สเปซ-เอฟ โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหารแห่งแรกของโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จัด “เดโม เดย์” โชว์ความพร้อมของสตาร์ทอัพฟู้ดเทคทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติในโครงการ ก้าวสู่ธุรกิจอาหารเต็มตัวให้กับกลุ่มนักลงทุน
สตาร์ทอัพในโปรแกรม Accelerator สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเร่งการเติบโต จำนวน 7 บริษัท ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และแนวคิดต่างๆ ให้กับนักลงทุนจากสถาบันการเงิน บริษัทเอกชน ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย กว่า 70 ชีวิตภายในงาน โดยผลิตภัณฑ์และแนวคิดของสตาร์ทอัพนั้นได้ที่ได้พัฒนา ปรับปรุงและ ต่อยอดในระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เข้ากับตลาดและลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
สตาร์ทอัพทั้ง 7 บริษัทยังกล่าวด้วยว่ามีความพร้อมที่จะยกระดับและเติบโตขึ้นในเชิงธุรกิจ ภายหลังจากเข้าร่วมโปรแกรมเร่งการเติบโตของโครงการ สเปซ-เอฟ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เข้มข้นออกแบบสำหรับสตาร์ทอัพฟู้ดเทค โดยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันความท้าทายด้านอาหารได้เกิดขึ้นทั่วโลก จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ความต้องการอาหารมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ โครงการ SPACE-F จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่ตั้งของตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีความหลากหลาย และมีห่วงโซ่อาหารที่กว้างขวางและครอบคลุมทั่วโลก ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม และความร่วมมือสนับสนุนจากหลายภาคส่วน จะสามารถทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหาร (FoodTech) ได้อย่างเหมาะสม และจะช่วยแก้ปัญหา และพร้อมรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติยังมีกลไกสนับสนุนสตาร์ทอัพในโครงการต่อไป เช่น การขอ SMART Visa สำหรับชาวต่างชาติ, การขอบัตรสนับสนุนจาก BOI, และถ้าเป็นบริษัทไทย ก็สามารถขอรับเงินทุนสำหรับทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ได้”
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการสเปซ-เอฟ เกิดขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศให้กับแวดวงเทคโนโลยีอาหาร นอกจากจะสนับสนุนให้สตาร์ทอัพได้เติบโตและประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจให้ได้แล้ว โครงการนี้จึงเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจับมือกันส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าต่อไป และ ไทยยูเนี่ยน ในฐานะหนึ่งในผู้นำผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก เรามุ่งมั่นพัฒนาในด้านนวัตกรรมมาโดยตลอด เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมคือหัวใจหลักของความสำเร็จในอนาคต เราจึงใช้นวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์และมีความตระหนักเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นด้วย”
ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลหนึ่งใน Co-Founder ของโครงการ สเปซ-เอฟ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยฯ ยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จของโครงการ และยินดีสนับสนุนโครงการสเปซ-เอฟ ให้มีการขยายความร่วมมือจากที่คณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มไว้ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงของสตาร์ทอัพในระบบนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) ยิ่งขึ้น”
สเปซ-เอฟ เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพในด้านต่อไปนี้ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ (health and wellness), โปรตีนทางเลือก (alternative proteins), กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (smart manufacturing), บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (packaging solution), ส่วนผสมและอาหารใหม่ (novel food and ingredients), วัสดุชีวภาพและสารเคมี (biomaterial and chemical), เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (restaurant tech), การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (food safety and quality) และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร (smart food services) และเป็นโครงการที่เปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพ โดยผู้ก่อตั้งโครงการจะไม่ถือหุ้นใดๆ ทำให้สตาร์ทอัพครอบครองแนวคิดและผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์