xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นคดีหนี้เทียม POLAR (จบ) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ยกเลิกการล้มละลายของบริษัท โพลาริส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR หลังจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน โดยตัดหนี้เทียมที่ถูกสร้างขึ้น จำนวน 3.6 พันล้านบาทออกไป

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้จำนวนทั้งหมด 12 ราย มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ วงเงินประมาณ 3 ล้านบาทเศษ ถ้ารวมหนี้ที่อยู่ระหว่างโต้แย้ง จะมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 527 ล้านบาท ขณะที่ทรัพย์สินบริษัทที่รวบรวมได้มีจำนวนประมาณ 4,836 ล้านบาท


การยืนยันจำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่จริง และหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เป็นการตอกย้ำว่า การกล่าวโทษอดีตกรรมการ POLAR จำนวน 5 คน พร้อมพวกรวม 11 คน ร่วมกันสร้างหนี้เทียมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นั้น เป็นการกล่าวโทษที่ไม่เกินเลยจากข้อเท็จจริง

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่น่ามีข้อโต้แย้งใดๆ ในการกล่าวโทษของ ก.ล.ต.แล้ว นอกจากเร่งสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอดีต 5 กรรมการ POLAR พร้อมพวกรวม 11 คน เพราะคดีถูกดองมานาน และควรประสานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) ติดตามเส้นทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ว่า ไหลออกจาก POLAR ไปอยู่ในกระเป๋าใครบ้าง

ถ้า “ดีเอสไอ” ต้องการข้อมูล เบาะแส หรือหลักฐานใดเพิ่มเติม สามารถประสานขอความร่วมมือจากคณะกรรมการ POLAR ชุดใหม่ได้ เพราะน่าจะมีข้อมูลเหตุแห่งความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

ฐานะของ POLAR จริงๆ แล้วสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่คณะกรรมการชุดใหม่จะกู้ซากบริษัทที่มีคนบางกลุ่มพยายามทำลายทิ้งได้อย่างไร

เพราะเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่เข้าบริหาร POLAR มีสภาพรกร้าง ไม่เหลือพนักงานทำงาน โดยถูกเลิกจ้างหมด ผู้บริหารบริษัทชุดใหม่จึงไม่สามารถสอบถามข้อมูลใดๆ จากใครได้

คอมพิวเตอร์ของบริษัทที่เหลือเพียงไม่กี่เครื่อง ไม่มีข้อมูลทางบัญชี ส่วนเอกสารสำคัญถูกทำลายทิ้ง สำนักงานถูกปล่อยว่างเปล่า และมีเงินเหลือติดบัญชีเพียงประมาณ 5 แสนบาท

ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ติดตามได้ เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัท ส่วนงบการเงินจะต้องจัดทำเพื่อส่งตลาดหลักทรัพย์ ก่อนยื่นขอปลดล็อกเครื่องหมาย “เอสพี” และรอนำหุ้นกลับมาซื้อขายใหม่ เมื่อแก้ปัญหาผลการดำเนินงานได้ ซึ่งทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา

แต่อย่างน้อยผู้ถือหุ้น จำนวน 11,523 คน มีความหวังที่บริษัทจะฟื้นแล้ว และจะฟื้นได้เร็วขึ้น หากติดตามทรัพย์สินของบริษัทคืนมาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเงินสดค่ามัดจำซื้อทรัพย์สิน และเงินที่ บริษัท ไซมิส แอ็คคอม จำกัด กู้ไปรวมทั้งสิ้น 3 รายการ วงเงินกว่า 600 ล้านบาท

เงินมัดจำการซื้อหุ้น บริษัท เดย์ โพเอสท์ จำกัด เจ้าของนิตยสาร A DAY จำนวน 120 ล้านบาท แม้จะมีการออกข่าวว่าได้รับชำระคืนแล้ว แต่ผู้บริหาร POLAR ชุดใหม่ ตรวจสอบรายการจากธนาคารแล้ว ไม่พบว่าเงินก้อนนี้เข้ามาทางไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่

เช่นเดียวกับเงินที่ปล่อยกู้ให้บริษัท ไซมิส แอ็คคอม จำกัด จำนวน 160 ล้านบาท ซึ่งยังตรวจสอบไม่พบว่า ชำระผ่านเข้ามาบริษัทในชองทางไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม เงินค่ามัดจำซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำนวน 350 ล้านบาทนั้น แม้จะตรวจสอบไม่ได้ว่ามีการชำระคืนหรือไม่

แต่ถ้ายังไม่คืนให้ POLAR ผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่ามัดจำไป ซึ่งมีชื่อปรากฏในสัญญาคงหนีภาระรับผิดชอบไม่ได้

เพราะถ้าไม่คืน และยึดค่ามัดจำไปกินฟรี โดยอ้างว่า ผู้ซื้อผิดสัญญา เงินจำนวน 350 ล้านบาท จะถือเป็นเงินได้ จะต้องชำระภาษีในอัตราสูงสุด

แต่ผู้ที่รับเงินค่ามัดจำไปยื่นชำระภาษีอย่างถูกต้องหรือยัง ถ้ายังถือเป็นความผิด ซึ่งกรมสรรพากรจะต้องตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ

คดีฉ้อฉลและกลโกงใน POLAR สร้างความเสียหายให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1 หมื่นราย ไม่ควรมีใครตัดตอน แต่ทุกหน่วยงานควรดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด สอบสวนและติดตามเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่มีร่วมทำให้บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ล่มสลายอย่างจริงจัง

บริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล ถ่ายเทเงินของผู้ถือหุ้น ในลักษณะเดียวกับ POLAR มีนับสิบบริษัท สร้างความเสียหายให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นับแสนๆ ราย โดยแก๊งมิจฉาชีพที่เข้ามาปล้นเงินในตลาดหุ้น มักลอยนวล เพราะคดีถูกตัดตอนจากบางหน่วยงาน

แต่คดีสร้างหนี้เทียม POLAR หลักฐานที่ ก.ล.ต. ใช้กล่าวโทษ ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ว่า หนี้เทียมถูกสร้างขึ้นมาจริง

ดีเอสไอจึงต้องเดินหน้าเร่งปิดคดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้สังคมตั้งคำถาม ทำไมจึงดองคดี POLAR ไว้นานถึง 2 ปี

ทั้งที่ คดี POLAR อาจนำไปสู่เปิดโปงถึงขบวนการผ่องถ่าย ไซฟ่อนเงินที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์






กำลังโหลดความคิดเห็น