิจตัวแทนจำหน่ายในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์การรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยี (Cyber Security) ที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจที่ต่อยอดสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯ ภายในไตรมาส 4/65
บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 52,970,500 บาท โดยเป็นหุ้นสามัญจำนวน 105,941,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และมีทุนที่เรียกชำระแล้ว 37,500,000 บาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 75,000,000 หุ้น โดยภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯจะมีทุนชำระแล้วเพิ่มเป็น 51,370,500 บาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 102,741,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 9 ก.ย.2563 ประกอบด้วย กลุ่มนามสกุลล้วนจำเริญ ถือหุ้น 20,888,460 หุ้น คิดเป็น 27.85% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 20.33% กลุ่มนามสกุลเนียมนามธรรม ถือหุ้น 17,090,560 หุ้น คิดเป็น 22.79% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 16.63% บริษัท มอซ เซกูโร จำกัด ถือหุ้น 25,023,840 หุ้น คิดเป็น 33.37% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 24.36% และฮัตสัน เอเชีย โฮลดิ้งส์ พีทีอี แอลทีดี ถือหุ้น 11,997,140 หุ้น คิดเป็น 16% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 11.68%
บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษี และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