xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บิ๊กดีล CP ซื้อ Tesco Lotus 3 แสนล้าน “ลูกรักคนเล็ก” คืนอ้อมอก “เจ้าสัวธนินท์” สมรภูมิค้าปลีกไทยเร้าใจอย่างแน่นอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปิดบิ๊กดีลประวัติศาสตร์กลุ่มซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส 3 แสนล้านบาท ชนิดที่เรียกว่าสะท้านสะเทือนทั้งวงการ เพราะนั่นหมายถึงการเข้าครองอาณาจักรค้าปลีกมูลค่า 7 แสนล้าน ครอบคลุมตั้งแต่การค้าส่งใต้ร่มธง “แม็คโคร” ไฮเปอร์มาร์เก็ต “เทสโก้ โลตัส” และร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ขึ้นแท่นยืนหนึ่งในฐานะผู้นำตลาดขาดลอย แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีกันเลยทีเดียว

ทั้งเป็นดีลที่ดีต่อใจ “เจ้าสัวธนินท์” นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ที่ได้ “ลูกรักคนเล็ก” กลับคืนมา หลังจำใจตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ เมื่อคราวเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่เครือซีพีต้องปล่อยขาย “โลตัส” ให้กับ เทสโก้ แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เทสโก้ โลตัส” อย่างที่รู้กัน

ด้วยความอาวรณ์ตลอดมาในการให้สัมภาษณ์แทบทุกครั้ง แม้กระทั่งในวันที่เจ้าสัวธนินท์ พูดในงาน “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” เมื่อไม่นานมานี้ ยังบอกว่า “โลตัสนี่ถ้าเราจะซื้อกลับ ทางอังกฤษเขาบอกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ”

แล้วในที่สุดวันนั้นก็มาถึง 9 มีนาคม 2563 วันที่ตลาดหุ้นดิ่งหนักสุดในรอบ 5 ปี กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เคียงคู่มากับข่าวใหญ่กลุ่มซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส สำเร็จ เบียดกลุ่มเซ็นทรัล กับกลุ่มทีซีซีกรุ๊ป ตกขอบ โดยคิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท

ดีลครั้งนี้ เครือซีพี ได้จัดตั้งบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด เข้าทำธุรกรรมการซื้อขายครั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งดังกล่าว ถือหุ้นโดย เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง 40%, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 40% และอีก 20% ที่เหลือถือโดยบริษัท ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)

CPALL ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าได้ลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (“เทสโก้ประเทศมาเลเซีย”) ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในมาเลเซีย ทั้งนี้ เทสโก้ ประเทศไทย และเทสโก้ มาเลเซีย ต่อไปรวมกันเรียกว่า “กลุ่มเทสโก้เอเชีย”

การลงทุนดังกล่าวของบริษัทจะเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด โดยเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 95,981ล้านบาท

ส่วน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CMP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด ลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จํากัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd.

การลงทุนดังกล่าวของ CPM จะเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด โดยเงินลงทุนของ CPM ในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับประมาณ 47,991 ล้านบาท

สำหรับ Tesco Lotus ในไทย มีร้านค้าในรูปแบบต่างๆ และพัฒนามาเป็นแบรนด์ธุรกิจค้าปลีก ประกอบด้วย ร้านค้าไฮเปอร์มาร์เกต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2562) ณ งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 มีรายได้รวมราว 1.89 แสนล้านบาท ลดลง 4% จากปี 2561 แต่ถ้าเทียบกับปี 2560 รายได้รวมลดลงกว่า 13% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 7.82 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2561 เกือบ 19%

ส่วน Tesco ในมาเลเซีย มีไฮเปอร์มาร์เกต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เกต 13 สาขา และร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562) และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า จำนวน 56 สาขา ณ งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 มีรายได้รวมราว 3.36 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 7.655/ริงกิต) เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% และ 1.4% จากปี 2561 และปี 2560 ตามลำดับ โดยมีขาดทุนสุทธิ 339.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีกำไร 174.6 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิโตลดลงเกือบ 300%

ตัวเลขผลประกอบการที่ถดถอยลงทั้งในไทยและมาเลเซีย ซึ่งเป็นฐานทัพสุดท้ายในภูมิภาคเอเชีย ทำให้กลุ่ม Tesco Plc.ตัดสินใจขายกิจการเพื่อกลับไปโฟกัสในตลาดหลักที่อังกฤษและยุโรป


อย่างไรก็ตาม บิ๊กดีลคราวนี้ จะสำเร็จครบถ้วนต้องฝ่าด่านอีก 3 ด่าน คือ 1.มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Tesco UK สำหรับการขายหุ้นในกลุ่มเทสโก้เอเชีย 2.สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) อนุญาตให้ทำรายการ และ 3.ได้รับอนุญาตจาก Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia ทั้งนี้ คาดว่าการเข้าทำรายการน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2563 นี้

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการ สขค. ชี้แจงว่า ผู้ที่จะรวมธุรกิจดังกล่าว เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ อาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาตรวมธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 โดย สขค.จะรอการยื่นเอกสารการขออนุญาตรวมธุรกิจเพื่อนำเสนอคณะกรรมการการแข่งขันทางการพิจารณา

ตามกรอบ สขค.จะต้องศึกษาวิเคราะห์ขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้อง และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า รวมทั้งผู้บริโภค โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะพิจารณาว่าเห็นควรอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการยื่นขออนุญาตรวมธุรกิจกับทางสำนักงานฯ และหากมีความจำเป็นสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน

ประเด็นผูกขาดหรือไม่นี้ “เจ้าสัวธนินท์” ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อออนไลน์ “THE STANDARD” เอาไว้ว่า “แม็คโครคือค้าส่ง โลตัสคือค้าปลีก 7-Eleven คือร้านสะดวกซื้อ มันคือสามธุรกิจ ทั่วโลกจะไม่เอามารวมกัน ธุรกิจคนละแบบ ถ้าผมซื้อมาจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าตอนเทสโก้ซื้อจากผมไป ก็มีคู่แข่งอย่างบิ๊กซีอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อตอนนี้ เขาก็แข่งกันอยู่ ถ้าผมซื้อก็คือคู่แข่งเดิม แทนที่จะอยู่มือในคนอังกฤษ ก็มาอยู่ในมือของคนไทย”

“การแข่งขันเหมือนเดิม เพราะว่าก็ยังมีคู่แข่งอยู่เหมือนเดิม แล้ววันนี้ที่แข่งกันอยู่มีใครเสียเปรียบไหม เราซื้อมาก็แข่งอยู่ บิ๊กซีก็ยังอยู่ ผมไม่ได้ซื้อบิ๊กซี ผมซื้อเฉพาะเทสโก้ โลตัส แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสะดวกซื้อ มันคนละเรื่อง ร้านสะดวกซื้อคนเดินมาซื้อเพราะสะดวกใกล้บ้าน แม็คโครก็ขายส่ง ขายถูก เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันแข่งกันอยู่แล้ว แต่ถ้าผมซื้อมาแล้วไม่มีใครแข่ง อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

สำหรับในมุมมองของบรรดาโบรกเกอร์ ต่างมองบิ๊กดีลครั้งนี้เป็นบวก โดย บล.เอเชียพลัส วิเคราะห์ว่า สำหรับ CPALL การซื้อหุ้นผ่านโครงสร้างบริษัทโฮลดิ้งดีกว่าจากที่คาดว่าจะเป็นการซื้อโดย CPALL ทั้งหมด เป็นการลดความกังวลเรื่องความเสี่ยงฐานทุน ขณะที่ระยะยาวจะเป็นผลดีในการช่วยต่อยอดภาพธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มให้มีความแข็งแกร่งขึ้น

กล่าวคือ มีรูปแบบห้างค้าปลีกที่ครบวงจร ร้านค้าส่ง แม็คโคร (MAKRO), ไฮเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ (Tesco) และร้านสะดวกซื้อ 7/11 มีส่วนแบ่งตลาดทุกรูปแบบในประเทศเป็นอันดับ 1 (ร้านสะดวกซื้อ 13,300 สาขา จากเดิม 12,000 สาขา, ห้างค้าส่ง ในประเทศ 94 สาขา (เท่าเดิม) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (Tesco+ Food Service MAKRO) 431 สาขา จากเดิม 40 สาขา

และภาพรวมจะมีส่วนแบ่งตลาดห้างโมเดิร์นเทรด ในไทยรวมสูง 43.5% จากเดิม 31.9% ขณะที่ช่องทางต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 76 สาขา จากเดิม 7 สาขา และเพิ่มประเทศที่เข้าไปดำเนินงาน 1 แห่ง คือ มาเลเซีย จากเดิมมี กัมพูชา, เมียนมาร์, จีน และอินเดีย ประการสำคัญ คือช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น

ส่วน CPF จะได้ผลบวกจากการเข้าลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย ในระยะยาว จากการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าซีพีเอฟ โดยปัจจุบันซีพีเอฟ มียอดขายผ่านเทสโก้ในไทย 700 ล้านบาท/ปี สอดคล้องกับการซื้อกิจการแม็คโครของซีพีออลล์ในปี 2556 ที่ซีพีเอฟ มียอดขายผ่านแม็คโคร 500 ล้านบาท/ปี แต่ปัจจุบันมี 10,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังช่วยการลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง และการพัฒนาบริการให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการบริหารศูนย์อาหารในเทสโก้

