xs
xsm
sm
md
lg

เบอร์ลี่-ซีพีออลล์รับอานิสงส์โควิด กลุ่มเซ็นทรัล ฯ กระอักมาตรการปิดห้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บิ๊กค้าปลีกปรับแผนลงทุนใหม่ หลังไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก รัฐออกมาตรการสกัด ล่าสุดประเทศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ กลุ่ม “เซ็นทรัล” กำไรหดจากการปิดห้าง พร้อมพับแผนลงทุนและหันไปรีไฟแนนซ์หนี้ ส่วน เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ยังรักษาการเติบโตได้ดี แถมรับผลดีจากการผลิตและจำหน่ายเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย” ขณะตระกูลเจ้าสัวใหญ่อย่าง “เจียรวนนท์” เจ้าของ ซีพี ออลล์ แบรนด์เซเว่น อีเลฟเว่น ส้มหล่น รับอานิสงส์รัฐสั่งปิดห้างและร้านค้าทุกประเภทยกเว้นร้านสะดวกซื้อแถมยังให้บริการแบบเบ็ดเสร็จอยู่ในที่เดียว

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ไวรัส COVID-19 ได้แพร่ระบาดในไทยมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะวิกฤต เมื่อพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะกระจายไปทั่วประเทศ

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2563พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกคำสั่งตามมาตรา 35 พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผนวกกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น จึงสั่งปิดสถานที่เสี่ยงซึ่งเป็นแหล่งกระจายเชื้อไวรัส ส่วนมากเป็นสถานที่ให้บริการต่าง ตลอดจนสถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารสด อาหารปรุงพร้อมรับประทาน และซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารเฉพาะหิ้วกลับบ้านไปกินที่บ้าน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาเบื้องต้นไว้ที่ 22 วัน คือตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563

ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันการชุมนุมหรือการพบปะ แม้แต่การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน หรือใช้สถานในพื้นที่จำกัด อันจะทำให้มีการแพร่และรับเชื้อ และเพิ่มการระบาดบานปลาย

อย่างไรก็ดี ต่อมาคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้ยกเลิกประกาศ กทม. ฉบับที่ 2-3 โดยขยายเวลาปิดสถานที่ในพื้นที่ กทม.ชั่วคราวออกไปจากเดิม ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. จนถึงวันที่ 30 เม.ย. กระทั่งล่าสุดวันที่ 2 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกประกาศเคอร์ฟิวยกระดับมาตรการคุมโควิดตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงตี 4ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผลจากโรคระบาดที่ลุกลามทั่วโลก กอปรกับมาตรการเข้มงวดที่ออกมา ทำให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป การประกอบธุรกิจ ธุรกรรมต่าง ๆ หยุดชะงัก กระทบการดำรงชีพของทุกคนลามไปทุกประเทศทั่วโลก การจำหน่ายหรือขนส่งสินค้าต่างๆ ล้วนรับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เพราะบริษัทหลายแห่งรับผลกระทบจนต้องปรับแผนงาน แม้มีบางแห่งอาจรับผลดีบ้างซึ่งเป็นไปตามธุรกิจนั้นๆ

 CPN กำไรหด หนี้ท่วม พับแผนลงทุนใหม่

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วทั้งกรุงเทพและปริมณฑล จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าของตระกูลเจ้าสัวใหญ่อย่าง “จิราธิวัฒน์” ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด จำเป็นที่ต้องปิดห้างเซ็นทรัลทั่วทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ตามประกาศ พรก.ฉุกเฉินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ได้ส่งหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ถึงมาตรการในอันที่จะลดผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่ากรณีการปิดให้บริการศูนย์การค้าบางแห่งชั่วคราวตามประกาศของทางภาครัฐในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดโดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวทั้งหมด 15 โครงการ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 (ยกเว้น เซ็นทรัลพลาซา ศาลายา ปิดให้บริการระหว่างวันที่ 22-31 มีนาคม 2562) ตามข้อกำหนดของกรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตปริมณฑล

นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน CPN เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงมีสถานะของการรักษากระแสเงินสดในระดับที่ดีและยังมีสภาพคล่องในการรองรับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางความเสี่ยงของสภาพแวดล้อม โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น 3,055 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อซึ่งยังมิได้เบิกใช้ 14,213 ล้านบาท

CPN จะมีสภาพคล่องทางการเงินและกระแสเงินสดในระดับที่ดี แต่ผลกระทบที่ ส่งผลให้ CPN ต้องทบทวนแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยอาจต้องชะลอและปรับแผนการลงทุนพัฒนาโครงการและการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการเดิมออกไป โดยพิจารณาความจำเป็นในแต่ละโครงการ เพื่อลดภาระด้านการลงทุนในสินทรัพย์ (Capital Expenditure) หากมองจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 0.37 เท่า ทำให้ CPN ยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายภายในของ บริษัทฯ ที่ 1 เท่าและตํ่ากว่าเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ที่ระดับ 1.75 เท่าและมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีทั้งสิ้น 8,865 ล้านบาท

หากประเมินตามสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ มีหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นตามงวดบัญชีงบการเงิน ณ วันที่ 31ธันวาคม 2562 กว่า 89,470.77 ล้านบาท มากกว่างบการเงินปี 2561 กว่า 87,532.09 ล้านบาท และงบการเงินปี 2560 ที่ 56,693.80 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท ฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าแผนการรีไฟแนนซ์หนี้สินดังกล่าว โดยการใช้เงินกู้ยืมระยะยาว อัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ร้อยละ 2.91 ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งช่วงเวลาเพียงไตรมาสแรกของปีนี้ ราคาหุ้นของCPN ก็ปรับตัวลดลงแล้วเกือบ 50% จากราคาสูงสุดปีนี้ โดยราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 อยู่ที่ 64.75 บาท/หุ้น ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนกดดันในราคาค่อยๆทยอยปรับรูดลงจนมาแตะ 33.25 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยหากมองที่ราคาย้อนหลัง 5 ปีพบว่าหุ้น CPN ได้ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 87.25 / หุ้น เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561

ขณะที่ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ซึ่งเป็นหุ้นหนึ่งในเครือตระกูล “จิราธิวัฒน์” ก็ได้รับผลกระทบจากCOVID-19 ไม่แพ้กัน โดยแน่นนอนว่าผลประกอบการของ CRC จะมีผลต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 2 จนถึงไตรมาส 3 ปีนี้และจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หากสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างเด็ดขาด และยังคงมีแนวโน้มการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในระดับสูงในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งอัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น หรือ เปอร์เซ็นต์กำไรต่อปีของพอร์ต (CAGR) เฉลี่ยอยู่ที่ 32.6% โดยมีปัจจัยหนุนการเติบโตจากการเติบโตกลุ่มผู้บริโภครายได้ปานกลาง และการเติบโตของชุมชนเมือง อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและทยอยกลับเข้ามาในอนาคต นอกจากนี้แนวโน้มที่ CRC ยังได้ Synergy ต่างๆ จากการอยู่ภายใต้ Central Group และมีข้อตกลง ROFR ในการเข้าซื้อกิจการต่างๆ กับ HCDS (JD Central, ห้างสรรพสินค้าในยุโรป และ อินโดนีเซีย) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวในระยะยาวให้กับธุรกิจ

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ CRC เข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้น IPO ใน SET ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่ามูลค่าการระดมทุนที่สูงและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัททะลุ 168,868 ล้านบาท จนทำให้หลังเข้าเทรด IPO และถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในการคำนวณ SET50 - SET100 ในทันทีจากมูลค่าการปรับขึ้นของ Market cap ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET แต่ใช่ว่าจะส่งในเชิงบวกต่อราคาหุ้นบริษัท เนื่องจากราคา IPO ที่สูงถึง 42 บาท/หุ้น ทำให้ CRC ต้องงัดเอา Greenshoe Option มาเป็นเครื่องมือพยุงราคาหุ้นไว้ไม่ให้ร่วงไปต่ำกว่าราคาจอง แต่เหมือนว่า Greenshoe Option จะไม่สามารถต้านทางความรุนแรงของ COVID-19 ได้เพราะในเวลาเพียงเดือนกว่าราคาหุ้น CRC ค่อยปรับตัวลดลงมาแตะที่ 20.70 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม2563 โดยราคาสูงสุดที่ราคาหุ้นสามารถไต่ขึ้นไปสูงสุดได้คือ 42.25 บาทหุ้น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่เปิดทำการซื้อขาย IPO วันแรกเท่านั้น



ขณะที่หุ้น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ของเจ้าสัวตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ยังรักษาระดับการเติบโตได้ดี แม้ว่าจะมีวิกฤตของ COVID-19 เข้ามากระทบบ้าง ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากนัก เพราะว่าสัดส่วนสินค้าที่บริษัทนำเข้าจากประเทศจีนมีน้อย บวกกับส่วนธุรกิจอาหารที่มีการผลิตในประเทศเป็นหลัก ส่วนสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านที่บริษัทนำเข้าจากจีนก็มีการเลือกหาสินค้าจากซัพพลายเออร์เจ้าอื่นมาทดแทน ซึ่งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะกระทบต่อยอดขายไฮเปอร์มาร์เก็ต เฉพาะสาขาท่องเที่ยวหลักๆ ใน 19 แห่งเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 10-15% ของยอดขายรวมทั้งหมด จากจำนวนสาขาทั้งหมด 151 แห่ง ซึ่งลูกค้าทางยุโรปยังไม่เห็นผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว แต่ 19 สาขานั้น มีลูกค้าคนจีนในสัดส่วนที่น้อย


แม้ว่าจะมีวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น กลับสร้างโอกาสในการแสวงหารายได้และกำไรให้ BJC อย่างมาก จากอานิสงส์การผลิตและจำหน่ายเจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย 3M ซึ่งตลาดมีความต้องการอย่างมาก จนไม่สามารถผลิตได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งการที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบของ COVID-19 รายละ 5,000 บาท จะส่งผลต่อทิศทางบวกต่อบริษัท

