xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจให้สินเชื่อพิโกฯ เดือน เม.ย. ยังชะลอตัว เหตุจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและไวรัสโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คลัง" เผยเดือน มี.ค.63 ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์รวม 335 ราย ตอบรับการจัดมาตรการช่วยภาระลูกหนี้ที่รับผลกระทบโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล ด้านภาพรวมการให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในช่วงเดือน เม.ย.63 ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีปัจจัยหลักที่มาจากปัญหาเชื้อโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของทั่วโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีจำนวนผู้ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 5 รายจากเดือน มี.ค.63

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เมื่อเดือน มี.ค.63 เพื่อเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ว่า มีจำนวนผู้ตอบรับรวมกันทั้งสิ้น 335 ราย

โดยประกอบไปด้วยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 222 ราย ภาคเหนือ จำนวน 31 ราย ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ภาคกลาง จำนวน 37 ราย และภาคใต้ จำนวน 15 ราย โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการแต่ละรายก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดค่าผ่อนชำระรายงวด ไม่ติดตามทวงถามหนี้ หรือไม่คิดค่าปรับล่าช้าหรือค่าติดตามทวงถามหนี้แล้วแต่กรณี เป็นต้น

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในช่วงเดือน เม.ย.63 ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของทั่วโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิ 1,194 ราย เพิ่มขึ้นเพียง 5 รายจากเดือน มี.ค.63

ด้านยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 จะมี 248,423 บัญชี รวมเป็น จำนวนเงิน 6,589.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย จำนวน 26,525.68 บาทต่อบัญชี ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน จำนวน 122,862 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,511.52 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.29 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน จำนวน 125,561 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,078.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.71 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยคำนึงถึงศักยภาพการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการหารายได้ของประชาชน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังต้องเผชิญต่อการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการสินเชื่อรายอื่นในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ (นาโนไฟแนนซ์) รายใหญ่ๆ ที่ขยายธุรกิจเพื่อเข้ามาเปิดบริการสินเชื่อในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นที่นอกเหนือจากสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์

ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างสะสมในเดือน เม.ย.63 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 108,815 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,752.94 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวมจำนวน 13,850 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 357.87 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 12,478 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 342.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.45 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในภาพรวม โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายใหม่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ภาพรวมของยอดสินเชื่อคงค้างมีแนวโน้มลดลง

สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึงวันที่เสร็จสิ้นโครงการวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่ประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวนรวมทั้งสิ้น 624,384 ราย คิดเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 27,366.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินการในภาพรวมของการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้กระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่อนุมัติสะสมทั้งหมดครอบคลุมประชาชนรายย่อยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.53 ภาคเหนือ ร้อยละ 19.80 ภาคกลาง ร้อยละ 15.72 ภาคใต้ ร้อยละ 14.23 และภาคตะวันออก ร้อยละ 3.72

นายพรชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,479 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น