กูรูมองราคาทองคำแค่อยู่ในช่วงพักฐาน หลังปรับตัวขึ้นแรงมาต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่ภาพรวมระยะยาวยังไปต่อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ลุ้นช่วงที่เหลือของปี เพราะยังมีโอกาสที่ทองคำสปอตจะปรับขึ้นแตะ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้
แม้ราคาซื้อขายทองคำในประเทศและต่างประเทศช่วงนี้จะปรับตัวลดลง แต่ความน่าสนใจต่อการลงทุนในทองคำของนักลงทุนโดยรวมยังมีสเน่ห์มากกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวม นอกจากนี้ พบว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนหนึ่งยังเลือกที่จะตัดสินใจปรับแผนลงทุน โดยเพิ่มน้ำหนักให้แก่ทองคำ และหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในแผนลงทุน เพราะทุกคนต้องการสร้างผลตอบแทนที่ดีในยามวิกฤต หรือกล่าวได้ว่า ไม่อยากเป็นแค่ “ผู้อยู่รอด” แต่อยากเป็น “ผู้ชนะ” มากกว่า
พฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป หันมาให้ความสำคัญต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่านี่เป็นโอกาสที่ดีต่อการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนระดับสูงในอนาคต สิ่งเหล่านี้ต้องยกความดีความชอบให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) ที่หยิบยื่นข้อมูลความรู้ด้านการลงทุนที่หลากหลายให้แก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนสร้างนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจต่อตลาดทุนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนบุคคล กลับมาที่ราคาทองคำ ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังลุกลามในหลายประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันให้ราคาซื้อขายขยับตัวเพิ่ม หลังภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก กดดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย และอีกปัจจัยหนีไม่พ้นสงครามการค้าของ 2 ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นและค่าเงินสกุลต่างๆ ผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำเป็นอย่างยิ่ง
ณ ปัจจุบัน (เข้าสู่เดือนที่ 9 ของปี 2563) ราคาทองคำ 96.50% ในประเทศไทย (วันที่ 9 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 28,650 บาท แต่ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 7,100 บาท โดยมีราคาสูงสุดที่ระดับ 30,400 บาท และต่ำสุดที่ระดับ 24,650 บาท
ขณะที่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าเป็นเดือนที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 3,150 บาท อันดับ 2 เดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,700 บาท ถัดมาคือเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 1,250 บาท และเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 1,200 บาท สุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นต่ำสุด 500 บาท
ส่วนอีก 3 เดือนก่อนหน้านี้ พบว่า ราคาทองคำปรับตัวลดลง 150 บาทในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ขณะที่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาลดลง 200 บาท ขณะที่เดือนกันยายนภาพรวมราคาทองคำลดลงแล้ว 200 บาท
ปัจจุบันเริ่มมีคำถามว่า ทองคำหลังจากนี้จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด หลังจากเคยสร้างปรากฏการณ์สูงสุด 30,400 บาทเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่จากนั้นราคาทองคำกลับเคลื่อนไหวในลักษณะทรงตัว ไม่หวือหวาเหมือนช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า และเริ่มมีท่าทีอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (วายแอลจี) แสดงความเห็นต่อราคาทองคำในเดือนกันยายนว่า ราคาทองคำมีทิศทางปรับฐานลงต่อเนื่อง หลังจากราคาพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (30,400 บาท)
ขณะที่เริ่มต้นเดือนกันยายน ราคาทองสปอตลดลงมาอยู่ที่ 1,933.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งมองว่าเป็นการปรับฐานเพื่อรอการปรับขึ้นต่อในช่วงที่เหลือของปี เพราะยังมีโอกาสที่ทองคำสปอตจะปรับขึ้นแตะ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้
“ในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำมีความผันผวนค่อนข้างสูง แต่เป็นการผันผวนขาขึ้น เพราะมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวลง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนอื่นๆ เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้ ปรับตัวลดลงค่อนข้างร้อนแรง ตลาดทองคำจึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น เพราะถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง แม้ในช่วงไวรัสโควิด-19 จะเห็นการลงทุนทองคำเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น สวนทางกับการลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย ที่เน้นการลงทุนระยะยาวก็ตาม โดยกรณีที่ราคาทองคำปรับฐานลงมา มองว่ายังสามารถเข้าซื้อสะสมต่อได้ เพราะมองว่าทองคำยังเป็นทิศทางขาขึ้นมากกว่า”
ทั้งนี้ ในระยะสั้น “วายแอลจี” ให้แนวรับแรกอยู่ที่ 1,950 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือประมาณ 28,800 บาทต่อบาททองคำ ส่วนแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,934 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือประมาณ 28,550 บาทต่อบาททองคำ ส่วนนักลงทุนระยะกลางที่รับความเสี่ยงได้น้อยแนะนำรอซื้อที่ 1,919 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือประมาณ 28,350 บาทต่อบาททองคำ และตั้งจุดขายตัดขาดทุนหากหลุด 1,916 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งแนวรับนี้ถือเป็นกรอบล่างของแนวโน้มราคาทองคำขาขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 15-16 กันยายนนี้ ว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาต่างๆ ที่ทยอยออกมา จะแสดงทรรศนะที่สำคัญว่า แต่ละคนมีมุมมองต่อเป้าหมายเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างไร รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนสิงหาคม การเปิดเผยตัวเลขสำคัญในตลาดแรงงาน ทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงาน และรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงแรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบทิศทางดอลลาร์และราคาทองคำได้ค่อนข้างมาก
