(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Huawei sanctions will destroy US chip industry
By DAVID P. GOLDMAN
04/09/2020
ความพยายามของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้ามปราบสกัดกั้นไม่ให้จีนสามารถซื้อหาพวกชิประดับไฮ-เอนด์ทำในสหรัฐฯหรือมีการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีใดๆ ของอเมริกัน ในที่สุดแล้วกลับจะสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายอเมริกันมากกว่าจีน
เดือนหน้า คณะผู้นำจีนจะอนุมัติรับรองแผนการที่มุ่งจะทำให้จีนมีฐานะครอบงำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกภายในปี 2025 เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯในการจำกัดขัดขวางไม่ให้จีนสามารถนำเข้าชิปคอมพิวเตอร์ระดับไฮ-เอนด์ ซึ่งผลิตออกมาโดยมีอุปกรณ์อเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
บรรดากฎระเบียบใหม่ๆ ของสหรัฐฯซึ่งเผยแพร่ออกมาในเดือนกรกฎาคม มุ่งหมายที่จะเล่นงานบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีนอย่าง หัวเว่ย และ แซดทีอี และก็บังเกิดผลสามารถหยุดยั้งหัวเว่ยไม่ให้อาศัยพวกโรงงานผลิตชิป (fabricator) สุดล้ำทันสมัยของไต้หวัน มาทำชิปต่างๆ ที่ทางหัวเว่ยออกแบบขึ้นมาภายในเครือบริษัทของตนเอง
ชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแกนกลางของยุคดิจิตอล เป็นเรื่องสำคัญลำดับสูงสุดเรื่องหนึ่งในแผนการระยะห้าปีมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่จีนกำลังจะเสนอออกมา เพื่อกระโจนแซงหน้าสหรัฐฯ ทั้งนี้ความริเริ่มใหม่ๆ ของฝ่ายจีนตามแผนการนี้ มีอาทิเช่น:
**การว่าจ้างวิศวกรจำนวนเป็นพันๆ คนที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชิปของไต้หวัน ให้มาทำงานบนแผ่นดินใหญ่ โดยจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้อีกเท่าตัว
**การจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการวิจัยกลุ่มใหม่กับรัสเซีย ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยที่มีจำนวนวิศวกรสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในแต่ละปีมากกว่าสหรัฐฯเสียอีก
**โปรแกรมจำเป็นเร่งด่วนที่ไมมีการระบุยอดงบประมาณ เพื่อเพิ่มทวียกระดับการผลิตชิปเทคโนโลยีสุดล้ำภายในประเทศจีน
**สายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่จะไม่มีการใช้อุปกรณ์อเมริกันเลย
สมาคมอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ (US Semiconductor Manufacturing Association) เคยเตือนเอาไว้ในบันทึกช่วยจำลงวันที่ 14 กรกฎาคมส่งถึงกระทรวงพาณิชย์อเมริกันว่า มาตรการจำกัดต่างๆ ที่ขัดขวางการจำหน่ายชิปให้จีนนั้น จะกลายเป็นการอุดปากอุดจมูกทำให้พวกบริษัทอเมริกันต้องขาดรายได้ รวมทั้งบังคับให้พวกเขาต้องลดการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา
“มากกว่า 73% ของชิปอเมริกัน เป็นสิ่งที่สามารถทดแทนได้ด้วยพวกตัวเลือกจากต่างประเทศซึ่งมีให้ใช้ได้พรักพร้อมอยู่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามที่รายงานกันเอาไว้ จะกลายเป็นการจำกัดหรือกระทั่งการกำจัดตัดรอน – ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติด้วยเมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาต่างๆ ของตลาด— ความสามารถของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (อเมริกัน) ในการจำหน่ายเข้าไปในจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดและที่กำลังเติบโตขยายตัวของเรา โดยที่มองจากยอดรวมแล้วมีขนาดเท่ากับเกือบๆ หนึ่งในสามของยอดขาย (ของเรา)
“ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ จึงน่าจะลดทอนรายได้ของอุตสาหกรรมนี้ในสหรัฐฯ ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องเป็นการลดทอนความสามารถของเราในการลงทุนทางด้านการวิจัยที่จำเป็นเพื่อธำรงรักษาความเป็นผู้นำตลาดเอาไว้ ... การจำกัดอย่างกว้างขวางมากเหลือเกินจะลดทอนรายได้ของสหรัฐฯลงไป 37% และนำไปสู่การที่ส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯก็จะต้องลดลงไป 18% รวมทั้งการลดต่ำลงไปในด้านการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา”
