xs
xsm
sm
md
lg

"กัลยา" ชี้โลกหลัง “โควิด-19” หากปรับตัวเร็วเรียนรู้เทคโลยีใหม่จะอยู่รอด แนะรัฐสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้ทุกคนเข้าถึงได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กัลยา รุ่งวิจิตรชัย
"กัลยา" ชี้โลกหลัง “โควิด-19” หากปรับตัวเร็วเรียนรู้เทคโลยีใหม่จะอยู่รอด แนะรัฐสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้ทุกคนเข้าถึงได้ "นักวิชาการ" มองการเปลี่ยนแปลงมาเร็วกว่าเดิม 10 ปีต้องสร้างรากฐานจากชุมชนให้อยู่ได้ ต้องปรับตัวขายออนไลน์-สร้างสตอรี่มากขึ้น

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เวลา 13.30 น. ที่โรงแรม เดอะคาวาลี รีสอร์ท พระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานสัมมนา “เทคโนโลยีโลกยุคหลัง COVID-19 ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด” โดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัยส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า หากเรามองถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื่อได้ว่าทุกคนคงจะรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านการดำรงชีวิต การรักษาสุขภาพ รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งหลังจากนี้คือการดำรงชีวิตประจำวันหลังจากที่วิกฤตโควิด ได้ผ่านไปแล้ว แน่นอนว่าการใช้ชีวิตของเราจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นงานสัมมนาในวันนี้หวังว่าจะได้เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ต้องยอมรับว่าได้เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต ตั้งแต่การกิน การนอน การเล่น การทำงาน ซึ่งเราทุกคนหนีไม่พ้นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รู้ถึงความเป็นไป และเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้อยู่รอดอย่างมีความสุขหลังวิกฤตโควิดฯ

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า การทำงานหลายๆต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การขายของและการสั่งอาหารออนไลน์ การชำระเงินออนไลน์ การทำงานแบบ Work from Home การดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยี และความบันเทิงผ่านออนไลน์ ซึ่งรูปแบบการทำงานต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัล ดังนั้นวันนี้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะรัฐบาล กระทรวงต่างๆ ภาคเอกชน ฝ่ายรัฐสภา รวมทั้งประชาชนที่ จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยจะต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งปัจจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โทรคมนาคม ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถนำมาใช้โดยเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

“วันนี้หากใครปรับตัวได้เร็ว พยายามเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆอยู่เสมอ จะสามารถอยู่รอดได้ หากเราเตรียมความพร้อมได้เร็วในเรื่องเทคโนโลยี ด้านดิจิทัล โทรคมนาคม นอกจากจะเป็นผลดีกับตัวเราและธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังจะส่งผลหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเราฟื้นตัวได้เร็วด้วย” ประธาน กมธ.ดีอีเอส ระบุ


น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีต่างๆได้ คือ โครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ต้องให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่ไม่แพงและครอบคลุมทุกพื้นที่ โลกของเราหลังจากนี้รูปแบบการทำงานจะไม่กลับไปเป็นเหมือนในภาวะปกติอีกต่อไป แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสอดแทรกเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงาน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมอีกได้ต่อไป ดังนั้นเราจึงควรต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 อย่างยั่งยืน

จากนั้นเข้าสู่ช่วงการสัมมนา โดย นายเจษฎา ศิวรักษ์ ที่ปรึกษา กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด ทำให้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปทั้งๆที่ควรจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่วันนี้กลับมาเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัวมาก ชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวันไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ลักษณะการทำงานเปลี่ยน จากเดิมทำงานที่ออฟฟิศ แต่วันนี้เราต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ การกระจายตัวการใช้ระบบไอที จากก่อนวิกฤตโควิดการใช้งานส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง แต่หลังจากล็อกดาวน์แล้วมีการกระจายตัวสู่พื้นที่ต่างๆมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป ทั้งการเรียน การทำธุรกิจ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะกลายเป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะมีมิจฉาชีพ อาชญากรรม เครือข่ายการพนันและยาเสพติดที่ใช้ช่องทางนี้ในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งทางตำรวจหรือผู้เกี่ยวข้องเองก็ต้องเร่งพัฒนาการติดตาม ตรวจสอบ ป้องกันและกวาดล้างด้วยเช่นกัน


นายเจษฎา กล่าวอีกว่า ระบบเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาเราคุ้นชินกับเรื่องการส่งออก แต่จากวิกฤตโควิด การค้าระหว่างประเทศหายและจะกลับมาได้เมื่อไรก็ไม่รู้ เลยจะเกิดความคิดใหม่ ทำอย่างไรให้เกิดการกระตุ้น สร้างผลิตภัณท์และสิ่งใหม่ๆในชุมชน แต่ในเรื่องดิจิทัลที่ชุมชนยังเข้าไม่ถึง เช่น อินเตอร์เน็ต ดังนั้นเราควรสร้างเครือข่ายชุมชน ไปสอนให้ผู้สูงอายุให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ใช้ระบบการแจ้งข่าวสารและลงทะเบียนต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนสามารถใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

ด้าน นายนิรุตม์ จีนอยู่ ที่ปรึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และการสร้างปัญญาประดิษฐ์ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาถือว่าเราโชคดีที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการใช้เทคโนโลยีกันบ้างอยู่แล้ว เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ทำให้การปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆไม่ได้ยากมากนัก วันนี้โควิดไม่ได้ไกลตัวเรา แต่ถือว่าใกล้ตัวเรามากๆ และเราเริ่มที่จะคุ้นชิน วันนี้เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยมีกลุ่มอาสาสมัคร เช่น อสม. ที่จะสามารถเป็นสื่อกลางเข้าไปสอนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆกับผู้สูงอายุตามชุมชนได้ นอกจากนี้ทุกวันนี้เรามีการขายของและทำธุรกิจผ่านออนไลน์ ตนเองก็หวังว่าในอนาคตเราจะมีการปรับตัวขายของต่างๆที่เป็นของดีของชุมชน ขายของออนไลน์ มีบริการเดลิเวอร์รีและการขนส่ง สร้างเรื่องราวให้กับชุมชนหรือร้านค้าของเรา ตนเชื่อว่าคนไทยเราปรับตัวเก่ง จะสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากช่องทางต่างๆที่เรามีตรงนี้ได้.




กำลังโหลดความคิดเห็น