xs
xsm
sm
md
lg

ไอแทป-สวทช.เครือข่าย มทส. ยกระดับนวัตกรรมเครื่องปั้นดินเผา "โคราชแสงสุวรรณ" รับมือการค้ายุค2020

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ารทำธุรกิจในยุค 2020 ที่จะมาถึง ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้เจอแค่คู่แข่งที่พัฒนาได้เท่าเทียม หรือ ดีกว่า แต่เจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดโควิด-19 ส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ยอดขายที่ลดลง ทำให้ต้องปรับตัวทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านการผลิต ซึ่งวันนี้ ตัวอย่างของผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่มีการปรับตัวจากเดิมใช้แค่ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สืบทอดต่อๆ กันมา จนมาถึงวันนี้ ได้มีการปรับโดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาปรับใช้จนกลาย เป็นโรงงานนวัตกรรมเครื่องปั้นดินเผา รายแรกของประเทศไทย

วันนี้ เรากำลังพูดถึง ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาในโคราช ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยโรงงานเครื่องปั้นดินเผาโคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอรี่ ได้รับการสนับสนุนด้านการผลิต มากถึง 5 โครงการ จนเกิดเป็นโรงงานนวัตกรรมเครื่องปั้นดินเผา

โดยการปรับปรุงและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมในครั้งนี้ รองรับการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมดิน การปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งเปลี่ยนจากอบแห้งผึ่งลมธรรมชาติเป็นเตาอบเชิงอุตสาหกรรม และการปรับปรุงการเผาจากเตาฟืนมาเป็นแก๊ส การผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเซรามิกที่ทันสมัยได้อย่างลงตัว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแก้ปัญหาได้ตรงจุด และรวดเร็ว เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช.
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม SME มักจะเติบโตได้ช้า ด้วยความไม่พร้อมในหลายด้าน ดังนั้น การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด จะช่วยเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทย์ส่วนใหญ่ที่ SME ไทยต้องการการสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยแก้ปัญหา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด

น.ส.ทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่
ด้านผู้ประกอบการ น.ส.ทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ กล่าวว่า “โคราช แสงสุวรรณ” เริ่มจากทำเป็นอาชีพเสริม โดยจัดหาสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาให้ตัวแทนที่รับไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง เมื่อเห็นแนวโน้มธุรกิจไปได้ดี จึงได้สร้างโรงงานเพื่อที่ทำการส่งออกเอง ในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ช่วงแรกการทำธุรกิจให้ความสำคัญกับการตลาด คือหาลูกค้า ออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศทุกปี เป็นเวลา 20 ปี จนในปี 2559 จึงพบว่า เรามีความมั่นคงด้านการตลาดมากพอที่จะมองถึงก้าวต่อไป คือ การพัฒนาด้านการผลิต และเนื่องจากผู้บริหารทั้งหมดจบด้านบริหารธุรกิจ จึงต้องการที่ปรึกษาในด้านการผลิต มีการหาข้อมูล และติดต่อไปที่ สวทช. จนนำมาสู่การขอรับสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส.

โดยโครงการที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การเตรียมวัตถุดิบ (ดิน) การอบชิ้นงาน และการเผาชิ้นงาน ทำให้บริษัทมีความรู้ในด้านการผลิตที่ถูกต้อง ถือเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับก้าวต่อ ๆ ไปของบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะหากจะวัดผลตอบรับทางการตลาดจากการพัฒนานวัตกรรมแล้ว สามารถแบ่งได้ 2 ส่วน ภายใน คือ พนักงาน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับองค์กรในอนาคต และภายนอก คือ ลูกค้า การที่ลูกค้าได้มาเห็นการพัฒนานวัตกรรมของบริษัท ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในองค์กร นำสู่การพูดคุยเพื่อนำนวัตกรรมไปพัฒนาสินค้าในหลายรายการ

กรรมการผู้จัดการ หจก. โคราชแสงสุวรรณฯ กล่าวต่อว่า “อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผายังสามารถเติบโตไปได้อีกมาก เพราะเป็นสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่นำไปตกแต่งสวน จนถึงการนำไปใส่ตู้โชว์ ขณะที่ตลาดในต่างประเทศ ยังเป็นที่สนใจของลูกค้าจำนวนมาก ด้วยเอกลักษณ์ของงานทำมือ ที่สามารถสร้างความแตกต่างในด้านการตลาด และยังสร้างความยืดหยุ่นในแง่การผลิตได้ดีอีกด้วย”

ผศ.ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
ด้านผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. ผศ.ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า ITAP เครือข่าย มทส. ให้ความช่วยเหลือ หจก.โคราชแสงสุวรรณฯ ในด้านเป็นตัวกลางประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ จากการสนับสนุนด้วยการให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินโครงการ พบว่า ผลสำเร็จของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเปลี่ยนกระบวนการเผาจากเตาฟืนเป็นเตาแก๊ส มีของเสียลดลงอย่าชัดเจน จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 5 คิดเป็นปริมาณของเสียที่ลดลงถึงร้อยละ 83 รวมถึงลดเวลาเผาลงได้ร้อยละ 57 จากเดิมใช้เวลา 7 วัน เหลือเพียง 3 วัน ขณะที่ผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ด่านเกวียนโดยเปลี่ยนกระบวนการอบแห้งจากการผึ่งลมตามธรรมชาติเป็นเตาอบเชิงอุตสาหกรรม พบว่า ลดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมมี 10 - 20 % (ขึ้นกับฤดูและสภาพอากาศ) เหลือเพียงน้อยกว่า 0.2 % และยังลดเวลาอบแห้งได้มากกว่าร้อยละ 50 จาก 14 วัน เหลือเพียง 4 - 5 วัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับคำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในหลายด้าน ทั้งการก่อสร้าง การใช้งาน การควบคุมเตาอบ ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีแก้ปัญหาและวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับก้าวต่อไปจะเป็นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยยังคงเอกลักษณ์ของชุมชมดั้งเดิมเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งขนาดใหญ่แต่มีราคาไม่สูงมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็กลงแต่มีมูลค่าที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้วางแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชมให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนหนึ่งมาจากช่างในชุมชนด่านเกวียน การพัฒนาและให้ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างในท้องถิ่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญ ITAP เครือข่าย มทส. กล่าว


ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากโปรแกรม ITAP สวทช. ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยแล้วมากกว่า 10,000 โครงการ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย พร้อมช่วยสนับสนุน SME ไทยในการปรับตัวสู่ยุค New Normal สามารถติดต่อเข้าใช้บริการ ITAP สวทช. ได้ทุกเครือข่ายทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ ข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ itap.nstda.or.th หรือโทร. 0 2564 7000 ต่อ ITAP (ไอแทป)


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น