xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

8พันล้าน จ่อลง76จังหวัด ไฟเขียวรอบ2“เงินกู้สู้โควิด”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุทิน ชาญวีรกูล
ในที่สุดก็เป็นไปตามข้อเสนอของ "สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์ฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านเมื่อ คณะรัฐมนตรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคลียร์ใจกับ "เสี่ยหนู" นายอุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ลั่นหัวชนฝา พ่วงด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทน"อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" (อสม.) ฯลฯ


ว่าจะเดินหน้า ขอค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ หรือ โบนัส ให้ "อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)" คนละ 500 บาท ต่อเดือน จำนวน 19 เดือน ไม่ใช่ 7 เดือนโดยใช้เงินจากโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานด้านสาธารณสุข เพื่อขอรับการจัดสรรจากเงินกู้ภายใต้ พระราชกำหนดในวงเงินรวมประมาณ 51,985 ล้านบาท ตามชื่อ วาระ ครม.ที่เสนอ "โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน"

มี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ขอรับงบระมาณเงินกู้ก้อนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1)

แต่ที่สุด นายกฯ ก็ต้องกล่อมให้ฝ่ายสาธารณสุข เห็นชอบ ตามสภาพัฒน์ เสนอ ให้เป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ คนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงกันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท

แม้หน่วยงานและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดยันว่า จะต้องได้ตามกรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาท และต้องจ่ายให้ อสม.-อสส.กว่า 1,054,729 คน ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564 หรือ 19 เดือน

"เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 และหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษถึงเดือนกันยายน 2563"

ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงของการระบาดมากขึ้น ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมต่อไป

ว่าด้วย วงเงินกู้ 4 แสนล้าน โครงการที่เกี่ยวเนื่องไปถึง อสม. และบุคลากรสาธารณสุข กว่า 1 ล้านคน ยังมี "โครงการกำลังใจ" ของ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่อยู่ในกำกับชอง พรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับงบประมาณ วงเงินรวม 2.4 พันล้าน ซึ่งครม.เห็นชอบแล้ว เป็นโครงการเพื่อให้กำลังใจด้วยการพา อสม./รพ.สต. กว่า 1 ล้านคน ที่ร่วมต่อสู้โควิด ไปเที่ยวคลายเครียด หัวละ 2 พัน คู่ขนานไปกับโครงการโบนัส อสม.

วันก่อน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น


ในหนังสือข้อหนึ่ง ระบุว่า แต่ละจังหวัด จะต้องจัดการอบรมบุคลากรทั้งคณะกรรมการประจำหน่วย กทม.และ อบจ. 5 คน เทศบาล เมืองพัทยา และ อบต. จำนวน 3 คนรวมถึงเพิ่ม อสม. ที่จะเข้ามาช่วยคัดกรองผู้ไปใช้สิทธิ์หน่วยเลือกตั้ง ละ 3 คน

ตามข้อมูลจากการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 ล่าสุด พบว่า กกต.กำหนดจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศไว้ 92,320 หน่วย

ดังนั้น หากใช้ อสม. 3 คน เข้ามาช่วยคัดกรอง อาจจะใช้ อสม.ทั้งสิ้นรวมกว่า 276,960 คน

โดย อปท.จะต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพิ่มในส่วนของค่าบริหารจัดการ ของ อสม. ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยว่าถึง สภาพัฒน์ แล้ว เมื่อ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองแผนงาน เงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีหนังสือถึงหน่วยงานที่ยื่นขอรับงบประมาณจากเงินกู้ เพื่อแจ้งผลการประเมินแผนงานโครงการเบื้องต้น ภายใต้แผนงานที่ 3.2 (รอบ 2)

ภายหลังเมื่อต้นเดือนมีหนังสือแจ้งหน่วยงาน ให้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดโครงการจังหวัดภายใต้ โครงการ/แผนงานที่ 3.2 ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อจัดส่งมายังอนุกรรมการชุดดังกล่าว

สภาพัฒน์ ได้แจ้งให้หน่วยงานและจังหวัดรับทราบ ผลการประเมินเป็นรายจังหวัดรวม 76 จังหวัด และให้จังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดขอบเขตการดำเนินงาน แผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณรายเดือน การลงนามรับรองโครงการ รวมถึงให้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงตามเกณฑ์ของ ป.ป.ท.ทุกโครงการ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ก่อนแจ้งกลับมายังสภาพัฒน์ ภายในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

สำหรับผลการประเมินแผนงานโครงการเบื้องต้น ภายใต้แผนงานที่ 3.2 (รอบ 2) พบว่ามีโครงการ ที่สภาพัฒน์ ส่งไปให้ 76 จังหวัด พิจารณาร่วมกับ ก.บ.จ. จำนวน 508 โครงการ ในวงเงิน 7,029,528,329 บาท ประกอบด้วย ภาคเหนือ 112 โครงการ 1,239,548,792 บาท ภาคอีสาน 95 โครงการ 3,080,721,550 บาท ภาคกลาง 79 โครงการ 422,904,607 บาท ภาคตะวันออก 42 โครงการ 437,233,643 บาท และภาคใต้/ภาคใต้ชายแดน 180 โครงการ 1,849,119,737 บาท

ส่วนนี้ มีตัวอย่างจังหวัด ที่เสนอขอรับงบเงินกู้ และผ่านการประเมินรอบ 2 แล้ว ประกอบด้วย

ในภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จะได้รับงบ ลงใน 18 โครงการ วงเงิน 217,758,600 บาท จ.เชียงราย จะได้รับงบ 9 โครงการ วงเงิน 300,241,000 บาท

ขณะที่ภาคอีสาน จ.อำนาจเจริญ จะได้งบ 9 โครงการ วงเงิน 282,636,127 บาท จ.บุรีรัมย์ จะได้ 4 โครงการ วงเงิน 264,344,375 บาท ส่วน จ.สกลนคร จะได้ 234,456,000 บาท ลงใน 2 โครงการ โดย จ.นครราชสีมา ที่ผ่านประเมิน 20 โครงการ วงเงิน 192,150,880 บาท

ส่วน ภาคกลาง พบว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสนอ 87,968,840 บาท ผ่านประเมิน 6 โครงการ

ในภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ที่เสนอมากสุด 181,635,765 บาท ซึ่งผ่านประเมิน 4 โครงการ

สุดท้าย ภาคใต้/ภาคใต้ชายแดน จ.นครศรีธรรมราช ที่มีโครงการผ่านประเมิน 5 โครงการ จะได้รับงบ 457,716,714 บาท โดยพบว่า จังหวัดในภาคนี้ส่วนใหญ่ได้รับงบสูงถึงจังหวัดละ 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการในส่วนของ อปท. อีก 573 โครงการ วงเงิน 1,288,557,907 บาท ประกอบด้วย ภาคเหนือ 121 โครงการ 301,927,843 บาท ภาคอีสาน 170 โครงการ 224,839,745 บาท ภาคกลาง 85 โครงการ 89,378,569 บาท ภาคตะวันออก 61 โครงการ 131,662,141 บาท และภาคใต้/ภาคใต้ชายแดน 136 โครงการ 540,749,609 บาท

คาดว่า ทั้ง 1,081 โครงการ วงเงิน 8,318,086,236 บาท สภาพัฒน์ จะเสนอ ครม.เห็นชอบต้นเดือน ส.ค.นี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น