‘บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์’ หรือ NRF ผู้ผลิตและส่งออกอาหารและเครื่องปรุงรสชั้นนำ เตรียมขาย IPO จำนวนไม่เกิน 340 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้านผู้บริหารโชว์วิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้ผลิตอาหารระดับชั้นนำของโลกและเป็นบริษัทแรกของไทยที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำ Plant-Based Food ด้วยนโยบายการเป็น The Purpose-Led Company หรือบริษัทที่ขับเคลื่อนองค์กรและแบรนด์ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นตัวเลือกรายแรกๆ ในการผลิตสินค้าแก่บริษัทอาหาร (สำเร็จรูป) ในระดับสากล
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและขีดความสามารถขยายธุรกิจ รองรับการก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตอาหารในระดับสากล และเป็นบริษัทที่มีรูปแบบพร้อมรองรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติบโตสูงในอนาคต (Platform for Future Food)
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายระยะยาวก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมอาหารเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ด้วยนโยบายการเป็น The Purpose - Led Company เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทฯ อย่างก้าวกระโดด ให้มียอดขายเพิ่มขึ้นให้ได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 ภายใต้กลยุทธ์การเจาะตลาดอาหารกลุ่ม Specialty Food ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและมีอัตราการเติบโตสูง โดย NRF จะให้ความสำคัญในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารไทยและอาหารท้องถิ่น (Ethnic Food) ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food) และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน (Functional Products)
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า แผนดำเนินงานระยะสั้นและระยะกลางของ NRF ประกอบด้วย 1.) ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยลงทุนซื้อโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับเดียวกับบริษัทฯ 2.) ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ V-Shape ทั้งในผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและไม่ใช่อาหาร ส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยจากสถานการณ์ COVID-19 NRF ได้เริ่มผลิตเจลล้างมือแบบพกพาในบรรจุภัณฑ์ V-Shapes และมีแผนขยายต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญากับ Fluid Energy Group LTD ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บริการเครื่องจักร V-shape สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ Sanitization เพื่อการจำหน่ายในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในตะวันออกกลาง
3.) เพิ่มกำลังการผลิตเส้นบุก รองรับความต้องการของตลาดอาหารสุขภาพที่เติบโต หลังจากผลิตภัณฑ์เส้นบุกในรูปแบบเส้นเปล่าและแบบพร้อมรับประทานของบริษัทฯ ได้แก่ บุกรสผัดไทย บุกรสแกงเขียวหวาน บุกรสต้มยำ บุกรสเจแปนนีส หรือบุกรสมารินารา ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค อีกทั้งจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เส้นบุกที่ผลิตในประเทศจีนลดลง และมองหาแหล่งผู้ผลิตเส้นบุกจากประเทศอื่น ดังนั้น ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทฯ รายหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของสินค้าประเภทเส้นบุกได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในการรับจ้างผลิตระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากบุกประมาณ 15 ล้านหน่วย
และ 4.) เร่งกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชผ่านการร่วมทุนกับ THE BRECKS COMPANY LIMITED หรือ ‘เบรคส์’ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 27 ปีในธุรกิจผลิตอาหารโปรตีนจากพืช โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ Plant and Bean Ltd. ที่ประเทศอังกฤษ รับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืชให้กับบริษัทอาหารชั้นนำของโลก ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเพิ่มกำลังการผลิต จากปัจจุบันประมาณ 3,000 ตัน ให้เป็น 36,000 ตัน ภายในปี 2564 รองรับการเติบโตของความต้องการของลูกค้า และมีแผนการขยายการผลิตไปยังสหรัฐอเมริกาในอนาคต รวมถึงยังเป็นพันธมิตรกับ Meatless Farm ในประเทศอังกฤษ ผู้ผลิตอาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม โปรตีนจากข้าวและถั่ว รวมถึงหัวไช้เท้า ที่ทดแทนรสชาติ การสัมผัสเหมือนกินเนื้อสัตว์จริง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับ Meatless Farm ในประเทศไทยภูมิภาคเอเชียในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมลงทุนใน Big Idea Venture และกองทุนนิวโปรตีนขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนแบบ Accelerator ที่ให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืชพร้อมทั้งคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีเป้าหมายการลงทุนประมาณ 100 สตาร์ทอัพ ภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันลงทุนแล้วประมาณ 27 สตาร์ทอัพ มากกว่าครึ่งหนึ่งของสตาร์ทอัพเหล่านั้นมียอดขายแล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีทางธุรกิจกับสตาร์ทอัพด้านอาหาร (Food Tech Startups) และเป็นการสร้างโอกาสให้กับบริษัทฯ ได้เป็นผู้ผลิตให้กับธุรกิจเหล่านี้ในอนาคตระยะยาว โดยบริษัทฯ ได้รับสิทธิในการเป็น Preferred Co-packer ให้กับสตาร์ทอัพเหล่านี้อีกด้วย