xs
xsm
sm
md
lg

"สศค." เผยผู้บริการสินเชื่อพิโกฯ กว่า 250 รายยืนยันพร้อมพักหนี้เงินต้น-ลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ช่วงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โฆษก สศค." เผยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กว่า 250 ราย ยืนยันพร้อมเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด-19 โดยการพักหนี้เงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย และขยายเวลาจ่ายคืนหนี้ ทั้งยังระบุยอดสินเชื่ออนุมัติสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือน ก.พ.63 มีทั้งสิ้นกว่า 6.1 พันล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงค้างสะสมในช่วงเวลาเดียวกัน จะมีกว่า 2.4 ล้านบาท โดยมีหนี้เสียคิดเป็นมูลค่าราว 2.9 ร้อยล้านบาท หรือคิดเป็น 11.95% ขณะที่ผลปล่อยเงินกู้รายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินของ "ออมสิน-ธ.ก.ส." ตั้งแต่ มี.ค.60 ถึง มี.ค.63 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของโครงการ ทั้ง 2 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อสะสมแล้วเป็นเงินกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในเดือนมีนาคม 2563 สศค. ได้มีหนังสือถึงผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อขอความร่วมมือเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ด้วยความสมัครใจ และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จำนวนมากกว่า 250 ราย แจ้งตอบรับเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งในเรื่องของการพักชำระต้น การลดอัตราดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ด้วย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 โฆษก สศค. กล่าวว่า มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,324 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (106 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 135 ราย ใน 52 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,189 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 862 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 36 ราย)

ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 722 ราย ใน 71 จังหวัด และมีรายละเอียดคือ สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,033 ราย ใน 75 จังหวัด มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 802 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 687 ราย ใน 70 จังหวัด

และสินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 156 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วย นิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิม และเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่ จำนวน 73 ราย ใน 29 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้ว 60 ราย ใน 25 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 35 ราย ใน 19 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์และศรีสะเกษ

อย่างไรก็ตาม โฆษก สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงยอดสินเชื่ออนุมัติสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า จะมีทั้งสิ้น 229,563 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,114.34 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย จำนวน 26,634.69 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน จำนวน 115,223 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,299.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน จำนวน 114,340 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 2,814.76 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมในช่วงเวลาเดียวกัน จะมีทั้งสิ้น 95,324 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,480.76 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวม จำนวน 11,440 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 305.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.30 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวม จำนวน 11,165 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 296.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.95 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

ด้านความคืบหน้าในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนั้น ทั้ง 2 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อสะสมรวมทั้งสิ้น 624,384 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 27,366.17 ล้านบาท

โดยสามารถจำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 578,597 ราย รวมเป็นจำนวนเงิน 25,390.98 ล้านบาท และเป็นสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 45,787 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,975.19 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายนั้น นายพรชัย ย้ำว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตง.) ยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,448 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น