xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ไม่ฟังเสียงท้วงผลลบจะย้อนกลับมาสหรัฐฯ ยังคงตั้งท่าเล่นงานบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน

เผยแพร่:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

SMIC sanctions will hurt non-tech US firms, too
by Scott Foster
09/09/2020

คณะบริหารทรัมป์ตั้งท่าจะแซงก์ชั่น SMIC บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน ทำนองเดียวกับที่เล่นงานหัวเว่ย อย่างไรก็ตาม บริษัทอเมริกันทั้งหลายไม่เพียงเฉพาะด้านไฮเทคหรอก ควรคาดหมายว่าจะต้องประสบความเสียหายในตลาดจีน หนึ่งในตลาดกำไรงามเติบโตไวที่สุดของพวกตน

มีรายงานข่าวคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาว่าจะใส่ชื่อบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corp ใช้อักษรย่อว่า SMIC) เพิ่มเข้าไปในบัญชีรายชื่อกิจการและบุคคล (Entity List) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯหรือไม่ โดยที่กลไกนี้เองที่ได้ถูกใช้มาเป็นเครื่องมือจำกัดสกัดกั้นการส่งออกเทคโนโลยีอเมริกันให้แก่หัวเว่ย

SMIC คือบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน

หาก SMIC ถูกขึ้นบัญชีดำ ก็จะทำให้บริษัทประสบความไม่สะดวกอย่างมากมายมหาศาล และทำให้การขายพวกอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor production equipment หรือ SPE) ของอเมริกันให้แก่จีนยิ่งลดน้อยลงไปอีกเยอะ ดาบพิฆาตอันน่าสะพรึงจึงเหมือนกับกำลังกวัดแกว่งอยู่เหนือราคาหุ้นทั้งของ SMIC และพวกบริษัทอเมริกันที่เป็นผู้ผลิต SPE ชั้นนำอย่างเช่น แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials), แลม รีเสิร์ช (Lam Research), และ เคแอลเอ (KLA)

ในฐานะที่เป็นพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของสงครามทางเศรษฐกิจซึ่งมีเจตนาที่จะทำให้บรรดาอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนต้องพิกลพิการ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ย่อมจะย้ำยืนยันให้แก่รัฐบาลจีน –ถ้าหากยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการย้ำยืนยันใดๆ ต่อไปอีก— ว่า การขจัดฐานะแห่งการต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีอเมริกันให้จงได้ คือความจำเป็นอย่างสุดๆ

ขณะเดียวกัน รูปแบบของการตอบโต้แก้เผ็ดจากฝ่ายจีนก็ดูเหมือนน่าจะบังเกิดขึ้นมาเช่นเดียวกัน มีใครเคยลองคำนวณกันบ้างหรือไม่ถึงมูลค่าต่างๆที่พวกบริษัทอเมริกันกำลังแบกรับกันอยู่ จากการที่ยอดขายในจีนไม่ได้มีการเติบโตขยายตัวต่อไปอีก, ยอดขายในจีนกำลังตกต่ำลง, หรือกระทั่งขายอะไรในจีนไม่ได้เลย? ดังนั้น ไม่เพียงเฉพาะพวกบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้นหรอกที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

สำหรับพวกที่น่าจะได้ประโยชน์จากการแซงก์ชั่นของอเมริกันนั้น มีดังเช่นบรรดาผู้ผลิต SPE ระดับปักหลักลงฐานได้แล้วของฟากญี่ปุ่นและยุโรป ตลอดจนพวกกิจการระดับเริ่มต้นมาได้ไม่นานของทางจีนเอง ซึ่งธรรมดาแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าแข่งขันกับพวกผู้นำตลาด

แม้กระทั่งเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประเภทความจำ ก็ยังไม่สามารถที่จะสร้างอุตสาหกรรม SPE ที่พร้อมแข่งขันกับคนอื่นๆ ขึ้นมาได้สำเร็จ

ผลลบต่อเรื่องการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน

กระนั้นก็ตามที ความกังวลในเฉพาะหน้าที่มองเห็นกัน ได้แก่ผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่จะมีต่อการใช้จ่ายด้านเงินทุนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้วต่างมองกันว่ามันมีผลในทางลบอย่างน้อยที่สุดก็ในระยะสั้นจนถึงระยะกลาง

SEMI สมาคมที่เป็นตัวแทนของกิจการในอุตสาหกรรมการออกแบบด้านอิเล็กทรอนิกส์ (electronics design) และสายโซ่อุปทานด้านโรงงานการผลิต (manufacturing supply chain) ในทั่วโลก กำลังเกิดความตระหนกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม สมาคมแห่งนี้ได้ออกคำแถลงฉบับนี้ ซึ่งระบุเอาไว้ดังนี้:

SEMI ตระหนักถึงบทบาทของมาตรการควบคุมการส่งออกที่มุ่งจัดการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งมีต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เรากำลังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า กฎระเบียบควบคุมการส่งออกฉบับใหม่ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2020 ที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯนั้น ในที่สุดแล้วจะกลายเป็นการบ่อนทำลายผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ด้วยการทำอันตรายต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในหสรัฐฯ และด้วยการสร้างความไม่แน่นอนและการรบกวนอย่างมีสาระสำคัญต่อสายโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์

การตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะขยายข้อจำกัดแต่ฝ่ายเดียวเหล่านี้ออกไปอย่างสำคัญ น่าที่จะนำไปสู่การสูญเสียยอดขายเพิ่มมากขึ้นอีก, กำลังกัดกร่อนฐานลูกค้าสำหรับข้าวของต่างๆ ที่มีแหล่งกำเนิดในสหรัฐฯ ข้อจำกัดใหม่ๆ เหล่านี้ยังจะกลายเป็นเชื้อเพลิงให้แก่ความรับรู้ความเข้าใจที่ว่าอุปทานของเทคโนโลยีสหรัฐฯเป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ และนำพาให้พวกลูกค้าที่ไม่ใช่สหรัฐฯ พากันเรียกร้องต้องการการดีไซน์ชนิดที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ


เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ SMIC ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เซี่ยงไฮ้ สตาร์ (Shanghai STAR market) โดยสามารถระดมเงินได้ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อใช้ในการขยายศักยภาพการผลิตแผ่นเวเฟอร์ประมวลผลขนาด 300 มม. ตลอดจนการอัปเกรดทางเทคโนโลยีเพื่อสนองความต้องการของหัวเว่ยและลูกค้ารายอื่นๆ รวมทั้งเพื่อให้สามารถแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกับ TSMC ตลอดจนโรงงานผลิตชิปชั้นนำรายอื่นๆ

เรื่องเช่นนี้ทั้งมีราคาแพง, กินเวลานาน, และยากลำบาก เทคโนโลยีการประมวลผลที่ก้าวหน้าที่สุดของ SMIC ในเวลานี้คือ 14 นาโนเมตร (หลักเกณฑ์การออกแบบแผงวงจรระดับนาโนเมตร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/5_nm_process และ https://en.wikipedia.org/wiki/14_nm_process) ขณะที่ TSMC ปัจจุบันสามารถผลิตขนาด 7 นาโนเมตรให้แก่ลูกค้าได้อย่างมั่นคง และได้เริ่มการผลิตขนาด 5 นาโนเมตรแบบเป็นปริมาณมากๆ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ของปีนี้ รวมทั้งยังกำลังพัฒนาศักยภาพการผลิตขนาด 3 นาโนเมตร)

SMIC ไม่เพียงใช้อุปกรณ์ผลิตที่ทำโดย แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์, แลม รีเสิร์ช, และ เคแอลเอ แต่ยังต้องพึ่งพาอาศัยพวกเครื่องมือในการออกแบบด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ (electronic design automation หรือ EDA) จาก เมนเทอร์ กราฟฟิกส์ (Mentor Graphics) และ ซินอฟซิส (Synopsys)

ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯสกัดกั้นไม่ให้ SMIC เข้าถึงเทคโนโลยีอเมริกัน ศักยภาพของบริษัทจีนแห่งนี้ในเรื่องการขยายงาน, การอัปเกรดเทคโนโลยี, และแผนการผลิต ก็จะเกิดการสะดุดติดขัดอย่างร้ายแรง