การเข้าลงทุนดังกล่าวยังทำให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริษัทได้ในภายภาคหน้าเพื่อการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด NRF ได้เข้าลงทุนใน Phuture Food Limited (“Phuture”) หนึ่งในสตาร์ทอัพด้าน Food Tech ในทวีปเอเชียที่ได้รับความสนใจจากบริษัทลงทุนระดับโลก มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูสับเทียมที่ผลิตจากโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นหลัก โดยลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและโอกาสในการเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับ Phuture หลังผลิตภัณฑ์พร้อมออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อรองรับการผลิตให้กับสตาร์ทอัพและลูกค้า Plant-based food นอกเหนือจากการร่วมลงทุนในโรงงานผลิต plant-based food ที่ประเทศอังกฤษแล้ว บริษัทฯ มีแผนสร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแห่งใหม่ในประเทศไทย (Plant-based dedicated manufacturing facilities) โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ Plant-based ประมาณร้อยละ 30-40 ในปี 2567
นอกจากนี้มีแผนการลงทุนสร้าง NRF Global E-commerce Platform ร่วมกับ Boosted ECommerce Inc. (Boosted) เพื่อร่วมกันเข้าลงทุนในธุรกิจ branded e-commerce (Consumer Package Brands: CPG) ของ Third-party Seller ที่มียอดขายบน Amazon E-commerce marketplace และมีผลกำไรแล้ว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูง (Third-party seller หมายถึง ผู้ขายสินค้าบน Amazon.com ที่ไม่ใช่บริษัท Amazon.com Inc.) โดยภายหลังจากการลงทุนบริษัทฯ จะร่วมกับ Boosted ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่เข้าลงทุนให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุง Supply Chain, การขยายขนาดธุรกิจ Scalability เป็นต้น เพื่อขยายธุรกิจออนไลน์ และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กระจายเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่ามีโอกาสในการเติบโตมาก โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในไตรมาส 2 ปี 2563 Third-party seller มียอดขายคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 53 ของยอดขายของ Amazon ทั้งหมด (เม.ย.-มิ.ย. 2563 Amazon มีรายได้ 88.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท)
Boosted เป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนไปแล้วประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจและแบรนด์ e-commerce ที่หลากหลาย (Diversified) ประมาณ 100 แบรนด์ เพื่อสร้างบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกในอนาคต (The Modern Procter & Gamble) ภายในระยะเวลา 4 ปี และมีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ปัจจุบัน Boosted มีการเริ่มลงทุนไปแล้วประมาณ 6 แบรนด์และอยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนในแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติมในหลากหลายธุรกิจ โดยบริษัทฯ ร่วมลงทุนใน Boosted 2 รูปแบบ คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Boosted สำหรับลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะโดยบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และการร่วมลงทุนใน Boosted Ecommerce Inc ซึ่งลงทุนในธุรกิจ E-commerce ประเภทอื่นๆ
นายธีระพงษ์ ลอรัชวี กรรมการและกรรมการผู้จัดการ NRF กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรสชั้นนำ และอาหารโปรตีนจากพืช โดยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 SKU และกว่า 500 สูตรอาหาร ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.) กลุ่ม Ethnic Food (OEM / Private Label และ NRF Brands) แบ่งเป็น 1.1 ผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM / Private Label) ประกอบด้วย เครื่องประกอบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (Ready-to-cook) อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) และเครื่องดื่มชนิดผงพร้อมชงและพร้อมดื่ม รวมถึงอาหารอุ่นไมโครเวฟ เช่น ข้าวหรืออาหารประเภทเส้นพร้อมแกงหรือซอสในรูปแบบต่างๆ ในบรรจุภัณฑ์ที่เข้าไมโครเวฟได้ทันที และ 1.2 ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ จำนวน 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงต้มยำและเครื่องปรุงแกง ภายใต้แบรนด์ พ่อขวัญ เครื่องปรุงอาหารที่เน้นรสชาติแบบเอเชีย แบรนด์ Lee Brand อาหารสำเร็จรูป ในบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมนำเข้าเตาไมโครเวฟและรับประทานได้ทันที เช่น ข้าวราดแกง ผัดไทย แบรนด์ Thai Delight เครื่องปรุงรสอาหารและซุปกึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ Shanggie เครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ แบรนด์ DeDe และเครื่องปรุงรสอาหารและพริกในรูปแบบขนมขบเคี้ยว แบรนด์ Sabzu
2.) กลุ่ม Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยนำโปรตีนจากพืชมาผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติ ปรุงแต่งให้มีรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ ซึ่งใช้วัตถุดิบเกรดพรีเมียม คัดสรรคุณภาพดี และใส่ใจต่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค เช่น เนื้อเทียมจากขนุนและมะเขือม่วง เส้นชิราตากิ หรือเส้นบุกในรสชาติต่างๆ ปัจจุบันบริษัทฯ มีเงินลงทุนในธุรกิจ Plant-based food แล้วประมาณ 250 ล้านบาท และวางแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 400 ล้านบาทเพื่อลงทุนในฐานการผลิตในและนอกประเทศ รวมถึงการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต plant-based food เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต และ 3.) กลุ่ม Functional Products ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shapes) เช่น ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานง่าย มอบความสะดวกสบาย และคุณภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้งาน ในอนาคตบริษัทฯ อยู่ระหว่างการขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล
ปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานการผลิตจำนวน 2 โรงงาน ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงงานสำหรับผลิตเส้น และโรงงานสำหรับการผลิตซอสและเครื่องปรุง นอกจากนี้ ได้เข้าลงทุนหุ้นสามัญของบริษัท ซิตี้ฟูด จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดราชบุรี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกลุ่ม Ethnic Food และ Plant-Based Food และยังมีแผนเข้าซื้อหุ้นอีกร้อยละ 85 ภายในปี 2563 เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมรองรับการเติบโตในระยะสั้นต่อไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตในมาตรฐานสากล ได้แก่ IFS BRC GMP HACCP สะท้อนถึงความปลอดภัย และมอบความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการ Carbon Footprint เมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยมุ่งหวังที่จะเป็นองค์กร Zero Carbon และปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับประกาศนียบัตรจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อแสดงว่าบริษัทฯ เป็นองค์กรปราศจากคาร์บอน หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตอาหารภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับประกาศนียบัตร
นางสาวเพ็ญอุไร ไชยชัชวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน NRF กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 603.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41.1 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 517.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16.3 ล้านบาท ผลจากการลงทุนขยายฐานการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มากขึ้น อีกทั้งเติบโตจากปัจจัยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาด ทั้งอเมริกา ยุโรป โอเชียเนีย และเอเชีย รวมถึงบริหารต้นทุนการผลิตและการดำเนินการที่ดีขึ้น ประกอบกับเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape)
ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป บริษัทฯ มีแผนจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระเงินกู้ยืมระยะยาวทั้งหมด ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถลดภาระดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ สามารถนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไปใช้ในการลงทุนขยายกิจการตามโครงการในอนาคตที่บริษัทฯ วางระยะยาวไว้ถึงปี 2565 อีกด้วย (ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจปกติซึ่งเกิดจากการซื้อกิจการและ/หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ค่าตัดจำหน่ายที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ และดอกเบี้ยเงินกู้จากการเข้าซื้อกิจการ 63.6 ล้านบาท)
นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต.ได้อนุมัติแบบไฟลิ่งของ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ เป็นที่เรียบร้อย โดย NRF ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตสูงจากการได้เปรียบทางการแข่งขันที่เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรายแรกของไทยที่เตรียมความพร้อมด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านอาหารเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต รวมทั้งมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายจากโรงงานทั้งในและต่างประเทศที่มีมาตรฐานในกระบวนการผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกระจายเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 25 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น และยังมีแผนขยายธุรกิจ branded e-commerce ซึ่งเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งซึ่งถูกผลักดันด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นการสั่งซื้อของผ่านออนไลน์ รวมถึงการที่บริษัทฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคเองโดยตรง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ เข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคปลายทางอย่างแท้จริง โดยสามารถนำมาใช้สำหรับการวิเคราะห์เชิงการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
ทั้งนี้ NRF มีทุนจดทะเบียน 1,421,040,400 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,421,040,400 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 1,065,780,300 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 1,065,780,300 หุ้น โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 340 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.08 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยแบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิม คือ บริษัท ดีพีเอ ฟันด์ เอส จำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น ซึ่งภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระเงินกู้ยืม ลงทุนโครงการในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะนำ NRF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 นี้