ศุภาลัยฯ มั่นใจยอดขายทั้งปีตามเป้า 26,000 ล้านบาท รับอานิสงส์ครึ่งปีหลังโหมเปิดทั้งโครงการแนวราบและคอนโดฯ พร้อมปรับพอร์ตเปิดเพิ่มแนวราบรวม 27 โครงการ เปิดโปรเจกต์พรีเมียมราคากว่า 10 ล้านบาท หวังดันแชร์เบียดคู่แข่ง ลุ้นรายได้ 24,000 ล้านบาท เผยมีโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ช่วงที่เหลือมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท แนะปลด LTV หนุนลูกค้ากลับคืนมาได้ 10% ยกเลิกเพดานราคาบ้านรับสิทธิภาษีการโอนฯ หนุนภาคอสังหาฯ
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงว่า ผู้เข้ามาเยี่ยมชมโครงการทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับภาวะปกติ เนื่องจากผู้ที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยมีเวลาในการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ตัวเลขยอดเยี่ยมชมโครงการสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทศุภาลัยฯ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการแนวราบมีอัตราการเติบโตเป็นบวก ยกเว้นโครงการในจังหวัดภูเก็ต ลูกค้ารายได้หายไป เนื่องจากพอร์ตลูกค้าของโครงการศุภาลัยฯ ในภูเก็ต กว่า 30% จะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงแรม ส่งผลให้เกิดการชะลอโอนกรรมสิทธิ์นับสิบราย ทำให้ต้องกระตุ้นผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดรับต่อภาพรวมในด้านความต้องการของตลาดแนวราบ (ดีมานด์) ทางบริษัทได้ปรับเพิ่มการเปิดโครงการแนวราบจาก 25 โครงการ เป็น 27 โครงการ ในกรุงเทพฯ 1 โครงการ และในภูมิภาคอีก 1 โครงการ และในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ จะมีการเปิดขายโครงการบ้านเดี่ยวครั้งแรกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ส่วนกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม คาดจะเปิดใหม่ 3-4 โครงการ จากเป้าเดิม 5 โครงการ โดยจะพิจารณาถึงสภาพตลาดและโอกาสที่เหมาะสม หากจะเปิดโครงการคอนโดฯ แห่งที่ 4 โดยในเดือนกันยายนนี้ จะเปิดขายโครงการ "ศุภาลัย พรีเมียร์ สี่พระยา-สามย่าน" จำนวน 384 ยูนิต ขนาดพื้นที่เริ่มต้น 41 ตารางเมตร (ตร.ม.) ราคา 3.69 ล้านบาท หรือเฉลี่อยู่ที่ 85,000 บาทต่อ ตร.ม.ไม่ถึงแสนต่อ ตร.ม.
"โครงการแนวราบปีนี้ดีอยู่แล้ว ตัวเลขยอดขายในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมกับในภูมิภาค เทียบปีต่อปีขยับเป็นบวก บางจังหวัดยอดขายแนวราบโตกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าสัดส่วนรายได้แนวราบทั้งปีกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้ากลุ่มคอนโดฯ เป็นไปตามสภาวะตลาดที่ชะลอตัวลง หรือในบางโลเกชัน เช่น พัทยา คอนโดฯ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ พฤติกรรมของลูกค้าบางคนก็สนใจสินค้าคอนโดฯ แต่ก็หยุดไปช่วงที่เกิดการระบาด และหากในระยะอันสั้น ถ้าไวรัสคลี่คลาย หรือมีวัคซีนที่เชื่อถือได้ ดีมานด์ในกลุ่มคอนโดฯ ดีดกลับมาดีขึ้นกว่าปัจจุบัน เหตุผลที่เชื่อเช่นนั้น เราจะเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ลดและไม่เปิดโครงการคอนโดฯ และในปี 63 บริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่ชะลอลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการแนวสูงในปี 64 มีน้อยลงมาก ยกเว้นจะหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการแนวราบ นั่นแปลว่า คอนโดฯ ปีหน้า ยังชะลอต่อเนื่อง"
