xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ ให้ “ซื้อ” เก็บ ผลดีโควิด-19 คนตุนอาหารสำเร็จรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ประสานเสียงให้ “ซื้อ” ของ “เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เหนือราคา 35 บาท มองผลดีจากไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักประชาชนแห่ตุนสินค้าสำเร็จรูป อีกทั้งการเข้าซื้อ เทสโก้ โลตัส หนุนช่องทางการจำหน่ายอีกมหาศาล เชื่อผลประกอบการเติบโตสวยงาม

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF จะซื้อหุ้นคืนในจำนวนไม่มาก เพราะ CPF มีแผนในการลงทุนซื้อกิจการกลุ่มเทสโก้เอเชียในสัดส่วน 20% ของทุนชำระแล้ว ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ CPF มีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนสุทธิ ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นมาที่ 1.5 เท่า ยังต่ำกว่าระดับนโยบายที่ 2 เท่า

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของธุรกิจหลักในปี 63 คาดกำไรสุทธิปี 63-64 จะเพิ่มขึ้น 16.8% และ 4.7% ตามลำดับ ขณะที่คาดกำไรปกติปี 63-64 จะเพิ่มขึ้น 18.9% และ 11.4% ตามลำดับจากธุรกิจหมูในไทยและเวียดนามฟื้นตัวชัดเจน โดยล่าสุดราคาหมูไทยล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นถึง 9.7% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 68 บาท/กก. นอกจากนี้ ตลาดส่งออกไก่ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะหนุนให้แนวโน้มกำไรปกติงวดไตรมาส 1/63 จะเติบโตชัดเจนจากงวด ไตรมาส 4/62 ราคาหุ้นปัจจุบันปรับฐานไปมาก จนมี Valuation น่าสนใจ มีค่า PER เพียง 8 เท่า และสามารถคาดหวัง Dividend Yield ได้เฉลี่ย 3-4% ต่อปี แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 40 บาท/หุ้น

บล.กสิกรไทย แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 33.50 บาท/หุ้น เพราะมองว่า CPF ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนด้วยวงเงินไม่เกิน 1.0 หมื่นล้านบาท หรือไม่เกิน 400 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.65% ต่อจำนวนหุ้นทั้งหมด และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น แม้จะชดเชยความผันผวนของตลาดในขณะนี้ได้ไม่ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็คาดว่าจะทำให้ EPS และ ROE ปรับสูงขึ้น ดังนั้น คงคำแนะนำ "ซื้อ" ด้วยราคาเป้าหมายที่ 33.50 บาท โดยยังเชื่อว่า CPF จะมีการเติบโตด้านกำไรธุรกิจหลักที่ดีในปี 2563

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มอาหาร คาดว่าปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังก่อให้เกิดการกักตุนอาหารไปในช่วงตลอดไตรมาสแรกปีนี้ คาดหุ้นที่จะได้รับผลดีนอกเหนือจาก CPF ที่ผลิตหมูและไก่แล้ว ดังนั้นจึงคงแนะนำซื้อหุ้น CPF ให้ราคาเป้าหมายที่ 35 บาทต่อหุ้น

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำซื้อหุ้น CPF ให้ราคาเป้าหมายที่ 34.50 บาทต่อหุ้น ประเมินว่าการเกิด โรคระบาดโควิด-19 เป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมอาหาร เพราะยังมีการบริโภคในครัวเรือน และผู้บริโภคหันไปซื้อแบบ Delivery แทน ขณะที่โรคระบาด ASF ยังทำให้ราคาหมูในเวียดนามสูงกว่าต้นทุนการเลี้ยง และการส่งออกไก่ไทยมีโอกาสไปจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงยังได้รับผลดีจากราคาถั่วเหลืองที่ทรงตัว ยังไม่กระทบต่อต้นทุนอาหารสัตว์

ขณะการเข้าซื้อ Tesco Lotus ประเทศไทยและมาเลเซีย (เป็น Hyper market อันดับ 1 ของทั้ง 2 ประเทศ) ผ่านบริษัทย่อยชื่อ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ในสัดส่วน 20% ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 47,991 ล้านบท ต้องมาดูกันต่อไปว่าดีลนี้จะจบลงในไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่ เพราะมูลค่าซื้อกิจการรวมทั้ง 100% ไม่เกิน 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ากิจการที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ที่ราว 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.38 แสนล้านบาท เทียบกับกำไร Tesco ไทยและมาเลเซียรวมราว 7.4 พันล้านบาท เทียบเท่า PER 45 เท่า ต่ำกว่าตอนซื้อ Makro สูงถึง 46x แต่ Tesco มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ซ้อนอยู่จำนวนมาก สามารถปลดล็อกมูลค่าได้ในอนาคตมีพื้นที่เกือบ 1 ล้าน ตร.ม. และที่ดินที่ตั้งของ Hyper market ล้วนเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ การประเมินมูลค่ากิจการได้คิดรวมผลกระทบจาก TFRS16 ไว้ด้วยแล้ว หากไม่รวมมูลค่าจะต่ำลง แต่หากพิจารณาเชิง EV/EBITDA จะอยู่ที่ 12.5x เทียบกับในอดีตที่เคยทำกับ Makro ที่ 28x และ BJC ซื้อ Big C ที่ 16x ซึ่ง CPF ใช้เงินลงทุนทั้งหมดจากการกู้เงินที่ 47,991 ล้านบาท ทำให้หนี้ที่มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 14% แต่ผู้บริหารเชื่อว่าดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ทำให้สุทธิแล้ว CPF จะมีกำไรสุทธิจากดีลนี้ตั้งแต่วันแรก

บล.หยวนต้า แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 39 บาท เพราะมองว่า CPF ได้ช่องทางการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันช่องทางค้าปลีกผ่าน Modern trade เป็นจุดอ่อนของ CPF ปัจจุบันมีรายได้ผ่านการจำหน่ายผ่าน Tesco เพียงประมาณ 700 ลบ./ปี ซึ่ง Tesco ครองส่วนแบ่งตลาด Hyper market ถึง 70% คาดว่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3-5 เท่าตัว รวมถึงเพิ่มช่องทางการเติบโตของแบรนด์ “ห้าดาว” อีกทั้งการเข้าบริหารพื้นที่ศูนย์อาหารใน Hyper market เพิ่มช่องทางการกระจายเนื้อสัตว์ไปยังมาเลเซีย

บล.ทรีนีตี้แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 39 บาท/หุ้น ซึ่งการลงทุน 20% ใน Tesco (ไทยและมาเลเซีย) กลุ่ม CP เป็นผู้ชนะประมูลซื้อกิจการ Tesco ในประเทศไทยและมาเลเซียด้วยมูลค่าเบื้องต้น 3.38 แสนล้านบาท ซึ่ง CPF ต้องลงทุน (ผ่าน C.P. Merchandising) นั้นจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และเงินกู้ยืม ในกรณีที่คิดเป็นเงินกู้ยืมทั้งหมดจะทำให้ Net D/E ของ CPF เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่า จากเดิมที่ 1.4 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่า Covenant ที่ 2.0 เท่า จึงมองว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มทุน อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า CPF จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2563 อีกราว 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมทั้งหมด

ดีลนี้คาดมีผลกระทบต่อกำไรของ CPF ไม่มาก เพราะหากไม่รวมผลบวกจาก Synergy คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบต่อกำไรของ CPF ราว 400 ล้านบาท ถึง 1.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นราว 2.2-5.7% ของกำไรปี 2563 ของ CPF และ Synergy ที่เกิดขึ้นจะช่วยหนุนยอดขายของ CPF ในอนาคต คือ CPF สามารถนำสินค้า ทั้งในส่วนอาหารสด และสินค้าที่เป็นแบรนด์ของ CPF เข้าไปขายใน Tesco (ไทย และมาเลเซีย) ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนรายได้และกำไรของ CPF ในอนาคต แต่มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยระยะยาว อาจยังไม่รวมเข้าไปในประมาณการในระยะเวลาอันสั้นนี้ และการลงทุนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อเงินทุนและกำไรของ CPF มากอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า จึงยังคงราคาเป้าหมายเดิมที่ 39 บาท และคำแนะนำ “ซื้อ”


กำลังโหลดความคิดเห็น