จีนนำเข้าชิปคอมพิวเตอร์เป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และความพยายามของจีนในการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศขึ้นมาจวบจนถึงเวลานี้บังเกิดผลเพียงแค่พอไปได้เท่านั้น แต่สภาพเช่นนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อจีนรุกใหญ่ช่วงชิงเอาวิศวกรมาจากไต้หวัน ที่เป็นศูนย์กลางด้านการผลิตชิปของโลกอย่างปราศจากข้อโต้แย้ง
บริษัทจีนแห่งต่างๆ ได้ว่าจ้างพวกวิศวกรด้านชิปชาวไต้หวันเอาไว้แล้ว 3,000 คนนับถึงตอนสิ้นปีที่แล้ว ทั้งนี้ตามรายงานจากหลายๆ แหล่ง ตอนต้นปีนี้ จีนก็ดึงดูดเอาวิศวกรระดับท็อปของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing) ไปได้ 100 คน และสื่อไต้หวันรายงานว่าพวกนักจัดหาลูกจ้างพนักงานระดับสูง ต่างกำลังระดมทำงานว่าจ้างให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่อย่างคึกคักห้าวหาญ
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯหลายรายบอกว่า การว่าจ้างบุคลากรที่เป็นผู้ทำงานตัวหลักอยู่แล้วเช่นนี้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างรวดเร็ว “เทคโนโลยีการประมวลผล (process technology) เป็นสิ่งที่มีความประณีตซับซ้อนจริงๆ ในเซมิคอนดักเตอร์” อดีตหัวหน้าของโรงงานทำชิปสหรัฐฯรายใหญ่ผู้หนึ่งกล่าวให้ความเห็น โดยขอให้สงวนนาม “มันต้องใช้เวลานานสำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสายการผลิต คุณจึงต้องว่าจ้างคนที่เคยทำงานอย่างนั้นอยู่ก่อนแล้ว”
เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation ใช้อักษรย่อว่า SMIC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน สามารถผลิตชิปที่มีความกว้างของทรานซิสเตอร์เกต (transistor gate) ขนาด 14 นาโนเมตร ซึ่งเพียงพอที่จะให้กำลังแก่พวกสถานีฐาน 5จี (5G base station) ตลอดจนพวกสมาร์ตโฟนหัวเว่ยระดับโลว์-เอนด์ มีเพียง ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง และ ซัมซุง ของเกาหลีใต้ เท่านั้น ซึ่งสามารถผลิตชิปขนาด 7 นานาเมตร ที่ใช้ในพวกโทรศัพท์ตัวท็อปของหัวเว่ยได้
แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมนี้หลายรายเคยเปิดเผยเอาไว้ก่อนหน้านี้ในปีนี้ว่า ซัมซุงนั้นได้เคยสร้างสายการผลิตทดลองขึ้นมาเพื่อที่จะทำชิป 7 นาโนเมตรโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์สหรัฐฯเลย แต่ยังไม่ปรากฏว่ายักษ์ใหญ่เกาหลีรายนี้ได้ทำความตกลงที่จะผลิตชิปให้แก่หัวเว่ย
ตรงกันข้าม หัวเว่ยมีแผนการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองขึ้นมา ทั้งนี้ตามข้อมูลที่พูดกันในบล็อกเทคและกระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ภาษาจีนหลายๆ ราย โดยที่โครงการโรงงานผลิตชิป “ต้าซาน” (Tashan) ของหัวเว่ย กลายเป็นข่าวรั่วไหลออกมาเป็นครั้งแรกโดย “เผิง เผิง จิว์น” (Peng Peng Jun) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://xueqiu.com/7770740323/156632740) บล็อกเกอร์เว่ยปั๋ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม
เมื่อไม่สามารถที่จะอาศัยโรงงานในไต้หวันเพื่อผลิตชิปตามการดีไซน์ชิปของตนเองได้ สืบเนื่องจากมาตรการจำกัดสกัดกั้นของสหรัฐฯในเรื่องการขายเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีส่วนใช้อุปกรณ์สหรัฐฯในการผลิต หัวเว่ยจึงกำลังสร้างโรงงานของตนเองขึ้นมาโดยที่ใช้สายการผลิตซึ่งไม่มีอุปกรณ์อเมริกันใดๆ
มีรายงานว่า “ต้าซาน” จะผลิตชิปขนาด 45 นาโนเมตรซึ่งเป็นรุ่นเก่ากว่าและประสิทธิผลต่ำกว่า เพื่อใช้เป็นตัวให้พลังแก่พวกคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป, สถานีฐาน 5จี, และเครื่องมืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ได้เรียกร้องต้องการชิปขนาดเล็กจิ๋วๆ ระดับเดียวกับเครื่องสมาร์ตโฟน อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าหัวเว่ยเป็นผู้คอยสร้างเซอร์ไพรซ์ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ
เมื่อเดือนเมษายน 2018 คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งห้ามขายชิปของบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) ให้แก่ แซดทีอี เพื่อตอบโต้การที่บริษัทจีนแห่งนี้ละเมิดคำสั่งแซงก์ชั่งอิหร่านของอเมริกัน ปรากฏว่ามันทำให้แซดทีอีถึงขั้นต้องปิดตัวลงในทางเป็นจริง รวมทั้งหุ้นของบริษัทก็ถูกสั่งพักการซื้อขายในตลาดหุ้น
หลังจากแซดทีอีตกลงยินยอมจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลและให้ฝ่ายอเมริกันส่งคนเข้ามาตรวจสอบติดตาม บริษัทจึงได้รับอนุญาตให้ซื้อชิปสหรัฐฯได้ใหม่อีกครั้ง แต่แล้วในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง หัวเว่ยก็ได้เปิดตัวชิปเซต “คิริน” (Kirin) ของตนเองออกมา ซึ่งมีดีไซน์ที่สามารถแข่งขันได้และในบางจุดถึงขนาดเหนือกว่าชิปเซตซึ่งควอลคอมม์เสนอให้ได้เสียด้วยซ้ำ
ศักยภาพใหม่ของจีนในการออกแบบชิประดับท็อป ดังเช่น คิริน และชิปเซต “แอสเซนด์” (Ascend) สำหรับใช้ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence server) ปรากฏพรวดออกมาแบบสร้างเซอร์ไพรซ์ให้วอชิงตัน พอถึงเดือนธันวาคม 2019 ทำเนียบขาวก็เตรียมการเพื่อเล่นงานหัวเว่ย โดยสั่งห้ามขายชิปทั้งหลายที่มีคอนเทนต์เทคโนโลยีสหรัฐฯ
พวกผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อเมริกัน ด้วยความสนับสนุนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เจรจาหารือกับคณะบริหารทรัมป์ขอให้ระงับความเคลื่อนไหวดังกล่าว ด้วยเหตุผลข้อโต้แย้งแบบเดียวกับที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ให้ไว้ในบันทึกช่วยจำฉบับวันที่ 12 สิงหาคมของทางสมาคม เนื้อหาโดยสรุปก็คือ การห้ามจีนซื้อชิปไฮ-เอนด์สหรัฐฯ จะสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมชิปอเมริกันมากกว่าจีน
แหล่งข่าวหลายรายในอุตสาหรกรมเซมิคอนดักเตอร์ทำนายว่า ด้วยการที่จีนเทงบประมาณแบบไม่จำกัดในทางเป็นจริงให้แก่เรื่องการผลิตชิป และการเข้าถึงบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถอย่างดีเลิศของไต้หวัน พวกเขาจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์นี้ได้อย่างรวดเร็วกว่าที่วอชิงตันคาดการณ์เอาไว้
มีโอกาสความเป็นไปได้ที่หัวเว่ยจะสามารถผลิตชิปเซตคิรินที่มีขนาด 7 นาโนเมตรซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำในเวลานี้ ขึ้นมาภายในประเทศจีนโดยไม่มีการใช้อุปกรณ์สหรัฐฯใดๆ ได้ก่อนสิ้นปี 2021
จากการประมาณการหลายๆ ทางของแวดวงอุตสาหกรรมนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าหัวเว่ยมีการเก็บชิปเซตที่ผลิตขึ้นในไต้หวันเพื่อใช้กับพวกสมาร์ตโฟนระดับไฮ-เอนด์ของตน เอาไว้ในคลังเก็บเป็นจำนวนมากเพียงพอเพื่อการใช้ไปได้ 1 ปี และดังนั้นจึงอาจจะยังคงสามารถขายสมาร์ตโฟนตัวท็อปอย่างรุ่น เมต 40 ได้ต่อไปโดยไม่ขาดตอน จนกระทั่งศักยภาพการผลิตภายในจีนเองทยอยออกมาได้แล้ว
เวลาเดียวกัน หัวเว่ยกำลังขยายการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาของตนออกไปอีก โดยที่น่าจับตามองคือในรัสเซีย ซึ่งบริษัทกำลังไปสร้างระบบบรอดแบนด์ 5จี ระดับชาติให้ประเทศนั้นอยู่
เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย พูดเอาไว้เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมว่า “หลังจากสหรัฐฯใส่ชื่อของเราเข้าไปในบัญชีรายชื่อกิจการและบุคคลที่จะถูกแซงก์ชั่น (Entity List) เราก็ได้โยกย้ายการลงทุนของเราในสหรัฐฯไปยังรัสเซีย, เพิ่มการลงทุนในรัสเซีย, ขยายทีมนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและเพิ่มเงินเดือนของพวกนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย” ทั้งนี้ตามข้อความในเพจ วีแชต (Wechat) ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University)