บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) คาดใช้เงินลงทุน 2-3 แสนล้านบาทภายใน 3-5 ปี ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-โรงงานแบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน พร้อมศึกษาแนวทางระดมทุนทั้งการเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ และหาพันธมิตรร่วมลงทุน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานคณะกรรมการบริหารประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทคาดจะใช้เงินลงทุนโครงการโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในรูปแบบเขื่อน มูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท
การลงทุนแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คาดใช้เงิน 2-2.5 แสนล้านบาท โรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ใช้เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท โดยบริษัทเปิดโอกาสหาพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมลงทุนทั้ง 2 โครงการ
สำหรับโครงการลงทุนต่างๆ ในปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้ลงทุน แต่ในอนาคตหากต้องมีการขยายโครงการลงทุน อาจระดมเงินโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ หรือการหาพันธมิตรร่วมลงทุน
คาดปี 64 รายได้โต 30% ได้ธุรกิจรถยนต์-เรือไฟฟ้าหนุน
บริษัทคาดในปี 64 รายได้จะเติบโต 30% ได้แรงหนุนจากธุรกิจโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า รวมธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และธุรกิจผลิตสารเปลี่ยนสถานะ (PCM) จากเดิมที่รับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า และธุรกิจไบโอดีเซล
วานนี้ (24 ส.ค.) EA และบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ATT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือเซ็นร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาโครงการที่จะนำไปสู่การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA อย่างครบวงจร
โดย ATT จะสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในโครงการจัดทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน และการศึกษากระบวนการนำโลหะมีค่าจากแบตเตอรี่กลับมาใช้งานใหม่ สำหรับเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาโรงงานนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ครบวงจร ซึ่ง ATT จะนำผลการศึกษาจากโครงการไปประยุกต์ใช้ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากจบการดำเนินงานโครงการ
ทั้งนี้ ATT เป็นผู้ลงทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานสำหรับระยะที่ 1 กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการผลิตได้ภายในปี 63 จากนั้นจะทยอยเริ่มทำการผลิตจริง เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป