xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มทดสอบเรือไฟฟ้าอะลูมิเนียม-กรมเจ้าท่าเล็งเปิดเส้นทางเรือเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าจับมือ EA เริ่มทดลองเรือไฟฟ้าต้นแบบในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเร่งปรับโฉมท่าเรือในปี 64 เล็งเปิดเส้นทางเพิ่มเชื่อมรถไฟฟ้า-รถเมล์ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว พลิกโฉมบริการเรือ

วันนี้ (21 ส.ค.) นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดตัวเรือไฟฟ้าลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้งาน “Modern PHENOMENON OF MASS TRANSIT” : ปรากฏการณ์ใหม่การเดินทางขนส่งสาธารณะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน ในการเดินทางรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ไร้มลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมโยงถึงระบบโครงข่าย “เรือ รถ ราง” โดยกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ร่วมมือกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า เรือไฟฟ้าต้นแบบถือเป็นก้าวแรกในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ จะมีการทดสอบเพื่อจะได้เห็นถึงความพร้อมและความสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งได้กำชับให้ผู้ประกอบการหากเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้าจะต้องจัดเก็บค่าโดยสารเท่าเดิม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

“ก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับภาคเอกชน ทดลองเรือไฟฟ้าในคลองแสนแสบแล้ว ซึ่งยังมีจุดบกพร่องบางประการที่จะต้องปรับปรุงเพื่อให้มีความสมบูรณ์ที่สุดก่อนที่จะเปิดให้บริการแก่ประชาชน เพราะนอกจากเป้าหมายเพื่อให้ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยในการให้บริการ”

ที่ผ่านมาประชาชนไม่นิยมสัญจรทางน้ำมากนัก แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะนอกจากเรือใหม่ที่เป็นไฟฟ้าแล้ว จะมีการปรับปรุงท่าเทียบเรือให้มีความสะดวก และทันสมัย ซึ่งจะเสร็จทั้งหมดในปลายปี 2564

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า บริษัท EA ได้พัฒนาเรือไฟฟ้าต้นแบบ วัสดุจากอะลูมิเนียม จะไม่มีเสียง ไม่มีควัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำมาให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา จะช่วยในเรื่องการเดินทางในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยวในอนาคตได้ ส่วนในทะเลและคลองแสนแสบจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นเรือไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการเรือในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าจะมีการบูรณาการเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทางบก-น้ำ-ราง ซึ่งจะมีการพัฒนาท่าเรือที่สามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้า และรถโดยสาร ให้ท่าเรือมีความสะดวก ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อมีผู้ใช้บริการเรือมากขึ้นจะมีการปรับปรุงเส้นทางเดินเรือทั้งในคลองต่างๆ และแม่น้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับความต้องการต่อไปอีกด้วย รวมถึงจะมีผู้ประกอบการเดินเรือรายใหม่เข้ามาให้บริการเพิ่ม

ส่วนกรณีที่บริษัท EA จะเข้ามาให้บริการเดินเรือด้วยนั้น จะพิจารณาตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย เรื่องการอนุญาตเรือประจำทาง ซึ่งจะมีการพิจารณาไม่ให้มีการเดินเรือทับเส้นทางกัน เช่น ต้นทาง หรือปลายทางจะต้องเป็นคนละจุด โดยจะพิจารณาในเรื่องปริมาณผู้โดยสาร และท่าเรือที่จะให้บริการ เนื่องจากผู้ประกอบการเดิมอาจจะไม่ได้จอดทุกท่า และสามารถขยายเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือไปถึงปทุมธานีได้ ส่วนด้านใต้ ช่วงสาทร-สมุทรปราการ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการให้บริการ สามารถเชื่อมเส้นทางจากปริมณฑลเชื่อมเข้าระบบรางได้

“หลังจากทดลองเรือต้นแบบจะต้องหารือในเรื่องเส้นทางเดินเรือ สถานีชาร์จประจุไฟเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการให้บริการ และจะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการบำรุงรักษา คนขับเรือ คนประจำเรือ ด้วยยืนยันเรือไฟฟ้า จะไม่มีการปรับเพิ่มค่าโดยสารใดๆ นอกจากนี้ การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ในรูปแบบใหม่ๆ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย”

