xs
xsm
sm
md
lg

สศค.เผยผู้ให้บริการสินเชื่อพิโก้ยังระวังการปล่อยกู้ ชี้สัดส่วน NPLs เดือน เม.ย.ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 15.41%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โฆษก สศค." เผยสถานการณ์ธุรกิจสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์ในเดือน พ.ค.63 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน เม.ย.63 ระบุ ยอดรวมสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน เม.ย.63 จะมีอยู่กว่า 6.7 พันล้านบาท โดยกว่า 3 พันล้านบาท จะเป็นการอนุมัติสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน มี.ค.63 ราว 2.35% ชี้เหตุผลหลักอาจเกิดจากผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังการปล่อยเงินกู้ หวังลดความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นในยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ซึ่งล่าสุด เมื่อถึงสิ้นเดือน เม.ย.63 จะมีรวมกันกว่า 2.5 พันล้านบาท ด้าน NPLs อยู่ที่ 15.41% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งเคยอยู่ที่ 13.06%

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงสถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ในเดือน พ.ค.63 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือน เม.ย.63 มากนัก ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 จะได้ลดความรุนแรงลงไปบ้างแล้วก็ตาม

สำหรับรายละเอียดการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์รวมสุทธิในเดือน พ.ค.63 นั้น จะมีทั้งสิ้น 1,042 ราย ใน 75 จังหวัด หรือเพิ่มขึ้น 5 ราย เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย.63 โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 96 ราย นครราชสีมา 94 ราย และขอนแก่น 62 ราย

ขณะที่จำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิจะมีทั้งสิ้น 815 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 699 ราย ใน 71 จังหวัด ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.63 มีจำนวนผู้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ที่เปลี่ยนเป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทพิโกพลัส จำนวน 2 ราย

ด้านผู้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบสินเชื่อประเภทพิโกพลัส จะมียอดสุทธิรวมทั้งสิ้น 157 ราย ใน 54 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสรวม 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่อีก 74 ราย ใน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 18 ราย กรุงเทพมหานคร 13 ราย และอุบลราชธานี 10 ราย

ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส 76 ราย ใน 29 จังหวัด เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.63 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี และนครศรีธรรมราช โดยมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 50 ราย ใน 25 จังหวัด หรือเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.63 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ นายพรชัย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงยอดรวมสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน เม.ย.63 ว่า มีทั้งสิ้น 254,890 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,745.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย จำนวน 26,462.47 บาทต่อบัญชี โดยประกอบไปด้วยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน จำนวน 125,773 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,589.15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.21% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ขณะที่การอนุมัติสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจะมี 129,117 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,155.87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.79% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม เพิ่มขึ้นจากยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 เพียง 2.35% ซึ่งเหตุผลหลักอาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการยังคงมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

ด้านยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ณ สิ้นเดือน เม.ย.63 จะมีรวมกันทั้งสิ้น 105,689 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,591.32 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือนสะสมรวมจำนวน 15,708 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 394.61 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.23% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 14,928 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 399.44 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.41% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม เพิ่มขึ้นจากยอดสะสม ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 ที่มียอด NPL อยู่ที่ 13.06%

ส่วนผลการดำเนินการอย่างจริงจังต่อเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายในเดือน พ.ค.63 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) เพื่อปราบปรามและดำเนินคดีในเชิงรุกอย่างจริงจังต่อเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย การกู้ยืมเงินที่มีลักษณะฉ้อโกงประชาชน โดยผลการจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำความผิดของ สตช. สะสมนับตั้งแต่เดือน ต.ค.59 จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.63 จะมีทั้งสิ้น 5,512 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น