xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ครม.ปลดล็อก “กัญชาเสรี” ต่อยอดภูมิปัญญาไทย ชิงแชร์ตลาดกัญชาโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ้นสุดการรอคอย “ปลดล็อกกัญชาเสรี” สายเขียวมีเฮ! เปิดทางให้ผู้ป่วย หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย และเกษตรกรปลูกในรูปแบบ “คอนเทรกฟาร์มมิ่ง” โดยอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า-ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองได้ ต่อยอดภูมิปัญญากัญชาไทยร่วมชิงตลาดกัญชาโลกมูลค่ากว่า 4.6 ล้านล้านบาท กางไทม์ไลน์ 365 วัน สู่ฝันที่(ใกล้)เป็นจริงกันอีกครั้ง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลบเรื่องสำคัญอย่างการผลักดันปลดล็อกกัญชาเสรี โดย “หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ในเชิงนโยบายไปจนหมดสิ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปลดล็อกกัญชาเสรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา พิสูจน์ผลงานกันอีกครั้งว่า “หมอหนู” และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเดินหน้าเอาจริงเอาจังทลายทุกข้อจำกัดที่ขวางกั้น

ถ้อยแถลงที่นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รายละเอียดก็คือ ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้เมื่อปี 2562

 สาระสำคัญที่แก้ไขใหม่ คือ กำหนดให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือหมอชาวบ้าน ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรที่ดำเนินการผลิตภายใต้ความร่วมมือกับผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือกัญชาได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์ 

ขณะที่ กฎหมายเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี 2562 นั้นมีข้อจำกัดอยู่มาก ด้วยว่ากำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ขออนุญาตที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกได้ ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้และการต่อยอดกัญชาทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงยาตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมสำหรับคนไข้ได้

หลังจาก ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป


 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขยายความว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่เพิ่งผ่านครม. มุ่งเน้นหลักการสำคัญคือ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถขออนุญาตปลูกและใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของตนเองได้ เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการปรุงยาเพื่อให้ผู้ป่วยของตนได้

นอกจากนั้น ยังจะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถผลิตยากัญชาและส่งออกได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ ไม่ต้องนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ และประหยัดงบประมาณ ในการนำยาโดยใช้ยากัญชาทดแทนหรือใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้

การปลดล็อกกัญชาเสรีตามมติครม. ถือเป็นก้าวสำคัญของไทยที่จะยกระดับสู่ผู้นำการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ เปิดทางให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาอย่างทั่วถึง เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาไทย ให้เกษตรกรร่วมกับผู้ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปลูกกัญชาเพื่อนำมาผลิตยา รวมถึงสามารถผลิตและส่งออกยากัญชาได้ เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติ

“..... การแก้ไขกฎหมายยาเสพติดเพื่อคลายล็อกการเข้าถึงกัญชา ทั้งการให้ผู้ป่วย สามารถปลูกเป็นยาได้ ส่วนภาคเอกชน สถานพยาบาลที่จะขอปลูกเป็นยาก็ต้องปลูกได้ ขณะที่ภาคประชาชน เมื่อมีการทำสัญญารับซื้อแล้ว ก็สมควรมีสิทธิ์ปลูกเช่นกัน เป็นหลักการที่วางไว้ ซึ่งต้องให้ประโยชน์กับทุกภาคส่วนทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและการแพทย์” นายอนุทิน กล่าว

เป็นไปตามหมุดหมายที่วางไว้ว่า  “ตะลุยทลายทุกข้อกฎหมาย เปิดทางให้กัญชาเป็นของประชาชน คนป่วย ต้องได้ใช้รักษาโรค คนไทยต้องได้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ” ดังที่เพจ Like Anutin ระบุเอาไว้หลัง ครม. เปิดไฟเขียว

ส่วนการปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ยังต้องรอกฎหมายใหม่ออกมา ขณะนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยนายอนุทิน ย้ำชัดเจนว่าเป็นการเสรีทางการแพทย์เท่านั้น

เพจ Like Anutin ยังเปิดไทม์ไลน์ 365 วันนโยบายปลดล็อกกัญชา ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ผลักดันมาโดยตลอดว่า นโยบายกัญชาที่นายอนุทิน หมายมั่นปั้นมือต้องทำให้สำเร็จนั้น แม้จะไม่ได้รวดเร็วอย่างที่หลายคนจินตนาการไว้แต่ก็นับว่าคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงหนึ่งปีและเป็นช่วงที่มีไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องดูแลทั้งเรื่องไวรัสฯ และกัญชาควบคู่กันไป และต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่นโยบายเรื่องกัญชามีความก้าวหน้ามากที่สุด

ไทม์ไลน์หนึ่งปีผลักดันกัญชาเสรี นับเริ่มต้นจาก 31 กรกฎาคม 2562 นายอนุทิน ประกาศนโยบาย “น้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด” ซึ่งภาครัฐจะผลิตสารสกัดจากกัญชาประมาณ 1 ล้านขวด ขวดละไม่เกิน 5 cc ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ไว้ใช้กับผู้ป่วย

6 สิงหาคม 2562 ลงนามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข รับรองสถานะหมอพื้นบ้าน เปิดช่องให้หมอพื้นบ้านใช้กัญชา เป็นส่วนผสมในตำรับยา ซึ่งประกอบไปด้วย ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายวิชาชีพารแพทย์แผนไทย ที่จะสามารถปรุงหรือสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และ เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

7 สิงหาคม 2562 รับมอบ “น้ำมันกัญชา” จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 4,500 ขวด พร้อมผลิตน้ำมันกัญชาสูตร อาจารย์เดชา ศิริภัทร เพื่อเป็นทางเลือกการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย

16 สิงหาคม 2562 วิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตกัญชาของคณะองค์การอาหารและยา (อย.) สำหรับสถานที่ปลูกกัญชาดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ได้ยื่นขอรับใบอนุญาต เพื่อผลิต (เฉพาะปลูก) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา เพื่อนำไปสกัดเป็นน้ำมันกัญชา โดยมีเป้าหมาย 1,000,000 ซีซี

จากนั้น มีการทยอยขออนุญาตจากวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐฯ ในการผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์ เช่น วิสาหกิจชุมชนเพลาเพลิน จ.บุรีรัมย์, วิสาหกิจชุมชน อสม.กาญจนบุรี และภาคีเครือข่าย, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เป็นต้น

17 สิงหาคม 2562 โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดคลินิกกัญชาอย่างเป็นทางการ นับเป็นคลินิกแห่งแรกของของประเทศในระดับโรงพยาบาลศูนย์

1 กันยายน 2562 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้สารสำคัญในกัญชา ทั้ง THC และ CBD ไม่เป็นยาเสพติด ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยประกาศฯ ได้กำหนดให้สารสกัดในพืชกัญชงและพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ แคนนาบิไดออล (CBD) บริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลักและสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 เช่นเดียวกับหลายประเทศ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการผลิตยาหรือสมุนไพร จากนั้นได้ออกประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 24 ตุลาคมปีเดียวกัน ลดคุณสมบัติของสารสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

12 กันยายน 2562 นายอนุทิน นำ ส.ส.ภูมิใจไทย ยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนรับมอบ เป็นการปูทางให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้เพื่อใช้ในการรักษาตนเอง หรือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ... พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... เป็นความพยายามตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมา เพื่อควบคุมการปลูกและใช้กัญชา ให้เป็นตามเงื่อนไขของกฎหมายสากล

25 กันยายน 2562 นายอนุทิน รับมอบน้ำมันกัญชาสูตรของ อาจารย์เดชา จำนวน 3,300 ลิตร จำนวน 660,000 ขวด เพื่อส่งมอบแก่โรงพยาบาลที่มีบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โดยน้ำมันกัญชาดังกล่าว เป็นการร่วมผลิตโดยกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา ให้ดำเนินการผลิตน้ำมันกัญชา ขนาดบรรจุ 5 ซีซี

6 มกราคม 2563 เปิดคลินิกกัญชาครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ที่อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการแบบผสมผสานทั้งการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนรอบเขตกรุงเทพมหานคร เข้าถึงการรักษาด้วยตำรับยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์

ในเบื้องต้นมีตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมที่จะให้บริการ 4 ตำรับ คือ ยาตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ยาแก้ลมแก้เส้น และน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา รักษาอาการไมเกรน นอนไม่หลับ ปวดข้อ ปวดตึงกล้ามเนื้อ ลดอาการมือเท้าชา ช่วยเจริญอาหาร โดยปัจจุบันมีคลินิกทางการแพทย์แผนไทย ให้บริการยากัญชากระจายอยู่ทั่วประเทศ

5 มิถุนายน 2563 ทำประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... โดยนายอนุทิน กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ ว่า "หลักการสำคัญที่ผมให้นโยบายไปก็คือ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น .... ผู้ป่วยเมื่อแพทย์รับรองแล้ว สามารถมายื่นขออนุญาตปลูกได้เลย หรือเกษตรกรคนใดอยากปลูกเพื่อสร้างรายได้ถ้ามีสัญญารับซื้อผลผลิตจากผู้ผลิตยาก็ขออนุญาตปลูกได้"

การแก้ไขสำคัญคือการยกเลิก ม.21 ในกฎหมายฉบับเก่า เพื่อให้ประชาชนสามารถปลูกเป็นยาได้ โดยไม่ต้องมี “หน่วยงานรัฐ” ทำหน้าที่ เป็น “พี่เลี้ยง” อีกต่อไป

3 กรกฎาคม 2563 เตรียมนำร่างกฎหมายฉบับ อย.เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยมีสิทธ์ปลูกเพื่อรักษาตัวเองได้

26 กรกฎาคม 2563 อนุญาตให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เริ่มต้นจ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ ปัจจุบันได้ให้ รพ.สต. ที่มีความพร้อม 152 แห่ง ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ขยายการปลูกพืชกัญชาสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยตั้งเป้าจำนวนผู้รับบริการประมาณ 15,200 คน ขณะนี้นำร่องไปแล้ว 4 แห่ง คือ รพ.สต.คลองม่วง จ.นครราชสีมา รพ.สต.เชียงพิณ จ.อุดรธานี รพ.สต. บ้านนายอเหนือ จ.สกลนคร และ รพ.สต.บ้านนาปะขอ จ.พัทลุง

 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีแหล่งปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์แผนไทย 6 แห่ง คือ วิสาหกิจชุมชนฯ เพชรล้านนา จ.ลำปาง, วิสาหกิจชุมชนฯ บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จ.ปทุมธานี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน จ.สกลนคร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา 


 นอกจากนี้ ยังมีแหล่งผลิตตำรับยากัญชา 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่, กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร, โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร, โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลดอนตูม จ.นครปฐ 


 จากการประเมินของแกรนด์วิวรีเสิร์ช (Grand View Research) บริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท ในปี 2025 ขณะที่ ออสเตรเลียประกาศแล้วว่าจะเป็นผู้นำในการส่งออกยาที่ผลิตจากกัญชา และมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากกัญชาทั่วโลกมีกว่า 4.6 ล้านล้านบาท 

ความหวังกัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้จริงหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตอบโจทย์นี้ในรายงานของศูนย์วิจัยฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2563 ว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสสังคมโลก รวมทั้งในไทยได้พูดถึงเรื่องการปลดล็อกให้นำพืชกัญชามาใช้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศที่กัญชาได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประเทศที่รับรองกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ 33 ประเทศ 2) ประเทศรับรองกัญชาเพื่อสันทนาการ 6 ประเทศ และ 3) ประเทศรับรองกัญชาอย่างเสรี 3 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1) ตั้งแต่ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 แบ่งเป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีกร้อยละ 40 เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ

ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลก สนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว คาดว่าในระยะข้างหน้ามูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและกระจายไปในหลายธุรกิจมากขึ้น

ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และแม้ว่าจะปลดล็อกให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเมื่อช่วงต้นปี แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ


 ทั้งนี้ หากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 60-80 ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด พบว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยน่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งยังมีขนาดที่เล็กมากหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.02-0.04 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือถ้าเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ขนาดใหญ่ของโลก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท 

มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยในระยะกลางถึงยาวยังไม่สามารถประเมินได้ ขึ้นอยู่กับผลตอบรับที่ได้จากการรักษาคนไข้ ถ้าได้ผลความต้องการมากขึ้นตลาดก็ขยายตัว แต่ถ้าไม่ได้ผลไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็อาจไม่ขยายตัว

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเด็นทั้งในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์และเชิงสังคมที่นับเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผ่านกฎระเบียบ/ข้อตกลงต่างๆ ที่เข้มงวดและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ที่จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคา ความสามารถในการแข่งขันกับกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในกรณีที่มีการอนุญาตให้นำเข้าได้ กลุ่มผู้ประกอบการ/นักลงทุน ที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิบัตรกัญชา ความคุ้มค่าในการลงทุน ความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการรักษา ความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับกลุ่มคนไข้ที่วิเคราะห์ลงไปถึงระดับรายบุคคลที่นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุด นั่นหมายความว่า หากจะปลดล็อคให้มีการลงทุนปลูกกัญชาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว ภาครัฐคงต้องตอบประเด็นเหล่านี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วในมิติของประเทศนั้น เราจะได้ผลดีจากการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบได้อย่างยั่งยืนหรือไม่


 ฝันหวานปลดล็อกกัญชาเสรี เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย และมองไปข้างหน้าถึงความมั่งคั่ง แก้ปัญหาความยากจน จะเป็นจริงได้หรือไม่ยังมีตัวแปรอีกหลากหลายที่ต้องทลายและก้าวข้ามไปต่อให้ได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น