xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจกู้ซาก IFEC-POLAR / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งที่มีปัญหาฐานะทางการเงินและการดำเนินงาน หุ้นถูกเครื่องหมาย “SP” พักการซื้อขาย พยายามดิ้นรนฟื้นฟูฐานะการดำเนินงาน เพื่อนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายอีกครั้ง รวมทั้ง บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีส เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เหลือแต่ซาก

IFEC และ POLAR ตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ย่อยยับจากพฤติกรรมความไม่โปร่งใสของอดีตผู้บริหารบริษัท และถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ กรณีทุจริต สร้างข้อมูลเท็จ สร้างหนี้เทียม

แม้จะปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่ โดยกลุ่มนายทวิช เตชะนาวากุล เข้าไปบริหาร IFEC และกลุ่มนายทิศชวน นานาวราทร เข้าบริหาร POLAR แต่การกู้ซากบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะบริษัทแทบไม่เหลืออะไร หลักฐานเอกสารสำคัญถูกทำลายทิ้งไม่เหลือพนักงานที่จะสอบถามข้อมูลของกิจการ ทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นถูกย่อยสลาย และ มีปัญหารอบด้านที่ถูกทิ้งไว้ให้ผู้บริหารชุดใหม่สะสาง

ทั้ง IFEC และ POLAR เคยเป็นหุ้นร้อน ราคาเคลื่อนไหวอย่างหวือหวา โดยมีข่าวกระตุ้นการเก็งกำไรเป็นระยะ ทั้งการซื้อขายทรัพย์สิน การขยายการลงทุน ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ทำให้เงินไหลออกจากบริษัท และไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับมา ส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง จนสุดท้ายมีปัญหาฐานะทางการเงิน

นักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ เสียหายกันหนัก โดย IFEC มีผู้ถือหุ้นรวม 29,986 ราย ขณะที่ POLAR มีผู้ถือหุ้น 11,523 ราย

รวมแล้วมีนักลงทุนที่ตกเป็นเหยื่อ IFEC และ POLAR จำนวนกว่า 4 หมื่นราย ซึ่งผู้ถือหุ้นเหล่านี้กำลังรอความหวังจากคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ รอคอยหุ้นกลับมาซื้อขายอีกครั้ง

เบื้องหลังความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งนี้ จะมีอดีตผู้บริหารบริษัทคนใดต้องรับผิดชอบบ้าง เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการสอบสวนดำเนินคดี ตามที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษ และเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะต้องตามสอบเส้นทางการเงินว่า มีใครไซฟ่อน ผ่องถ่ายเงินออกจาก IFEC และ POLAR หรือไม่

แต่การฟื้นฟูฐานะการดำเนินงาน การจัดทำงบการเงินส่งตลาดหลักทรัพย์ เพื่อปลดป้าย “SP” และนำหุ้นกลับมาซื้อขายใหม่เพื่อช่วยเยียวยาผู้ถือหุ้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ซึ่งต้องรับภาระอันหนักอึ้ง

IFEC เพิ่งรายงานตลาดหลักทรัพย์ ในการอนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรายใหม่ ซึ่งจะจัดทำและตรวจสอบบัญชีระหว่างปี 2560-2563 และต้องจ้างในราคาที่สูงมาก อัตราปีละ 12 ล้านบาท รวม 4 ปีต้องจ่าย 48 ล้านบาท

ส่วน POLAR เหลือเพียงทรัพย์สิน แต่ไม่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจใดๆ โดยคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไปก่อน ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูฐานะแล้ว การขอจัดประชุมผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อขออนุมัติตั้งกรรมการอิสระให้ครบตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ยังมีปัญหาอีก

เพราะตลาดหลักทรัพย์อ้างข้อกฎหมาย ไม่ยอมให้จัดประชุมผู้ถือหุ้น แม้จะใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นเกิน 10% เสนอขอจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ตาม

การกู้ซาก IFEC และ POLAR เพื่อเยียวยานักลงทุนจำนวนเกือบครึ่งแสนราย ไม่ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งเท่านั้น แต่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ควรเป็นเจ้าภาพร่วม โดยช่วยเหลือให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหา

เพราะการล่มสลายจนแทบไม่เหลือซากของ IFEC และ POLAR สร้างความเสียหายให้ผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ถือเป็นความรับผิดชอบของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน เนื่องจากไม่สามารถกำกับดูแลให้การบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งเป็นไปด้วยความโปร่งใส และไม่อาจปกป้องคุ้มครองนักลงทุนได้

นายทวิช เตชะนาวากุล และนายทิศชวน นานาวราทร กำลังทุ่มเททุกอย่างเพื่อกู้ซาก IFEC และ POLAR แต่ถ้า ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ได้แต่ยืนดู ไม่ช่วยเหลือเกื้อหนุน

ภารกิจในฟื้นฟูบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่ง อาจไปไม่ถึงฝั่ง และผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 40,000 ชีวิตจะไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ






กำลังโหลดความคิดเห็น