ในส่วนของภาพรวมผลประกอบการในปี 63 คาดว่าครึ่งปีหลังจะเปิดโครงการทั้งโครงการแนวราบและคอนโดฯ เยอะ จะผลักดันให้ยอดขายจะเข้าเป้าที่ 26,000 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) สามารถทำได้แล้ว 12,000 ล้านบาท ซึ่งยอดขายที่จะผลักดันให้ได้ตามเป้า มีทั้งโครงการคอนโดฯ ที่เปิดไปก่อนหน้านี้ เช่น โครงการศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ ใกล้ Interchange บางหว้า ประมาณ 70% ราคาขายเริ่มต้น 1.99 ล้านบาท และโครงการใหม่ สำหรับรายได้วางเป้าไว้ที่ 24,000 ล้านบาท คาดว่าในครึ่งปีหลังจะเริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ คิดเป็นมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท และหากในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อห้องชุดสามารถโอนได้เร็ว ก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มรายได้ของคอนโดฯ โดยในครึ่งแรกของปี 63 รายได้แนวราบทั้งประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และบ้านแฝด มีสัดส่วน 80% อีก 20% มาจากสินค้าคอนโดฯ
"มาร์เกตแชร์แนวราบของศุภาลัยมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ ตอนนี้ยอดขายเราอยู่อันดับที่ 3 และ 4 จากเดิมเคยอยู่อันดับ 6 ซึ่งราคาขายในกลุ่มแนวราบในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 4 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่ส่วนแบ่งตลาดบ้านเดี่ยวจะขยับไปเพิ่มแชร์จากคู่แข่ง เนื่องจากเราจะมีการเปิดโครงการระดับพรีเมียม ระดับราคา 10 ล้านบาทมากขึ้น ล่าสุด เตรียมเปิดโครงการ ศุภาลัย พรีมา วิลล่า ปิ่นเกล้า-พุทธมณฑล สาย 2 บ้านเดี่ยว 2 ชั้น บนขนาดที่ดิน 100 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 233 ตร.ม.ขึ้นไป ราคาตั้งแต่ 12.9-27.9 ล้านบาท รวมถึงมีแผนเปิดแบรนด์ใหม่ รูปแบบบ้านเดี่ยว ระดับ 4-6 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้"
นายไตรเตชะ กล่าวเสนอถึงแนวทางในการส่งเสริมตลาดอสังหาฯ ว่า ตอนนี้ยอดโอนกรรมสิทธิ์เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าและติดตาม โดยเฉพาะในกลุ่มของอาชีพการโรงแรม อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสายการบิน ที่ทางศุภาลัยไม่สามารถทิ้งลูกค้ากลุ่มนี้ได้ โดยมีการช่วยเหลือและผ่อนปรนลูกค้า แต่พบว่าแนวโน้มการโอนอาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งจากสถาบันการเงินยังคงดูแลในการปล่อยสินเชื่อ และเกิดปัญหาจากกลุ่มลูกค้าที่ขอยกเลิกการโอนโครงการ แม้ตัวเลขจะไม่มาก แต่ก็พอเห็นสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ธุรกิจมีการปิดกิจการลง ตัวเลขว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทฯ ต้องโหมอัดแคมเปญอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ลูกค้า
"คุณถามผมว่าจะให้เสนออะไรกับรัฐบาลนั้น คิดว่า เป็นประเด็นที่มีเสียงเรียกร้องมาตลอด คือ ปลดเรื่องมาตรการควบคุมสินเชื่อ หรือ LTV จะได้ลูกค้ากลับคืนมาทันที 10 เปอร์เซ็นต์ หรือการยกเลิกเพดานราคาบ้านในมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เนื่องจากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวม ที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุน แต่หากให้ได้ คลายตรงนี้ลง ก็ไม่เลว จะทำให้ทุกระดับราคาได้รับผลประโยชน์ แต่ก็ต้องดูว่า ในด้านภาษี รัฐบาลจะพอหรือเปล่า ส่วนจะมีการหารือกับ รมว.คลังคนใหม่หรือไม่ คงไม่ต้อง เพราะท่านรู้ ซึ่งในช่วงที่ท่านเป็นนายแบงก์ ภาคเอกชนมีการหารือกับท่านมาโดยตลอด"