ด้าน “สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS แสดงความเห็นถึงทิศทางการลงทุนว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องระมัดระวังนอกจากการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยในช่วงฤดูฝนแล้ว การลงทุนในช่วงนี้มีความผันผวนมากและเป็นภาพของความคาดหวังและ Sentiment เป็นส่วนใหญ่ทำให้มีนักลงทุนระยะสั้น และรายย่อยเข้าตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าความกลัวไวรัสโควิด-19 ที่น้อยลงทำให้หลายฝ่ายมองว่าไตรมาสที่ 2 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว และมาตรการตลอดจนท่าทีของธนาคารที่ยังคงสนับสนุนตลาดการเงินต่อเนื่อง และยังมีความหวังจากวัคซีนที่จะทยอยประกาศผลในเฟสสุดท้ายออกมาอย่างต่อเนื่อง
“เรามองว่าในอีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องของสภาพคล่องที่มีอยู่ในระดับที่สูง และการลงทุนที่ดีนั้นต้องมองถึงปัจจัยพื้นฐานและพัฒนาการของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นการตอบโจทย์การลงทุนมากกว่า” แต่กระนั้น SCBS ยังมองว่า มี 3 แนวโน้มที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนโลกนับจากนี้ ได้แก่
1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเชื่องช้าและเปราะบาง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากไวรัสโควิด-19 ได้สร้างแผลเป็นให้แก่หลายบริษัทที่อาจจะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาวและมีหนี้สินที่สูงขึ้น นอกจากนั้น การการว่างงานจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดน้อยลง
2) มาตรการการเงินการคลังภาครัฐที่ลดลง สัญญาณจากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกเริ่มชัดเจนขึ้นว่าต้องการจะชะลอมาตรการผ่อนคลายลงโดยเฉพาะของสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าคงจะไม่สามารถจะใช้เงินกระตุ้นไปได้เรื่อยๆแบบไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อแนวโน้มดีขึ้นการลดการกระตุ้นก็ต้องลดเช่นกัน เหมือนอย่างตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศถอนมาตรการ QE ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงก็ปรับตัวลงแรงในระยะสั้น
3) ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีการยกระดับความแข็งกร้าวกับจีน เช่น ประกาศจะ Delist หุ้นจีนในสหรัฐฯ หากไม่ทำตามกฎระเบียบทางบัญชีสหรัฐฯ ประกาศแบน Huawei, Tiktok และ WeChat ปิดสถานกงสุลจีนในฮุสตัน ประกาศแบนประธานเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเกาะฮ่องกง และการเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ และ
4) วัคซีน อาจจะทำให้คลายความกังวลในระดับหนึ่งแต่มองว่าอาจจะทำให้การควบคุมได้ดีขึ้นแต่ไม่สามารถจะเอาชนะหรือทำให้โรคนี้หมดไปได้ ดังนั้น มาตรการ Social Distancing, Work Form Home, Online learnings ต่างๆ ที่มีพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้นจะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น จากการที่ราคาทองคำถือว่าเป็นชั้นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่น โดยให้ผลตอบแทน 28% ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ตราสารทุนและตราสารหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียง 3-4% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเข้าใกล้ศูนย์ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้น ส่งผลทำให้ราคาทองคำที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมีเสน่ห์ขึ้นมา โดยในมุมมองของ SCBS ต่อราคาทองคำในปี 2564 นั้นยังคงสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก จากปัยจัยบวกที่ช่วยเข้ามาสนับสนุนคือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มต่ำต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า จากมาตรการกระตุ้นทั้งการเงินและการคลังทั่วโลก รวมถึงท่าทีธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะจีน รัสเซีย และอินเดียที่ยังคงซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเดือน พ.ย.2563 และการเลือกตั้งของฮ่องกงและญี่ปุ่นในปีหน้า
“ในระยะสั้นด้วยราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแรง ส่งผลให้อาจจะมีแนวโน้มย่อตัวในระยะสั้นจากแรงขายทำกำไร การคลายกังวลจากพัฒนาการเชิงบวกของวัคซีน ไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนในระยะสั้น ดังนั้น จึงแนะนำนักลงทุนรอเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวมาอยู่ที่กรอบ 1,800-1,850 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เพื่อให้ตลาดสะท้อนปัจจัยลบและแรงขายในระยะสั้นไปก่อน เพื่อแต้มต่อการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะ SCBS ยังมองว่าราคาทองคำที่ยังเป็นขาขึ้นด้วยเหตุผล 4 ประการข้างต้น น่าจะตอบโจทย์การลงทุนในภาวะที่ตลาดการเงินเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตต่ำในระยะยาว”
นอกจากนี้ มีรายงานว่า ในช่วงนี้ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ ทำให้นักลงทุนยังคงเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้นมีราคาแพงขึ้น และมีความน่าดึงดูดน้อยลง
สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นไม่เพียงเท่านี้ ความแข็งแกร่งของตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ ยังส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐร ายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านตำแหน่งในเดือน ส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.255 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หยุดชะงักไปจากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ไวรัสโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนอัตราการว่างงานเดือน ส.ค. ลดลงสู่ระดับ 8.4% จากระดับ 10.2% ในเดือน ก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 9.8% โดยนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่อัตราว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 10% ทำให้มีคำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ว่ายังมีทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยกดดันราคาทองคำที่ต้องจับตาทั้ง 2 ด้าน โดยปัจจัยที่ต้องจับตาคือดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าจะทำให้ราคาทองเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม โดยมองว่าหากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือแนวรับ 1,902 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ จะปรับฐานไปที่ 1,884 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับถัดไปที่ 1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์