“กมธ.ดีอีเอส” ห่วงกรณีค่ายมือถือโดนแฮกข้อมูล แนะรัฐสภาให้ความสำคัญ “Cyber security” ชี้สภาต้องมีระบบประชุม-เก็บข้อมูลที่ปลอดภัย ป้องกันข้อมูลรั่วส่งผลกระทบร้ายแรงได้ “นักวิชาการ” หนุนสภาใช้ระบบ-เก็บข้อมูลในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นใจ “เศรษฐพงค์” แนะตรวจสอบระบบไอทีสภาเพื่ออัพเกรดให้ดี-รัดกุมที่สุด
วันนี้ (15 มิ.ย.) น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงกรณีมีค่ายมือถือรายหนึ่งถูกแฮกเกอร์เจาะเข้าถึงข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกค้าว่า กมธ.ได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ จึงได้กำชับผู้เกี่ยวข้องให้เข้มข้นในการวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber security) ซึ่ง กมธ.ดีอีเอสได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะระบบไอทีของรัฐสภาที่ขณะนี้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของเรากำลังอยู่ในขั้นตอนก่อสร้างและวางระบบไอทีที่จะต้องรองรับการประชุมสภา ประชุม กมธ. และประชุมหน่วยงานต่างๆ ของรัฐสภา รวมทั้งการเก็บข้อมูลการประชุม ที่มีระดับชั้นความลับอยู่
“รัฐสภาจึงต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้สนับสนุนการประชุม การเก็บข้อมูลที่ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และจะทำให้เกิดความมั่นใจกับสมาชิกรัฐสภา รวมถึงข้าราชการ หรือพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการของรัฐสภา” น.ส.กัลยาระบุ
ประธาน กมธ.ดิอีเอสกล่าวด้วยว่า ข้อมูลของรัฐสภามีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องข้อมูลสมาชิก ข้อมูลการประชุม ซึ่งขอมูลเหล่านี้หากอยู่ในชั้นความลับจะรั่วไหลไม่ได้ เพราะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ เราเห็นว่ารัฐสภาควรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่อง Cyber security ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีเมื่อเราเห็นความเสี่ยงตรงนี้ ก็ไม่อยากให้รัฐสภาประมาท เพราะรัฐสภาถือเป็นศูนย์อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ หากถูกแฮกหรือมีข้อมูลรั่วจะส่งผลกระทบร้ายแรงตามมาได้
ด้านนายนนทวัตต์ สาระมาน นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) ให้สัมภาษณ์ว่า ในยุคนี้เราจะมองข้ามความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลมีความสำคัญมากที่หน่วยงานจะต้องรักษาและควบคุมให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะเกิดปัญหา Cyber security เช่น การประชุมออนไลน์ที่เราใช้ๆ กันอยู่นี้ ส่วนใหญ่ข้อมูลไปอยู่ในต่างประเทศหมดเนื่องจากมันเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้เกิด Big data ของต่างประเทศ แทนที่จะทำให้ Big data อยู่ในประเทศไทย สร้างความฉลาดทางข้อมูลให้อยู่ในไทย เช่นเดียวกันกับของรัฐสภาจะมีความปลอดภัยได้อย่างไร หากรัฐสภาจะเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการประชุมทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ซึ่งการประชุมมีหลายระดับทั้งเปิดเผย และประชุมลับ หากเรายังใช้แพลตฟอร์มต่างชาติคิดว่าไม่ควร การประชุมลับหรือเรื่องสำคัญของประเทศควรจะตั้งฐานข้อมูลอยู่ในไทย หรือสนับสนุนแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นในไทย อย่างน้อยข้อมูลอยู่ในไทย ระบบที่ทำอยู่ในไทย ยังคุยกันง่ายกว่าหากเกิดปัญหา หรือมีข้อมูลรั่วไหลเราก็จะรู้ต้นต่อได้ ตรงนี้ต้องเป็นการตระหนักของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ต้องรู้ว่ามีความเสี่ยง มีความอันตรายอยู่หากไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ซึ่งกรณีตัวอย่าง ที่น่าสนใจคือการที่มีผู้ให้บริการค่ายมือถือรายหนึ่งทำข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกค้ารั่วไหล ตรงนี้ก็เป็นกรณีศึกษาให้กับระบบของรัฐสภา เพราะมีข้อมูลบางอย่างที่รัฐสภาเปิดสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้ จึงจำเป็นที่จะต้องดูความเสี่ยงในการเปิดสาธารณะด้วย และที่สำคัญคือระบบการรักษาความปลอดภัย จะต้องรัดกุมไม่ให้เกิดการแฮกข้อมูลได้
ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายในประเทศไทย ต้องตระหนักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การรักษาข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เทคโนโลยีดิจิทัลคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้ามาทำงานในรัฐสภาฐานะ ส.ส. จึงอยากชี้ให้ฝ่ายรัฐสภาได้เห็นความสำคัญเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยอยากให้มีการตรวจสอบระบบไอทีของรัฐสภาให้ชัดเจนแน่นอนว่าเราได้มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีพอแล้วหรือยัง เพราะขนาดผู้ให้บริการค่ายมือถือที่มีระบบป้องกันดีเยี่ยม ยังถูกเจาะข้อมูลได้
“หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะศูนย์รวมอำนาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา จำเป็นจะต้องมีระบบ Cyber security ที่ดีและรัดกุมที่สุด” พ.อ.เศรษฐพงค์ระบุ