xs
xsm
sm
md
lg

อานิสงส์โควิด-19 ระบาด แห่ตุนสินค้าดันยอดขาย CPF พุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นต้นขั้วของโรคดังกล่าว และลามมาถึงประเทศใกล้เคียงที่มีประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยว อย่างที่ทราบกันดีว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 น่ากลัวตรงที่จะไม่ออกอาการมาทันทีแต่มีระยะเวลาฟักตัวถึง 14 วันจึงจะแสดงอาการ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีมาตรการต่างๆ หรือจะป้องกันให้เต็มที่เพียงใดแต่ไวรัสตัวนี้ค่อนข้างป้องกันยาก เพราะจะผ่านการสัมผัสและหายใจใกล้ชิดกัน และในประเทศไทยเอง ตัวเลขของผู้ป่วยหลังจากนิ่งๆ มาระยะหนึ่ง ยอดผู้ป่วยพุ่งไปเกือบ 200 คน นั่นหมายถึงการระบาดลุกลาม ทำให้หลายคนวิตกกังวลมากขึ้น เพราะตัวเลขที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการแพร่กระจายมีมากขึ้นตามลำดับ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ป้องกันได้คือการไม่ไปในที่พลุกพล่าน รับประทานอาหารที่ปรุงเอง ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงหันไปกักตุนของกินและอื่นๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร เครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ปลากระป๋อง อาหารแห้ง รวมถึงกระดาษชำระ และผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาด จากห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรดมาสต๊อกไว้จำนวนมากเกินกว่าปกติ จนทำให้หลายห้างสินค้าหมดไปจากชั้นวาง ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นและกลายเป็นว่าแย่งกันซื้อเพื่อตุนไว้ในบ้านตนเอง

ดังนั้น เมื่อโรคระบาดแพร่กระจายอย่างไม่หยุดยั้ง คนเราล้วนหาวิธีป้องกันตัวเอง สิ่งแรกที่ทำได้ง่ายๆ คือคนเราต้องอยู่ห่างกัน ไม่อยู่ในที่แออัดเพื่อป้องกันในการติดหรือรับเชื้อและป้องกันไม่ให้ไปรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย "อาหาร"
คือสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติ อุตสาหกรรมอาหารกลายเป็นพระเอกในเวลานี้ และบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ผลิตอาหารในทุกรูปแบบได้รับอานิสงส์จากวิกฤตไวรัสระบาดในครั้งนี้

กลุ่มบริษัทซีพีเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีธุรกิจหลักคืออาหารและการเกษตรผ่านทางบริษัทลูกอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ซึ่งมีรายรับปีหนึ่งๆ หลายพันล้านบาท ภายใต้ปณิธานการเป็น “ครัวของโลก”

การผลิตอาหารแปรรูปเพื่อจำหน่ายถือเป็นความได้เปรียบทางการตลาดอย่างหนึ่ง ของบริษัท เพราะต้องยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของตลาดคงจะไม่ผิด และยิ่งในสภาวะที่ไวรัสระบาดผู้บริโภคหันไปซื้อแบบ Delivery แทน ตลอดจนการซื้ออาหารแปรรูปเพื่อตุนไว้เป็นเสบียง โดยไม่จำเป็นต้องออกนอกบ้าน กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะไม่ต้องการเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น CPF จึงได้รับผลดีเต็มๆ อีกทั้งการขายสินค้าผ่านช่องทางของบริษัทในเครือเดียวกันอย่าง ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น หรือแม้แต่ห้างเทสโก้ โลตัส ที่เพิ่งเข้าไปซื้อมา กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยในการระบายสินค้า

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPFกล่าวว่า การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในฟาร์มไก่ที่เมืองเชาหยาง มณฑลหูหนานของจีนเมื่อเดือนก่อน ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจไก่ของบริษัท เพราะมีสัดส่วน 2% ของยอดขายรวม และโรคไข้หวัดนกมีการระบาดในประเทศจีนมากกว่า 10 ปีแล้ว และเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ทำให้รัฐบาลจีนมีประสบการณ์และอนุญาตให้ใช้วัคซีนได้ ตลอดจนยังมีการจัดการป้องกันโรคและการกำจัดซากสัตว์ตามมาตรฐานสากล ช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“เนื้อไก่จากประเทศไทยยังมีโอกาสส่งออกไปยังประเทศจีนอีกมาก เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ไทยมีการส่งออกเนื้อไก่ไปจีน 70,000 ตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 150,000 ตันในปีนี้ เพราะจีนจะอนุมัติโรงงานของไทยเพิ่มขึ้นอีก จากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้จีนมุ่งเน้นปรับปรุงภาคการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของประชาชนมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน ธุรกิจสุกรยังได้รับผลดีจากระดับราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้ยอดขายปี 2563 ของ CPF สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 600,000 ล้านบาท

