xs
xsm
sm
md
lg

ชิป (Chip) อำนาจแห่งศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่จะกล่าวว่าประเทศใดควบคุมอุตสาหกรรมการผลิต Advanced Chip (แผงวงจรขนาดเล็กขั้นสูง) ในยุคนี้ เปรียบเสมือนมีอำนาจได้ควบคุมขุมน้ำมันในศตวรรษที่แล้วนั้นก็คงจะไม่ผิด

เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตและความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ซึ่งเบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีและสินค้าต่างๆ ก็มาจากการที่มีชิปที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ข้างในนี่เอง ชิปเปรียบเสมือนสมองที่คอยสั่งการระบบทำงานและเป็นส่วนประกอบของเทคโนโลยีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ รถยนต์ EV เครื่องใช้ไฟฟ้า จนกระทั่งอุปกรณ์ทางทหารขั้นสูง เช่น เครื่องบินรบ ขีปนาวุธ ดังนั้น ผู้มีอำนาจควบคุมอุตสาหกรรมการผลิตชิปจึงมีอิทธิพลต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

สหรัฐฯ อาจตระหนักถึงเรื่องนี้ดีจึงออกมาตรการสกัดกั้นจีนในหลายรูปแบบ ตั้งแต่สงครามการค้า ไปจนถึงสงครามเทคโนโลยี และสงครามชิป เช่น การไม่อนุญาตให้บริษัท Intel Corporation ขายชิปขั้นสูงให้แก่ศูนย์การวิจัยต่างๆ ของจีน และลามไปถึงการกีดกันไม่ให้บริษัท TSMC (ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ในไต้หวัน) และผู้ผลิตชิปรายอื่นในสหรัฐฯ ส่งชิปให้ Huawei โดยให้เหตุผลทางด้านความมั่นคงของชาติโดยใช้ข้อกล่าวหาว่าจีนจะขโมยเทคโนโลยีและความลับทางการค้าไป

เนื่องจากผู้ผลิตชิปแทบทุกรายในโลกล้วนแต่พึ่งพาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตชิปและอุปกรณ์ในการผลิตจากสหรัฐฯ เช่น Applied Materials (AMAT.O) Lam Research (LRCX.O) และ KLA (KLAC.O) และไม่มีสายการผลิตในจีนที่สามารถผลิตโดยใช้ชิ้นส่วนจากจีนทั้งหมด ดังนั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทจีนจะผลิต Chipset (กลุ่มของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำงานเป็นหน่วยเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ บนเมนบอร์ด) โดยไม่พึ่งสหรัฐฯ เพราะการจะเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิปขั้นสูงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเจาะตลาดดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนตั้งต้นมหาศาลเพื่อวิจัย พัฒนา และสร้างฐานการผลิต บวกกับ know how ที่ผู้นำตลาดสะสมมานานหลายสิบปีทำให้ผู้เล่นรายใหม่ต่อสู้ได้ยาก

อย่างไรก็ตาม จีนเองก็ทราบดีถึงปัญหาและรู้ว่าถ้าถูกสหรัฐฯ กีดกันการเข้าถึงชิปขั้นสูงจะส่งผลให้จีนพัฒนาไปสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีได้ยากขึ้น ดังนั้นจีนจึงประกาศให้อุตสาหกรรมการผลิตชิปเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักและตั้งเป้าให้ผลิตชิปเองให้ได้ทั้งหมดเพื่อลดการพึ่งพาจากสหรัฐฯ รัฐบาลจีนจึงได้จัดตั้งกองทุนรวมการลงทุนอุตสาหกรรมวงจรรวมแห่งชาติ (China Integrated Circuit Industry Investment Fund) เพื่อจัดสรรแหล่งเงินลงทุนเพื่อการพัฒนาชิป จีนตั้งวงเงินสูงถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการออกแบบ พัฒนา และผลิตชิ้นส่วนชิปด้วยตนเอง

สหรัฐฯ ถือเป็นผู้นำด้านการผลิตชิปมาหลายทศวรรษ โดยได้เปรียบทั้งด้านเทคโนโลยีและต้นทุน ชิปขั้นสูงสามารถเก็บข้อมูลได้เยอะกว่าและประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่า ดังนั้น ผู้ใดมีชิปที่เหนือกว่าย่อมมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ 5G, Artificial Intelligence (AI), Self-Driving Car, Cloud Computing, Internet-of-things (IOT), Quantum Computing, Drones, Robotics และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งล้วนแล้วต้องใช้ชิป
ศักยภาพของเทคโนโลยีที่กล่าวไปนั้นนับว่าสูงมากและกำลังกลายเป็นสินค้าแห่งอนาคต ซึ่งหลายคนคงได้สัมผัสการเปลี่ยนผ่านความมั่งคั่ง (wealth transfer) จากภาคธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเก่า (old economy) ไปสู่กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (new economy) แล้วในช่วงเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในอนาคต ที่เห็นชัดเจนคือ บริษัทที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในแง่ของกำไร รายได้ ส่วนแบ่งทางการตลาด มูลค่าบริษัทเหล่านี้โตเร็วกว่าค่าเฉลี่ย และที่สำคัญได้รับการประเมินราคาที่เป็น Premium อย่างมากมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลตอบแทน NASDAQ index (หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ) ที่ชนะหุ้นกลุ่มอื่นอย่างไม่เห็นฝุ่น

เมื่อได้เห็นถึงผลประโยชน์และความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตชิปแล้ว จึงพอสรุปได้ว่า อำนาจแห่งศตวรรษที่ 21 นั้นอยู่ในชิปนี่เอง

สิ่งที่น่าจับตามอง คือ มาตรการของมหาอำนาจที่จะออกมาเพื่อควบคุมธุรกิจนี้มากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อ wealth transfer ได้อย่างมีนัย เพราะถ้าความขัดแย้งมากขึ้นจนมีการย้ายฐานการผลิตอาจมีความเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตบางรายอาจต้องเลือกข้าง (bi-polarization) ว่าจะผลิตให้แก่สหรัฐฯ หรือจีน โดยอาจไม่สามารถผลิตให้ทั้ง 2 ฝ่ายในเวลาเดียวกันได้ซึ่งอาจส่งผลทางลบ แต่ก็อาจมีผลบวกแฝงอยู่อย่างเช่นในปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการย้ายโรงงานออกจากจีนมายังประเทศไทย และเวียดนาม

สำหรับนักลงทุนอาจมองโอกาสลงทุนในหุ้นผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกโดยตรง อย่างเช่น INTEL, SAMSUNG, QUALCOMM, TSM, NVIDIA หรือลงทุนในบริษัทไทยที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ประกอบกับชิปและสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับ New Economy โดยหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในกลุ่มนี้ เช่น HANA, DELTA และ KCE โดยบริษัทไทยเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้าง Supply Chain เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาบริษัทในจีน นอกจากนี้ บริษัทไทยส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Technology ชั้นสูงหรือ Trade Secret จึงมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะต้องเลือกข้าง

อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงควรต้องติดตามความเสี่ยงของอุตสาหกรรมนี้ในด้านความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนราคาวัตถุดิบอย่างเช่น ทองแดง เป็นต้น

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น