สมาคมผู้ใช้ดิจิทัล ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการนำทักษะดิจิทัลมาใช้งาน หลังพบแรงงานเชี่ยวชาญดิจิทัล ยังขาดแคลนหนัก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ทำพิษเอกชนตื่นตัวขายของออนไลน์ ผนึกกำลังกระทรวงดิจิทัลฯ เฟ้นหานักการตลาดยุคใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย
กัลยา แสวงหาบุญ เลขาธิการสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA) กล่าวว่า หลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการตลาดดิจิทัลได้รับความสนใจจากองค์กรเอกชนอย่างมาก แต่ด้วยความที่บุคลากรด้านนี้ยังมีน้อยในไทย การจัดโครงการ U Power: Digital Idea Challenge ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิสิตนักศึกษาที่เรียน หรือสนใจด้านนี้ได้ทดลองทำงานจริง โดยได้ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
“ที่ผ่านมาจากสถิติคนไทยใช้เวลาในโลกออนไลน์เยอะมาก จึงเป็นตลาดใหญ่ ที่เราพยายามใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ สังคมภายในประเทศ เพราะแบรนด์ใหญ่ๆ มีความต้องการไอเดียจากคนรุ่นใหม่ เนื่อง จากการตลาดออนไลน์ยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าวัยรุ่น ซึ่งการจะขายสินค้าให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ควรจะใช้ไอเดียจากคนรุ่นเดียวกันในการทำการตลาด เพื่อสื่อสารแบรนด์ได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งแนวทางการประกวดแผนการตลาดออนไลน์ น้องๆ จะต้องมีสัดส่วนการทำการตลาดออนไลน์ 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการตลาดแบบออฟไลน์”
จากการจัดโครงการนี้เป็นปีที่ 4 ทำให้เห็นว่า แผนการตลาดควรจะต้องมีตัวชี้วัดด้านดิจิทัล จึงได้ร่วม มือกับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ในการให้โจทย์น้องๆ ที่แต่ละทีมเมื่อเข้ามาในรอบสุดท้าย จะได้รับทุนทีมละ 20,000 บาท ในการทำแผนการตลาด ซึ่งนอกจากจะได้ทำงานจริงแล้ว คณะกรรมการในรอบสุดท้ายก็จะมีตัวชี้วัดจากยอดขาย และการนำไปใช้ได้จริงของผลงานเพื่อประกอบการตัดสิน
เพราะหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายแบรนด์ ตื่นตัวในการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งวิกฤติโควิดเป็นส่วนที่กระตุ้นให้ต้องมีการทำงานด้านการตลาดออนไลน์ ที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และมีแนว โน้มว่า เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ แต่ละบริษัทจะต้องทำการตลาดแบบออนไลน์กับออฟไลน์ ให้เป็นไปอย่างสอด คล้องกลมกลืนกันมากขึ้น
แต่สิ่งที่ไทยยังขาดตอนนี้คือ ทุนทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะการขาดบุคลากรด้านวิศวกร Data Analytics หรือบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Big Data สิ่งนี้ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ หากขาดบุคลากรที่จะมาพัฒนาธุรกิจสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาบุคลากร ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในอนาคต
เนื่องจากการตลาดดิจิทัลในอนาคต ไม่ใช่แค่การทำคอนเทนต์ ให้ผู้บริโภครับรู้ผ่านอินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก แต่จะต้องวิเคราะห์ Data Analytics ได้ เพราะในโลกดิจิทัล หากเราวิเคราะห์ข้อมูลไม่ได้ เท่ากับว่าเราต้องสูญเสียเงินมหาศาลในการทำการตลาดแบบหว่านแห
ที่สำคัญการจะพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ ผู้ประกอบการต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ก็มีการยื่นข้อเสนอว่า ต้องการแรงงานที่พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านดิจิทัลในทุกด้าน 500,000 คน ภายใน 3 ปีข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามเร่งสร้างบุคลากรเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อรองรับกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
ปิยนุช วุฒิสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ได้สะท้อนถึงสิ่งที่หน่วยงานพยายามขับเคลื่อนบุคลากรด้านอุดมศึกษา ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงานในอนาคตเกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทันทางสังคม
ดังเช่นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ๆ เทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงแนวทางการป้องกัน และยังมีการผลิตสื่อที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันได้อย่างรอบด้าน ซึ่งน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีความตั้งใจ และแสวงหาความรู้นอกห้องเรียน โครงการนี้จึงเป็นอีกสนามที่จะผลิตบุคลากรด้านการตลาดดิจิทัลในยุคใหม่ ที่จะมาพัฒนาประเทศต่อไป
เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมองว่า ความรู้ด้านดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปสู่อีกแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ที่ผ่านมาถือเป็นตัวบังคับให้หลายๆ องค์กรธุรกิจต้องทำการตลาดออนไลน์อย่างลึกซึ้งกว่าที่ผ่านมา
“ในสถาบันอุดมศึกษาก็มีการปรับตัวในการส่งเสริมการเรียน และการประเมินผลผ่านรูปแบบออนไลน์มากขึ้น โครงการนี้ถือเป็นอีกสนามที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับน้องๆ ได้เรียนรู้จากเจ้าของแบรนด์จริงๆ”