ปัจจุบันมีเรือโดยสารในแม่น้ำ 70 ลำ หากผลทดลองเรือไฟฟ้าต้นแบบได้ผลสมบูรณ์ ผู้ประกอบการพร้อมจะปรับเปลี่ยน ส่วนจะเป็นเมื่อใดต้องรอผลการทดลอง ส่วนการผลิตต่อเรือ เอกชนไม่มีปัญหา ใช้เวลาต่อเรือประมาณ 1 เดือน/ลำ ซึ่งเร็วกว่าเรือไม้ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิม ซึ่งคาดปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 64 จะได้เริ่มเห็น

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า คาดหวังว่าหากเปลี่ยนเป็นเรือไฟฟ้าและมีผู้ประกอบการเข้ามาให้บริการเพิ่มจะทำให้ประชาชนหันมาใช้เรือเดินทางมากขึ้น จากปัจจุบันประมาณ 3 หมื่นกว่าคน/วัน เป็น 5-6 หมื่นคน/วัน

ตามแผน เบื้องต้นเรือโดยสารไฟฟ้าจะมีประมาณ 27-30 ลำ ส่วนเรื่องท่องเที่ยวประมาณ 4-6 ลำ หลังจากนั้นจะประเมินผลการเติบโตของตลาดเพื่อเพิ่มเรือให้เหมาะสม ซึ่งบริษัทฯ พร้อมลงทุนต่อ อย่างไรก็ตาม ระยะแรกภาครัฐควรเป็นผู้ผลักดัน กระตุ้นประชาชน และมีมาตรการสนับสนุน ภาคเอกชน และปักหมุดจุดนำร่องเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม เมื่อสังคมรับรู้จะเกิดการตลาดที่ขับเคลื่อนไปได้

สำหรับเรือไฟฟ้า มีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมาใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภทให้มากที่สุด เนื่องจากช่วยประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ จึงได้ลงทุนออกแบบและผลิตเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่เป็นฝีมือของคนไทย 100% ต่อเนื่องด้วยรถบัสโดยสารไฟฟ้า โดยนำเทคโนโลยีการชาร์จ DC Fast Charger ของ EA Anywhere ที่ทันสมัยที่สุดของกลุ่ม EA ที่สามารถชาร์จเร็วทั้งเรือและรถบัสไฟฟ้าได้ภายใน 15-20 นาที มาสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เข้าสู่การเดินทางที่ประหยัดพลังงานและไร้มลพิษ

“เราพร้อมให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชน ทั้งในส่วนของเรือพลังงานไฟฟ้า และรถบัสโดยสารไฟฟ้า โดยปัจจุบันเรือพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ลำแรกสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยเป็นเรือโดยสารไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุด และได้รับการจดทะเบียนเป็นเรือพลังงานไฟฟ้าเป็นลำแรกของประเทศเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการสร้างเรือที่เหลือ โดยมีงบประมาณลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ เรายังได้นำรถบัสโดยสารไฟฟ้ามาทดลองให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2562 แล้ว และกำลังจะเริ่มผลิตจริงในต้นปีหน้า โดยจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของกลุ่ม EA คือการมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เป็นของเราเอง และการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องอัดประจุไฟฟ้า DC Fast Charger ของ EA Anywhere ให้สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ภายในเวลาเพียง 15-20 นาที ทำให้รองรับการใช้งานได้ตรงจุด ประหยัดค่าพลังงาน ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้งมีความคล่องตัวในการขยายจุดติดตั้งทั่วประเทศ
โดยโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทย่อย ที่ชื่อบริษัท ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั้น ปัจจุบันอาคารโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรและทดสอบการผลิต อีกทั้งอยู่ระหว่างสร้างโรงงานผลิตรถบัสไฟฟ้าอีกด้วย โดยมั่นใจว่าจากปีปลายนี้เป็นต้นไป






กำลังโหลดความคิดเห็น