TSMC ได้หยุดรับออร์เดอร์สั่งซื้อจากหัวเว่ยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ขณะที่การจัดส่งอุปกรณ์ซึ่งมีการสั่งซื้อเอาไว้ก่อนมาตรการห้ามจะมีผลบังคับใช้ก็จะยุติลงในวันที่ 14 กันยายน ดังนั้น หากมีการออกมาตรการจำกัดลิดรอนใดๆ กับ SMIC –ซึ่งวาดหวังที่จะเข้าแทนที่ TSMC ในการเป็นซัปพลายเออร์ให้หัวเว่ย— ก็น่าเป็นไปได้ว่าจะบังเกิดผลด้วยความรวดเร็วทำนองเดียวกัน

จีน ถือเป็น 1 ใน 3 ตลาดใหญ่ที่สุดทางด้าน SPE โดยที่อีก 2 ตลาดได้แก่ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ตามข้อมูลจาก SEMI การซื้อหาอุปกรณ์ทำแผ่นเวเฟอร์ชิปของจีนได้เพิ่มปริมาณขึ้นมาเท่าตัวในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งอยู่ในระดับเกือบๆ 25% ของอุปสงค์ความต้องการของทั่วโลก

นี่แหละคือโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐฯดูเหมือนมีเจตนาที่จะโยนทิ้งไป และ SEMI มีความกังวลว่าจะต้องพยายามรักษาเอาไว้

พวกผู้ผลิต SPE รายสำคัญๆ ส่วนใหญ่แล้วต่างมีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันทั้งนั้น ยิ่งพวกบริษัทอเมริกันด้วยแล้วมีการติดต่อค้าขายกับแดนมังกรสูงเป็นพิเศษทีเดียว ข้อจำกัดเรื่องการส่งออกจะไม่ทำให้ยอดขายในจีนของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงไปเสียทั้งหมด แต่มาตรการเหล่านี้มีเจตนาที่จะล็อกพวกเขาเอาไว้ไม่ให้ทำการลงทุนใหม่ๆ ในเรื่องอุปกรณ์ที่ล้ำสมัยเพื่อมุ่งขายตลาดจีน

ตลาดหลักทรัพย์ไม่ชอบภาวะเช่นนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 เมษายน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะบริหารทรัมป์กำลังพิจารณาว่าจะนำเอามาตรการจำกัดสกัดกั้นมาใช้กับ SMIC หรือไม่ พอถึงวันจันทร์ที่ 7 กันยายน ราคาหุ้นของ SMIC ก็ดำดิ่งลงเหวถึง 22.8%

ในวันที่ 8 กันยายน ราคาหุ้นของแอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ ก็ลดลง 5.3%, แลม รีเสิร์ช ไหลรูด 9.1% และ เคแอลเอ หล่นฮวบ 9.8%

เหตุผลความชอบธรรมสำหรับใช้กล่าวอ้างในการแซงก์ชั่นลงโทษ SMIC ถ้าหากมีการบังคับใช้เรื่องนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ว่าบริษัทนี้เป็นผู้ซัปพลายสินค้าให้แก่กองทัพจีน ถึงแม้ SMIC อ้างว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ต้าถัง เทเลคอม (Datang Telecom) รัฐวิสาหกิจจีนที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมทั้งในเชิงพาณิชย์และที่ใช้ในด้านการทหาร คือหนึ่งในผู้ถือหุ้นและหุ้นส่วนธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของ SMIC

ดาบพิฆาตของทรัมป์ดูเหมือนน่าจะยังคงกวัดแกว่งเหนือศีรษะของ SMIC อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในต้นเดือนพฤศจิกายน ถ้าหากว่ามันไม่ฟาดฟันลงมาก่อนหน้านั้น

สกอตต์ ฟอสเตอร์ เป็นนักวิเคราะห์ที่ทำงานอยู่กับ ไลต์สตรีม รีเสิร์ช (Lightstream Research) กรุงโตเกียว
กำลังโหลดความคิดเห็น