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562) BJC มีธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการค้าปลีกทั้งหมด151 แห่ง แบ่งเป็นบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า บิ๊กซีมาร์เก็ต 62 แห่ง รวมไปถึงบิ๊กซีมาร์เก็ต และ บิ๊กซีฟู้ดเพลส, มินิบิ๊กซี 1,016 สาขา รวมสาขาแฟรนไชส์อีก 63 แห่ง, และร้านขายยาเพรียว 145 สาขา โดยในปี 2563 บริษัทมีแผนขยายสาขาบิ๊กซีไฮเปอร์มาเก็ตเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 แห่งในประเทศไทย จากปัจจุบันมี 151 ขณะเดียวกันยังเตรียมที่จะขยายสาขาเพิ่มในประเทศกัมพูชาอีก 1 สาขา นอกจากนี้ยังมีแผนเปิด มินิ บิ๊กซี เพิ่มอีก 300 สาขาจากปัจจุบันอยู่ที่ 1,016 แห่ง และวางแผนขยายSupermarket โดยแบ่งเป็น บิ๊กซีมาร์เก็ต และ บิ๊กซีฟู้ดอีกอย่างน้อยละ 1 แห่ง ซึ่งบริษัทได้วางงบลงทุนเพื่อรองการรับขยายสาขาของบิ๊กซีและขยายกำลังการผลิตไว้ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท

ขณะที่ ตระกูลเจ้าสัวใหญ่อย่าง “เจียรวนนท์”  น่าจะมีภาษีดีที่สุดกว่าทุกตระกูล จากอานิสงส์ที่รัฐสั่งปิดห้างและร้านประเภทต่างๆ จากผลกระทบของ COVID แต่มีข้อยกเว้นสำหรับร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากเป็นร้านที่ขายสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งจากการที่ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALLมีจำนวนร้านสะดวกซื้อในแบรนด์เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเปิดทำการ 24 ชั่วโมง ซึ่งข้อได้เปรียบของเซเว่นอีเลฟเว่นคือการให้บริการแบบเบร็จเสร็จอยู่ในที่เดียว หรือ “ออลเซอร์วิส (ALL Service)” รวมบริการต่างๆ ที่เซเว่นฯ เคยพัฒนาขึ้นในอดีตมาไว้ใต้แบรนด์เดียวกัน ประกอบด้วย ขนส่งพัสดุ สปีด-ดี, ซื้อ พ.ร.บ.-ต่อภาษีรถยนต์และจักรยานยนต์, ชำระบิล, ขายตั๋วคอนเสิร์ต-กีฬา-เดินทาง, ซัก อบ รีด, ฝากถอนเงินโดยทำหน้าที่เป็นBanking Agent ซึ่งมีธนาคารเข้าร่วมแล้ว 7 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน, กรุงศรีอยุธยา, ไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, LH Bank, ธกส. และทหารไทย และยังผูกพ่วงกับโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งจากตัวเลขในปี 2562 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวม 334,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25,218 ล้านบาท คิดเป็น 8.2% ขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมมีอัตราการเติบโต 1.7% ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 82,928 บาท มียอดซื้อต่อบิล 70 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,187 คน

สำหรับปี 2563 CPALL มีเป้าหมายการลงทุน 11,500-20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่รวม 700 สาขา งบลงทุน 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท งบลงทุนโครงการใหม่ บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะมีสาขาครบ 13,000 สาขาภายในปี 2564

ในส่วนของการลงทุนเข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ส่งผลให้ CPALL มีธุรกิจค้าปลีกที่ครอบคลุมส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น โดยเป็นผู้นำทั้งในธุรกิจค้าส่งภายใต้แบรน MAKRO , ร้านธุรกิจสะดวกซื้อแบรนด์ 7-Eleven และธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนดด์ เทสโก้ โลตัส ซึ่งจากการที่เทสโก้ โลตัสในประเทศไทย มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยจำนวนสาขามากถึง 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Lotus Express อีกกว่า 1,574 สาขา และหากนำมาคำนวนจำนวนพื้นที่เช่าใน 191 สาขา จะเท่ากับว่ามีพื้นที่ คลอบคลุมเกือบ 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งทำให้ได้รับค่าเช่า ซึ่งเป็นรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ (หากไม่เกิดภาวะวิกฤตเช่นโรคระบาดดั่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้) อีกทั้งคาดว่าจะทำให้เกิด Synergy ในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ ขณะเดียวกันยังมีโอกาสขยายธุรกิจค้าปลีกในมาเลเซียที่มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซึ่งแนวโน้มจะส่งผลดีเป็นบวกในระยะยาว แต่ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจะกระทบกำไรในระยะสั้นเท่านั้น

สำหรับราคาหุ้นของ CPALL ไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดหนัก ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 76.00 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม2563 และลดลงต่ำสุดที่ 56.25 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม2563 โดยราคาหุ้นย้อนหลัง 5 ปีจะเห็นได้ว่าหุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดถึง 90.00 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม2561

สามเจ้าสัวค้าปลีก สิริวัฒนภักดี-เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น