xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นคดีหนี้เทียม POLAR (ตอน1) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครบรอบ 2 ปีแล้วสำหรับการ กล่าวโทษอดีตกรรมการ บริษัท โพลาริส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ในความผิดร่วมกันสร้างหนี้เทียม จำนวน 3.6 พันล้านบาท เพื่อให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และลงข้อความเท็จในบัญชีบริษัท แต่คดีนี้กลับเงียบหาย สังคมไม่ได้รับรู้ว่า มีความคืบหน้าไปอย่างไร

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการ POLAR จำนวน 5 คน พร้อมพวกอีกรวม 11 คน ในความผิดร่วมกันสร้างหนี้เทียม โดยร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

แม้เป็นคดีใหญ่ มีโทษหนักจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี โดยไม่รวมโทษปรับ แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยแถลงว่า การสอบสวนคดี POLAR ไปถึงไหนแล้ว คดีถูกดองไว้อยู่ในขั้นตอนใด และทำไมจึงมีความล่าช้า

นักลงทุนจับตาคดี POLAR ด้วยความหวั่นไหวมาตลอด กลัวว่าคดีจะถูกตัดตอนในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ เช่นเดียวกับคดีการปั่นหุ้นอีกนับสิบๆ คดี ซึ่งดีเอสไอสั่งไม่ฟ้อง

POLAR เป็นอีกมหากาพย์ของหุ้นที่สร้างความเสียหายย่อยยับให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้ถือหุ้นที่ตกอยู่ในฐานะผู้สูญเสีย จำนวน 11,523 ราย


ผู้ถือหุ้นจำนวนกว่าหมื่นราย คงหมดเนื้อหมดตัวไปแล้ว ถ้าแผนการล้มบริษัทสำเร็จ โดยการสร้างหนี้เทียม จำนวน 3.6 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว และผลักไสไล่ส่ง POLAR เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ตามด้วยการล้มละลาย ก่อนชำระบัญชีและปิดบริษัท โดยไม่มีกรรมการคนใดต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่สร้างขึ้น

แต่เนื่องจากพฤติกรรมการบริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ถูกเฝ้าติดตามมานาน มีธุรกรรมที่น่าสงสัยในความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการซื้อและขายทรัพย์สิน การให้กู้ยืมแก่บริษัทภายใน ก.ล.ต.จึงอาจเพ่งเล็งตรวจสอบข้อมูลเป็นกรณีพิเศษ จนพบความผิดต่างๆ ทั้งทางแพ่งและอาญา

POLAR เคยเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG จนสามารถเขี่ยกลุ่มนายสุทธิชัย หยุ่น ในฐานะผู้ก่อตั้งพ้นจากการบริหารงาน โดยกลุ่มนายฉาย บุนนาค เข้าควบคุมการบริหารแทน

POLAR จะมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากหุ้นในกลุ่มเดียวกัน โดยเพิ่มทุนถี่ยิบ ปี 2557 เพิ่มทุน 8 ครั้ง ปี 2558 เพิ่มทุน 3 ครั้ง เมื่อระดมเงินได้จะนำไปซื้อทรัพย์สิน แต่ผลประกอบการกลับขาดทุนต่อเนื่อง

ทรัพย์สินที่ซื้อมาในหลายรายการ เป็นการซื้อแพงขายถูก เช่น หุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG และหุ้น บริษัท อควา มีเดีย จำกัด ซึ่งขาดทุนจากหุ้นทั้ง 2 ตัวประมาณ 200 ล้านบาท

นอกจากนั้น การซื้อทรัพย์สินหลายรายการ ผู้บริหาร POLAR มักจะวางมัดจำล่วงหน้าด้วยเงินก้อนโต เช่น การซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท แต่วางมัดจำล่วงหน้า 350 ล้านบาท และไม่สามารถชำระงวดที่เหลือได้ จนบัดนี้ไม่รู้ว่า ได้ค่ามัดจำคืนมาหรือไม่

และวางมัดจำ 120 ล้านบาท ในการซื้อ A DAY นิตยสารชื่อดัง ต่อมา มีปัญหายกเลิกข้อตกลงการซื้อ A DAY โดยมีข่าวแจ้งว่า ได้รับเงินค่ามัดคืนแล้ว แต่ คณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ยังตรวจสอบเงินก้อนนี้ไม่พบ

รวมทั้งเงินที่บริษัท ไซนิส แอ็คคอม จำกัด ซึ่งกำลังแต่งตัวเข้าตลาดหุ้น กู้ยืมไปจำนวน 160 ล้านบาท และมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ชำระคืนแล้ว แต่คณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ไม่พบหลักฐานเงินชำระคืนก้อนนี้เหมือนกัน

ตั้งแต่ต้นปี 2562 คณะกรรมการชุดใหม่ 5 คน นำโดย นายทิศชวน นานาวราทร ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
ได้เข้าบริหารบริษัท ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น POLAR เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 และกำลังรื้อซากปรักหักพังในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ซึ่งพบปมความล่มสลายมากมาย

ทุกปมความผิดที่กลุ่มนายทิศชวน ตรวจสอบพบ จะนำไปสู่การดำเนินคดีโดยละเว้น นอกเหนือจากคดีสร้างหนี้เทียม เพื่อล้มบริษัท และกลบเกลื่อนการเล่นแร่แปรธาตุ จน POLAR พังพินาศ

แมลงเม่า จำนวน 11,523 ชีวิต ที่แทบสิ้นเนื้อประดาตัวจากหุ้นตัวนี้ กำลังรอความหวังการฟื้นฐานะของกิจการจากคณะกรรมการชุดใหม่ ยังฝันถึงวันที่หุ้น POLAR จะกลับมาซื้อขายใหม่

และรอการเยียวยาด้านจิตใจ จาก “ดีเอสไอ” ในการเร่งรัดสอบสวนและปิดคดี POLAR (อ่านตอนต่อพรุ่งนี้)






กำลังโหลดความคิดเห็น