xs
xsm
sm
md
lg

K-Research ชี้ COVID-19 ดันราคาไข่ไก่พุ่งตลอดปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มทิศทางที่ผู้บริโภคยังต้องเผชิญต่อราคาขายปลีกไข่ไก่ที่ยืนตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ต่อเนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่คงจะยังไม่คลี่คลายในระยะใกล้ หรือหากคลี่คลายได้ภายในครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติก็ยังต้องใช้เวลา อีกทั้งภัยแล้งที่อาจลากยาวหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลซึ่งจะมีผลต่อผลผลิตไข่ไก่ในระยะถัดไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางราคาขายปลีกไข่ไก่ในช่วงวิกฤตแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า ทิศทางราคาขายปลีกและความต้องการไข่ไก่ ที่สำคัญคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อรักษาความสมดุลของไข่ไก่ในระบบ ทั้งการดูแลกลไกราคาและการห้ามการส่งออก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาขายปลีกไข่ไก่สดที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เฉลี่ยทั้งปี 2563 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-9 บาท/ฟอง ซึ่งเป็นระดับราคาที่อาจแพงกว่าราคาขายปลีกไข่ไก่ในตลาดสด

ทั้งนี้ ไข่ไก่ โปรตีนขั้นพื้นฐานที่ปกติมีราคาถูก ตอบโจทย์การบริโภคของผู้บริโภคในทุกระดับ แต่เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ในบางพื้นที่ขาดตลาดและดันให้ราคาไข่ไก่สดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ดีดตัวขึ้น โดยข้อมูลจากทางการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้ว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่สดหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 (YoY) ขณะที่ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อไข่ไก่ได้อย่างทั่วถึงหรือต้องซื้อไข่ไก่ในราคาที่แพงกว่าปกติ สำหรับพื้นที่ที่ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หัวเมืองสำคัญตามภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา จังหวัดที่มีประชากรแรงงานและสถานประกอบการจำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่ติดชายแดนอย่าง กาญจนบุรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาไข่ไก่ที่ดีดตัวขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้แก้ผู้บริโภครายย่อย ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่ 1.ขยายระยะเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่ไปนอกประเทศไปอีก 30 วัน จากเดิมที่กำหนดเบื้องต้นไว้ชั่วคราว 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 2.ให้กรมปศุสัตว์แจ้งให้ฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศ ยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ยืนกรงออกไปจากเดิม 72 สัปดาห์ เป็น 80 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาด และ 3.กำหนดราคาไข่ไก่สดหน้าฟาร์มต้องไม่เกินราคาฟองละ 2.80 บาท

ขณะเดียวกัน จากผลผลิตไข่ไก่ที่ลดลงตามฤดูกาลและจากภัยแล้ง สวนทางความต้องการซื้อในช่วง COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ดันราคาไข่ไก่ปรับตัวสูง โดยพื้นฐานของสินค้า ไข่ไก่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีราคาอ่อนไหว โดยราคาจะปรับขึ้นลงตามสถานการณ์อุปสงค์และอุปทานในตลาด ณ ขณะนั้น อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวกำหนดราคาในแต่ละช่วง เช่น ต้นทุนการผลิต ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ภาวะโรค สภาวะอากาศ ฤดูกาลและช่วงเทศกาลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสำหรับสถานการณ์ราคาไข่ไก่ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ

1.สภาพอากาศร้อนที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตไข่ไก่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน: ปัจจุบันประเทศไทยเข้าหน้าร้อนตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของไก่ ทำให้เกิดภาวะเครียดและส่งผลให้อัตราการให้ไข่ของแม่ไก่ลดลง ประกอบกับในปี 2563 ภาวะภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง จึงทำให้ผลผลิตไข่ไก่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลทั้งจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเลี้ยงและสภาพอากาศที่กระทบต่ออัตราการให้ไข่ของแม่ไก่