ซื้อเทสโก้ โลตัสเพิ่มช่องทางจำหน่าย

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนในเทสโก้เอเชีย เนื่องจากเป็นการต่อยอด Value Chain ของช่องทางการขายสินค้าของบริษัททั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียและเป็นการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค ด้วยซีพีเอฟมีแนวทางในการปรับรูปแบบของการค้าเนื้อสัตว์ให้ผ่านช่องทางที่ทันสมัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น บริษัทจึงมั่นใจว่าการลงทุนในครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการที่จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยและมาเลเซียมีทางเลือกในการบริโภคเพิ่มขึ้นในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว

การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้ทำให้ยอดขายทั้งของเทสโก้และ CPF เพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากเทสโก้เอเชียเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าการผนึกกำลังกับเทสโก้เอเชียน่าจะส่งผลเสริมให้ผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้วนั้นดียิ่งขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนี้ดีลการเข้าซื้อกิจการห้างเทสโก้ โลตัส ของกลุ่ม “เจริญโภคภัณฑ์” หรือ CP ซึ่งเป็นการซื้อกิจการบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores ของประเทศ Malaysia ด้วยมูลค่าการซื้อขายประมาณ 3.38 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 3 สาย คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และหุ้นในสัดส่วน 40%, 40% และ 20% ตามลำดับ

ดังนั้น หมายถึงในส่วนของ CPF จะใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.79 หมื่นล้านบาทในการซื้อกิจการของโลตัสครั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะส่งผลประโยชน์ทำให้ยอดขายทั้งของเทสโก้และ CPF เพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากเทสโก้เอเชียเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผนึกกำลังกับเทสโก้ เอเชีย น่าจะส่งผลเสริมให้ผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้วนั้นดียิ่งขึ้นได้อีก

เพราะปัจจุบันเทสโก้ในไทยมีร้านค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เกต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา ส่วนเทสโก้ในประเทศมาเลเซีย มีไฮเปอรมาร์เกต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เกต 13 สาขา และร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และยังประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าจำนวน 56 สาขา โดยให้บริการลูกค้ากว่า 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ ผ่านทั้งช่องทางที่เป็นออฟไลน์ (สาขา) และออนไลน์ นั่นจึงจะเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของ CPF โดยเฉพาะอาหารสดผ่านช่องทางเทสโก้เพิ่มขึ้นอีกมาก

ขณะที่ผลประกอบการของเทสโก้ในไทยปี 2560 รายได้ 2.18 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 9.11 พันล้านบาท ปี 2561 รายได้อยู่ที่ 1.96 แสนล้านบาท ลดลง 10% กำไรสุทธิ 9.62 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่ปี 2562 รายได้ 1.88 แสนล้านบาท ลดลงอีก 4% กำไรสุทธิ 7.81 พันล้านบาท ลดลง 19% ขณะที่เทสโก้มาเลเซียนั้นปี 2562 ยังมีผลขาดทุนอยู่ 339 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การซื้อกิจการครั้งนี้ CPF มีกระแสเงินสดจากธุรกิจ 40,608 ล้านบาท เงินสดในมือ 32,094 ล้านบาท มีหนี้สินชำระภายใน 1ปี 42,727 ล้านบาท มี D/E 2.47 เท่า

CPF ทุ่มหมื่นล้านซื้อหุ้นคืน 400 ล้านหุ้น

เช้าวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.55% หรือ 1 บาท อยู่ที่ 23 บาททันที หลังจากบริษัทแจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ครั้งที่ 3/2563 มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท จำนวนหุ้นซื้อคืน 400 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 4.65% ของจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วหรือคิดเป็น 25 บาท/หุ้น กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2563

ทั้งนี้ งบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2562 บริษัทมีกำไรสะสมจำนวน 53,294 ล้านบาท ซึ่งการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับการซื้อหุ้นคืนดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อผู้ถือหุ้น คือ จะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลสูงขึ้นเพราะหุ้นที่ CPF ซื้อคืนจะไม่ได้รับเงินปันผล และส่งผลบวกให้ ROE สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ CPF มีเงินสดในงบเฉพาะกิจการ ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 1.1 พันล้านบาท และ CPF แจ้งว่าได้คาดการณ์ CFO ในงวดครึ่งแรกของปี 63 อยู่ที่ราว 2.7 หมื่นล้านบาท เพียงพอต่อโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้

ขณะที่วานนี้ราคาหุ้นเปิดเทรดช่วงเช้าที่ 20.50 บาท และปิดตลาดช่วงเช้าที่ 21.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 674.19 ล้านบาท

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น