มีนักลงทุนส่งข้อมูล การลงทุนหุ้นของกองทุนประกันวินาศภัย พร้อมกับตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรม เพราะหุ้นที่ซื้อลงทุนหลายตัวอยู่ในสภาพตายซาก ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี และบางตัวเคยถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในความผิด ปั่นหุ้น ด้วยซ้ำ
หุ้นที่กองทุนประกันวินาศภัยเข้าไปลงทุน และถูกตั้งปมสังสัย มีอยู่ 3 บริษัท โดยเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวพันกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบด้วย บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX
กองทุนประกันวินาศภัยลงทุนหุ้นตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัท แต่บริษัทอื่น จะลงทุนไม่เกิน 0.5% ของทุนจดทะเบียน แต่ลงทุนในหุ้น NMG , NEWS และ MAX เกินกว่า 0.5% ทั้ง 3 บริษัท
หุ้น NMG กองทุนวินาศภัยถือหุ้นใหญ่อันดับ 9 จำนวน 141.40 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.48% ของทุนจดทะเบียน หุ้น NEWS กองทุนวินาศภัยถือใหญ่อันดับ 6 จำนวนหุ้น 1,570 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 2.31% ของทุนจดทะเบียนและ MAX กองทุนฯ ถือใหญ่อันดับ 13 จำนวนหุ้น 170 ล้านหุ้นหรือ 0.57% ของทุนจดทะเบียน
สำหรับ NEWS กองทุนวินาศภัยเข้าไปถือตั้งแต่ปลายปี 2561 ส่วน NMG และ MAX เข้าไปลงทุนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือประมาณต้นปี 2562
กองทุนประกันวินาศภัย มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการเข้าไปลงทุนหุ้นในกลุ่ม NMG ไม่มีข้อห้ามอันใด แต่ปมที่สร้างความกังขาคือ ทำไมจึงลงทุนในหุ้นที่มองไม่เห็นอนาคต ขณะผลประกอบการในอดีตตกต่ำ ขาดทุนต่อเนื่อง มีปัญหาด้านภาพลักษณ์ และไม่จ่ายเงินปันผลมายาวนาน
ถ้าจะหวังหากำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น หุ้นทั้ง 3 บริษัทก็อยู่ในสภาพตายซาก นักลงทุนทั่วไปหมดความสนใจ จนหลายตัวลากขึ้นทุบลงอยู่แถว 1-2 สตางค์เท่านั้น และแทบไม่มีมูลค่าการซื้อขาย
กองทุนประกันวินาศภัย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประภันภัย (คปภ.) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระหนี้จากการทำประกันภัย
ส่วนเงินกองทุนเกิดจากการนำส่งเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัยร้อยละ 0.25 จากเบี้ยประกัน ดอกผลหรือรายได้จากกองทุน เงินสนับสนุนจากรัฐบาลและรายได้อื่น
ประธานคณะกรรมการกองทุนคือ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง โดยไม่มีรายละเอียดว่า การตัดสินใจลงทุนในหุ้นเป็นอำนาจของใคร และต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนฯ หรือไม่
การลงทุนหุ้นทั้ง 3 บริษัท ผิดหลักการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจะเน้นลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี แนวโน้มผลประกอบการสดใส มีเงินปันผลสม่ำเสมอ
แต่กองทุนประกันวินาศภัย กลับลงทุนในหุ้นที่มีอดีตเลวร้าย อนาคตคาดหวังไม่ได้มากนัก และไม่จ่ายเงินปันผลมายาวนาน
ไม่รู้ว่าการตัดสินใจลงทุนในหุ้นทั้ง 3 บริษัท ใครเป็นคนสั่ง คณะกรรมการกองทุนฯ มีมติร่วมกันหรือไม่ เพราะสิ่งที่สังคมอยากตั้งคำถามคือ
คนที่ตัดสินใจหรือคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ร่วมกันตัดสินใจ ถ้าเป็นเงินของตัวเอง จะซื้อหุ้นทั้ง 3 บริษัทหรือไม่
เงินของกองทุนประกันวินาศภัย ไม่มีใครเป็นเจ้าของเป็นตัวเป็นตน โดยเงินที่นำไปลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าเกิดความเสียหาย คงไม่มีโจทก์ที่จะร้องทุกข์ จึงมีโอกาสที่เงินจะถูกนำไปละเลงหรือละลายในตลาดหุ้นได้ง่าย
ถ้ากองทุนประกันวินาศภัย ระดมเงินจากประชาชน และนำเงินไปลงทุนหุ้นที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง แนวโน้มธุรกิจมองไม่เห็นอนาคต ผู้จัดการกองทุนหรือคณะกรรมการกองทุนคงจะถูกผู้ถือหน่วยลงทุนซักฟอกหนัก ในประเด็นการ มีนอกมีในกับหุ้นที่เข้าไปลงทุน
รวมทั้งถูกตั้งคำถามถึงเหตุผลการเข้าไปลงทุนในหุ้น NMG, NEWS และ MAX
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้ระดมเงินจากประชาชน แต่กองทุนประกันวินาศภัยก็เป็นสมบัติของประชาชน สังคมจึงสามารถตั้งคำถามได้เหมือนกันว่า
ทำไมกองทุนวินาศภัยจึงขนเงินไปลงทุนหุ้นกลุ่ม NMG ใครเป็นคนสั่ง และไม่ละอายต่อพฤติการณ์ที่ผิดหลักการลงทุนอย่างมืออาชีพบ้างเลยหรือ
เงินกองทุนประกันวินาศภัย เป็นทรัพย์สินของประชาชน แต่กำลังถูกนำไปละเลงในตลาดหุ้น และ ยังไม่มีใครตรวจสอบพฤติกรรมการลงทุนที่น่าสงสัยของกองทุนนี้