xs
xsm
sm
md
lg

“ประธาน 5G หัวเว่ย” โชว์ 4 มูลค่าใหม่ภาคอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานของสายผลิตภัณฑ์ 5G หัวเว่ย “ริทชี่ เผิง” เผยเทคโนโลยี 5G จะสร้างมูลค่าใหม่ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ชี้นอกเหนือจากจะทำให้เกิดการผสานกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เทคโนโลยี 5G ยังขยายการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 4 รูปแบบ

นายริทชี่ เผิง ประธานของสายผลิตภัณฑ์ 5G บริษัท หัวเว่ย กล่าวเปิดงานประชุมออนไลน์ “Better World Summit” ประจำปี พ.ศ.2563 ในหัวข้อ “5G สร้างมูลค่าใหม่แก่ภาคอุตสาหกรรม” ว่าเทคโนโลยี 5G เป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Digitalization) ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานแบบเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เกิดการแบ่งโครงข่ายแบบครบวงจร (End-to-End หรือ E2E) ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพโครงข่ายเพื่อรองรับการนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การประมวลผลคอมพิวเตอร์ และแอปพลิเคชันต่างๆ

“เทคโนโลยี 5G ยังช่วยภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พัฒนาศักยภาพด้านการประหยัดพลังงาน สร้างมูลค่าและอัตราการเติบโตใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น” 

ริทชี่ ระบุว่า นอกเหนือจากจะทำให้เกิดการผสานกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เทคโนโลยี 5G ยังขยายการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การให้บริการโครงข่ายที่หลากหลาย เพราะนอกจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โครงข่าย 5G ยังมอบการเชื่อมต่อที่ดีกว่าให้แก่บ้านเรือนทั่วไปและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น การถ่ายทอดสด (streaming) แบบไร้สายด้วยความคมชัดระดับ HD การสื่อสารทางไกลเพื่อการแพทย์ (telemedicine) การควบคุมทางไกล (remote control) และอุตสาหกรรมการผลิตแบบอัจฉริยะ (smart manufacturing)
 
2.ศักยภาพที่ครอบคลุม ไม่เพียงแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย รวมถึงการดาวน์โหลดข้อมูล โครงข่าย 5G ยังรับรองแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นสำหรับการอัปโหลด การส่งข้อมูลที่มีความหน่วงต่ำ (low-latency) และความเสถียรที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหร้บการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งต่อยอดจากการกำหนดความแม่นยำสูงและศักยภาพใหม่ด้านอื่นๆ
 
3.เทอร์มินัลที่หลากหลาย โดยปัจจุบัน สมาร์ทโฟนทำงานในฐานะเทอร์มินัลหลักสำคัญสำหรับโครงข่าย 3G และ 4G เมื่อเทคโนโลยี 5G เริ่มเข้ามาเป็นจุดศูนย์กลาง จะมีอุปกรณ์หลากหลายชนิดมากขึ้นที่สามารถเข้าถึงโครงข่ายดังกล่าวได้ เช่น อุปกรณ์รับส่งสัญญาณสำหรับผู้บริโภค (CPE) กล้อง ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ (UAVs) เป็นต้น และ 4.มูลค่าการเชื่อมต่อที่มากขึ้น นอกจากการให้ความสำคัญต่อการให้คนและสิ่งต่างๆ เป็นจุดศูนย์กลาง การเชื่อมต่อ 5G จะไม่เพียงแต่มอบประสบการณ์การใช้งานชั้นยอดให้แก่ผู้ใช้ แต่ยังทำให้หลากหลายอุตสาหกรรมสามารถปรับวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานดีขึ้น ทั้งยังมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
งานนี้หัวเว่ย ระบุว่า กลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 3GPP ได้พัฒนาสถาปัตยกรรมการจัดแบ่งโครงข่ายในรูปแบบ E2E (End-to-End) ที่ครอบคลุมทั้งโครงข่ายวิทยุ โครงข่ายหลักและเทอร์มินัลต่างๆ โดยโครงข่ายที่ถูกแบ่งออกนี้สามารถสร้างขึ้น จัดการ และปฏิบัติการบนเครือข่ายเองได้โดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดโครงข่ายเสมือนแบบหลายทางบนโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายเดียวกัน ทั้งนี้ โครงข่ายแต่ละส่วนต่างเป็นโครงข่ายแบบ E2E ที่แยกตัวออกมาอย่างสิ้นเชิงและถูกปรับเปลี่ยนตามความต้องการใช้งานที่หลากหลายสำหรับการนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม
 
ขณะเดียวกัน เอกสารตีพิมพ์ฉบับที่ 15 ของ 3GPP ได้ถูกนำไปใช้งานในเชิงธุรกิจแล้ว โดยให้ความสำคัญต่อบริการต่างๆ ที่ต้องการใช้งานแบนด์วิดท์เป็นอย่างมาก เช่น การถ่ายทอดสดด้วยความคมชัดระดับ HD การสื่อสารทางไกลเพื่อการแพทย์ (telemedicine) และความปลอดภัยสาธารณะ โดยสเปกล่าสุดของ 5G - 3GPP Release 16 จะเสริมศักยภาพของเทคโนโลยี 5G อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น ในด้านแอปพลิเคชันการสื่อสารที่มีความเสถียรระดับสูงและมีความหน่วงต่ำ (URLLC) โดยจะ
ทำให้เกิดแรงผลักดันใหม่ในการพัฒนาแอปพลิเคชันตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานเชิงอุตสาหกรรม เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายเพื่อสร้างการเติบโตในตลาด
 
ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดโดยสมาคมผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือระดับโลก (GSA) มีจำนวนโมดูล 5G 49 โมดูลที่เปิดตัวแล้ว และกว่า 54% ของโมดูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นปี พ.ศ.2563 เนื่องจากจำนวนโมดูลของ 5G ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความหลากหลายของอุปกรณ์ 5G ในตลาดก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (CPE) สำหรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม กล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ 5G (STB) และกล่อง T-Box สำหรับใช้งานในรถเพื่อเป็นเทอร์มินัลปล่อยสัญญาณ 5G
 


ปัจจุบัน อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (CPEs) 5G เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมได้ถูกใช้สนับสนุนการปฏิบัติการทางไกลของเครื่องจักรในท่าเรือต่างๆ ในขณะที่กล้อง 5G ถูกนำไปใช้เพื่อการถ่ายทอดสดภารกิจวัดความสูงของยอดเขาจูมู่หลางหม่า (Qomolangma) ครั้งล่าสุด หรือเป็นที่รู้จักกันในนามยอดเขาเอเวอเรสต์ คาดการณ์ว่า 2-3 ล้านโมดูล 5G จะถูกนำไปวางตลาดในประเทศจีน และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าตลาดขนาดใหญ่จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงเป็นอย่างมาก จึงคาดกันว่าราคาต่อชิ้นจะต่ำถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ.2564 ซึ่งจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมอีกด้วย
ที่สำคัญ เทคโนโลยี 5G ได้มอบโอกาสมหาศาลให้แก่โครงข่ายมือถือ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมแนวดิ่ง (vertical industries) การผสาน 5G กับรูปแบบการใช้งานต่างๆ ในแนวดิ่งส่งผลให้เกิดเรื่องราวของความสำเร็จมากมาย
สำหรับท่าเรืออัจฉริยะ แบนด์วิดท์ระดับสูงและการส่งข้อมูลที่มีค่าความหน่วงต่ำของเทคโนโลยี 5G ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการทำงานของเครน ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบจากการปฏิบัติงานภายในพื้นที่สู่การควบคุมทางไกล และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน การปฏิบัติงานภายในพื้นที่ซึ่งมีผู้ควบคุมเครนได้เพียง 1 ตัวต่อ 1 คนเท่านั้น แต่การควบคุมทางไกลทำให้ควบคุมเครนได้ถึง 4 ตัวพร้อมกัน นอกจากค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงที่ลดลงกว่า 70% แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังเพิ่มศักยภาพการจัดการสินค้าโดยรองรับตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นจาก 25 ตู้เป็น 30 ตู้ต่อชั่วโมง และยังช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มความปลอดภัยจากการลดความเสี่ยงการทำงานให้น้อยที่สุด

เทคโนโลยี 5G ยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยโมดูล 5G มีศักยภาพรองรับจำนวนการเชื่อมต่อมากกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 50 เท่า ในขณะที่ใช้พลังงานในปริมาณที่เท่ากัน จึงมีประสิทธิภาพของพลังงานต่อบิทเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า

เทคโนโลยี 5G ช่วยให้การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการให้บริการด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี 5G ทำให้เกิดบริการด้านการให้คำปรึกษาทางไกล จึงลดจำนวนคนไข้ที่ต้องไปพบแพทย์ด้วยตัวเองแต่ไม่ได้ลดจำนวนของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหรือทำให้คุณภาพการวินิจฉัยต่ำลง และด้วยจำนวนการเดินทางที่ลดลง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการเดินทางมาพบแพทย์แบบวิธีเดิมจึงลดลงถึง 99.6%

งานนี้นายเผิง ชี้ให้เห็นความสำคัญของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของโครงข่าย 5G ที่ได้ขยายขอบเขตการใช้งานไปสู่อุตสาหกรรมแนวดิ่งหลากหลายรูปแบบ เช่น โครงข่าย TDD ซึ่งเดิมถูกนำมาใช้เพื่อเสริมโครงข่ายมือถือคุณภาพสูง (eMBB) ช่วยเสริมความเร็วในการดาวน์โหลดมากกว่าการอัปโหลด อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้งานแบนด์วิดท์ระดับสูงที่ต้องการความหน่วงต่ำอันเกิดจากการที่ 5G ขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรมได้

เพื่อรับมือกับปัญหานี้ หัวเว่ยพร้อมด้วยกลุ่มพันธมิตรในอุตสาหกรรมได้เปิดตัวนวัตกรรมโซลูชัน Super Uplink โดยโซลูชันแบบ E2E นี้ได้ใช้งานคลื่น TDD และ FDD เข้ามาเสริมการทำงานของการอัปโหลด ในขณะที่ลดค่าความหน่วง จนถึงปัจจุบัน นวัตกรรมนี้ได้ปรับเปลี่ยนทั้งการเชื่อมต่อกับคลื่นวิทยุและโครงข่ายหลัก ซึ่งจากการตรวจสอบที่จัดทำบนโครงข่ายที่ใช้งานจริงแสดงให้เห็นว่านวัตกรรมนี้ทำให้ค่าความหน่วงลดลงกว่า 30% ในขณะที่ความเร็วของการอัปโหลดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อผสมกับแถบคลื่นความถี่ของการอัปโหลดที่เต็มรูปแบบ ระบบ TDD จะทำให้สามารถส่งต่อประสบการณ์การอัปโหลดด้วยความเร็วระดับกิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ได้

นอกเหนือจากการให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี นายเผิง ยังเสนอให้ภาคอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยกันค้นหาโมเดลธุรกิจ มาตรฐานต่างๆ การสนับสนุนเชิงนโยบาย นวัตกรรมด้านแอปพลิเคชัน และความหลากหลายของอุปกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ๆ ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น