“เศรษฐพงค์” ผุดไอเดีย “Smart Parliament” อำนวยความสะดวก “ส.ส.-ส.ว.-ปชช.” ชี้แอปเดียวจบรองรับทั้งการทำงาน-การท่องเที่ยว ข้อมูลครบพร้อมระบบนำทางแผนที่ 3D แนะบูรณาการระบบไอทีรัฐสภา-ช่วยความปลอดภัยไซเบอร์
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงแนวคิดการพัฒนาระบบบริการเทคโนโลยีสารสนเทศอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (Smart Parliament) ว่า วันนี้เทคโนโลยีของโลกก้าวหน้าไปไกลมาก และรัฐสภาไทยก์ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ดังนั้น เราจะต้องมีการพัฒนาระบบให้เป็น Smart Paliament เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งการในการทำงานของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงบุคคลทั่วไปซึ่งจะสามารถลดภาระและทรัพยากรที่จะใช้ได้ โดยอาจจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของรัฐสภาขึ้นมา โดยมีส่วนที่เป็นแผนที่แบบ 3 มิตินำทางในรัฐสภา ให้ข้อมูลว่าห้องประชุมและห้องของหน่วยงานต่างๆ อยู่ตรงไหนบ้าง โดยสามารถใช้แอปฯ นี้ เช็กได้ว่าแต่ละห้องมีวาระการประชุมอะไรบ้าง เพราะคนที่เข้ามาครั้งแรกส่วนใหญ่จะหลง เพราะรัฐสภามีพื้นที่ใหญ่มาก ดังนั้นเราจึงต้องมีการทำแผนที่แบบ 3 มิติ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำทางในพื้นที่ซึ่งจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการนำทางให้ง่ายและแม่นยำ รวมทั้งมีระบบการยืนยันตัวตน เชื่อมกับระบบของสภาทั้งหมด คนที่จะเข้ามาสามารถยิงคิวอาร์โค้ดเช็กอินได้
“แอปฯ จะอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้แก่สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งประชาชน เช็กได้ทุกอย่างทั้งวาระ เวลา สถานที่ เนื้อหาข้อมูลต่างๆ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เกี่ยวกับการทำงานของสมาชิกรัฐสภาจะมีรองรับหมด พร้อมระบบนำทางแผนที่แบบ 3 มิติ เรียกได้ว่าออกจากบ้านเปิดดูแอปนี้ก็จะรู้ทันทีว่าวันนี้ต้องทำงานตรงไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้นเรื่องนี้ควรที่จะมีการทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วไปพร้อมๆ กับที่อาคารรัฐสภาจะสร้างเสร็จสมบูรณ์” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวอีกว่า นอกจากจะมีในส่วนที่รองรับการทำงานของสมาชิกรัฐสภาแล้ว ยังมีส่วนการใช้งานที่รองรับประชาชนทั่วไปหรือที่จะเข้าผู้มาติดต่อราชการด้วย โดยในส่วนของ ส.ส.และ ส.ว.หรือเจ้าหน้าที่จะมีรหัสล็อกอินเพื่อเข้าดูข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด ส่วนคนทั่วไปหรือคนที่ไม่มีรหัสล็อกอิน ก็จะดูข้อมูลได้ในส่วนที่ไม่เป็นความลับ สามารถดูข้อมูลของรัฐสภาต่างๆ ได้ เช่น ประวัติความเป็นมา แนวคิดของการสร้างรัฐสภา ข้อมูลข่าวสารต่างๆ การประชุมสภา การประชุม กมธ.คณะต่างๆ ที่เป็นข่าวแบบเป็นทางการจากทางรัฐสภา ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ นี้ยังคงต้องคัดสรรเป็นอย่างดี เพราะพื้นที่ของรัฐสภากว้างมาก นอกจากนี้ เรายังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นสถานที่ให้ประชาชนและชาวต่างชาติเข้าเยี่ยมชมได้ เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพราะรัฐสภามีทั้งประติมากรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ เหมือนกับที่หลายๆ ประเทศได้ทำเช่นกัน
“วันนี้โลกพัฒนาไปไกล เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด การทำงานในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก รวมทั้งการเกิดวิกฤตที่เราไม่ได้คาดคิด ดังนั้น ระบบต่างๆ ต้องรองรับการทำงานของสมาชิกได้ทุกที่ รวมทั้งอาจจะต้องมีระบบที่สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ทั้งนี้ระบบนั้นจะต้องมีการลงทุนที่คุ้มค่า งานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ได้ และจะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ให้ถูกแฮกเกอร์เจาะได้โดยง่าย” พ.อ.เศรษฐพงค์ระบุ