2.ความต้องการไข่ไก่เพื่อการสำรองไว้บริโภค หลังภาครัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการ Lockdown ในหลายจังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 : แม้ผลผลิตไข่ไก่ในปัจจุบันเฉลี่ยที่ประมาณ 41.5 ล้านฟอง/วัน จะเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และผลผลิตกว่าร้อยละ 96 ก็เป็นไปเพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ความต้องการไข่ไก่ที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กันของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะต้องสำรองอาหารไว้ในยามที่ต้องการหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เป็นผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2563 เทียบกับภาวะปกติในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่เป็นช่วงปิดภาคการศึกษา ราคาไข่ไก่มักจะอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ความต้องการไข่ไก่ที่มีเพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกไข่ไก่ของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ จะหดตัวร้อยละ 64.3 (YoY) หรือมีปริมาณส่งออกอยู่ที่ราว 26.3 ล้านฟอง แต่ก็อาจยังไม่สะท้อนผลของสถานการณ์การดีดตัวของราคาไข่ไก่สดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมได้ชัดเจน โดยมีความเป็นไปได้ว่าปริมาณการส่งออกในเดือนมีนาคม 2563 อาจจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากคำสั่งซื้อในตลาดต่างประเทศที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งคงต้องรอตัวเลขเผยแพร่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากที่เกิดสถานการณ์ไข่ไก่ขาดตลาดขึ้น ภาครัฐก็ได้เข้ามาดูแลผลกระทบด้วยการห้ามการส่งออกไข่ไก่ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 แล้ว ซึ่งก็น่าที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้พอสมควร

แม้ว่าภาครัฐจะเข้ามาควบคุมราคาไข่ไก่สดหน้าฟาร์มและห้ามการส่งออกไข่ไก่ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงหลังจากนี้ ผู้บริโภคก็อาจจะยังมีแนวโน้มเผชิญต่อราคาขายปลีกไข่ไก่ที่ยืนตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ต่อเนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่คงจะยังไม่คลี่คลายในระยะใกล้ หรือหากคลี่คลายได้ภายในครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติก็ยังต้องใช้เวลา อีกทั้งภัยแล้งที่อาจลากยาวหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลซึ่งจะมีผลต่อผลผลิตไข่ไก่ ทำให้ความต้องการไข่ไก่เพื่อการบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศนั้น ในเดือนเมษายนน่าจะไม่มีหรือมีน้อยมาก และหลังจากนั้น ก็คงจะขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะขยายเวลาการห้ามส่งออกต่อไปอีกหลังสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้หรือจะมีมาตรการอื่นๆ เพื่อรักษาสมดุลไข่ไก่ในระบบอีกหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าในบางวันหรือบางจังหวะ ผลผลิตไข่ไก่ที่แม้โดยรวมมีเพียงพอ อาจจะไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ทำให้ในบางพื้นที่ยังอาจประสบกับภาวะไข่ไก่ไม่พอขาย หรือผู้บริโภคอาจยังต้องซื้อไข่ไก่ในราคาขายปลีกที่แพงกว่าปกติ โดยเฉพาะในระยะข้างหน้าหากภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวดขึ้น ก็อาจจะยิ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการผลิตและการขนส่งไข่ไก่ รวมทั้งความต้องการบริโภคไข่ไก่ได้ สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นั้น ราคาขายปลีกไข่ไก่อาจย่อตัวลงได้บ้างจากความต้องการบริโภคที่มักจะลดลงในช่วงเทศกาลกินเจ แต่หลังจากนั้นราคาก็มีโอกาสจะกลับมายืนสูงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่เทศกาลปลายปีต่อเนื่องถึงปีใหม่

จากปัจจัยดังกล่าว ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาขายปลีกไข่ไก่สดที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉลี่ยทั้งปี 2563 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-9 บาท/ฟอง ซึ่งอาจแพงกว่าราคาขายปลีกในตลาดสด


กำลังโหลดความคิดเห็น