รอยเตอร์ - วัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งร่วมมือพัฒนากับเอกชน อาจพร้อมใช้งานในช่วงปลายปีนี้ แต่ยังไม่แน่นอน 100% จากการเปิดเผยในวันอังคาร (21 ก.ค.)
จากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (20 ก.ค.) ระบุว่า ผลการทดลองทางคลินิกเบื้องต้นของวัคซีน เอแซดดี1222 (AZD1222) ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทยาแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ รักษาความหวังว่ามันอาจพร้อมใช้ในช่วงสิ้นปี 2020
วัคซีน AZD1222 ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงร้ายแรงใดๆ รวมทั้งเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อต้านและทำลายไวรัส และภูมิคุ้มกัน T-cells ที่โจมตีไวรัส จากผลการทดลองที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet
ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้พัฒนาวัคซีน เปิดเผยกับสถานีวิทยุบีบีซีในวันอังคาร (21 ก.ค.) ว่า “ช่วงปลายปีคือเป้าหมายสำหรับการมีวัคซีนพร้อมใช้งาน มันมีความเป็นไปได้ แต่แน่นอนว่ายังมีความไม่แน่นอน เพราะเราจำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขอีก 3 ประการ”
เธอบอกว่ามันจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าได้ผลในการทดลองขั้นท้าย, จำเป็นต้องมีการผลิตปริมาณมาก และคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบจำเป็นต้องออกใบอนุญาตอย่างรวดเร็วสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ก่อนคนจำนวนมากจะสามารถเข้าถึงวัคซีน
คริส วิทตี ประธานเจ้าหน้าที่แพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ และ โจนาธาน แวน-แทม รองประธานฯ มีมุมมองต่างกันต่อกรอบเวลาดังกล่าว
“โอกาสที่จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงก่อนคริสต์มาส ในมุมองของผม ผมคิดว่าค่อนข้างต่ำมาก” วิทตี บอกกับสมาชิกรัฐสภา แต่ทาง แวน-แทม บอกว่า “เขามีมุมมองแง่บวกอย่างระมัดระวัง ว่าเราจะมีวัคซีนบางตัวในช่วงราวๆ คริสต์มาส”
เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของออกซ์ฟอร์ดคาดการณ์ว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่พวกเขาพัฒนา จำนวน 1 ล้านโดส อาจพร้อมใช้งานจริงในเดือนกันยายน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ดร.เอเดรียน ฮิลล์ ผู้อำนวยการสถาบัน เจนเนอร์ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ยอมรับว่า พวกเขาประเมินต่ำเกินไป แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะพร้อมใช้งานภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ แม้ในข้อตกลงกับแอสตราเซเนกา สามารถช่วยให้ผลิตวัคซีนได้ในปริมาณที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่ด้วยการแพร่ระบาดในระดับต่ำของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสหราชอาณาจักร ได้ก่อความยุ่งยากซับซ้อนแก่กระบวนการพิสูจน์ประสิทธิภาพของวัคซีน