ทางด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองว่า การใช้เงินลงทุนน้อยกว่าที่คาดจึงคลายความกังวลด้านการเพิ่มทุน โดยประเมินว่าในช่วง 1-2 ปี กำไรของ CPALL จะถูกกระทบจากดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมมาลงทุน แต่ในระยะยาวคาดจะเป็นบวกจากการมีธุรกิจค้าปลีกที่หลากหลายและได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อหุ้นเทสโก้ โลตัส

ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า การไม่เพิ่มทุนแต่กู้แทนนั้น การกู้จะกระทบกำไรของ CPALL ปี 2021 ราว 2-4% กระทบราคาเป้าหมาย 2-4 บาท (ปัจจุบัน 85 บาท) กระทบกำไร CPF 2-5% กระทบเป้า 0.4-2 บาท (ปัจจุบัน 36 บาท) และ CPF จะได้ Synergy ก่อน CPALL แนะนำซื้อ CPF ส่วน CPALL อ่อนตัวซื้อ และระวัง TFG ที่อาจขายสินค้าเข้าเทสโก้ โลตัส ไม่ได้มากเท่าปัจจุบัน

การเสริมทัพแกร่งเพื่ออนาคตอันยาวไกล มองย้อนหลังจากช็อตก่อนหน้าที่กลุ่มซีพี ซื้อคืนแม็คโคร เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในราคา 188,000 ล้านบาท ซึ่งแม็คโครเวลานั้นมีจำนวน 57 สาขา และกลุ่มซีพีได้สิทธิ์ในการขยายแม็คโครไปยังต่างประเทศ มาถึงวันนี้ แม็คโคร ซึ่งซื้อโดย CPALL นั้น เติบโตมีรายได้และกำไรงดงาม โดยปี 2561 มีจำนวนสาขาในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 129 สาขา และเพิ่มอีก 7-8 สาขาในปี 2562 ส่วนต่างประเทศ เพิ่มเป็นประมาณ 8 สาขา ในกัมพูชา อินเดีย จีน และเมียนมาร์

ส่วนยอดขายและกำไร 5 ปีย้อนหลัง เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 2558 ยอดขาย 155,917 ล้านบาท กำไร 5,378 ล้านบาท ปี 2559 ยอดขาย 172,790 ล้านบาท กำไร 5,412 ล้านบาท ปี 2560 ยอดขาย 186,754 ล้านบาท กำไร 6,178 ล้านบาท ปี 2561 ยอดขาย 192,930 ล้านบาท กำไร 5,941 ล้านบาท และ ปี 2562 ยอดขาย 206,180 ล้านบาท เติบโต 9.3% กำไรสุทธิ 6,244 ล้านบาท

ตอนที่ซื้อแม็คโครคราวก่อนเมื่อเดือนเมษายน 2556 นั้น เจ้าสัวธนินท์ ก็มั่นใจว่า “เราไม่ได้ซื้อ makro ในราคาแพงอย่างที่ใครคิด เพราะการซื้อครั้งนี้เหมือนเป็นการซื้อเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่พิมพ์ได้จำนวนมาก แถมพิมพ์เร็ว เครื่องไม่เสีย....”

“.... แพงไม่แพง มูลค่าอยู่ที่ว่าใครซื้อ และคุณค่าของการซื้ออยู่ตรงไหน ซึ่งแม็คโครจะนำซีพีออลล์ไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างสบาย เมื่อตอนบิ๊กซีซื้อคาร์ฟูร์ คนก็บอกว่าแพง แต่วันนี้ราคาหุ้นบิ๊ิกซีสูงขึ้นมาก แม็คโครตอนนี้มีอายุ 25 ปี เหมือนลูกที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย มีการสะสมความรู้ ความสามารถ กำลังจะเติบโต ถ้าไม่ใช่เพราะเจ้าของต้องการออกจากธุรกิจนี้ คงไม่ขาย ถ้าเป็นผมต่อให้ราคาสูงกว่านี้อีก 3-4 เท่าก็ไม่ขาย"

ส่วนการซื้อเทสโก้ โลตัส นั้น “เจ้าสัวธนินท์” ก็วางเป้าชัดว่า “ผมจะทำให้รายได้มากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว เราต้องทำตัวให้เบา บริหารจัดการให้ดีเยี่ยมกว่าเดิม ใช้เทคโนโลยีใหม่ ซอฟต์แวร์ใหม่เข้ามาให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น เร็วขึ้น พัฒนาระบบออนไลน์ส่งถึงบ้าน ซึ่งจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงาน ไม่ใช่ทำแบบเก่า ต้องทำแบบใหม่ให้เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ โลกกำลังเปลี่ยน ต้องทำให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง”

การจับจังหวะโอกาสและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ทำให้เครือซีพี พุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า การที่เทสโก้ โลตัสกลับคืนสู่อ้อมอกของเครือซีพี ทำให้ เกมรบค้าปลีกโมเดิร์นเทรดระหว่าง เทสโก้ โลตัส กับ “บิ๊กซี” น่าสนใจมากขึ้น และคงต้องจับตากันต่อไปว่า “กลุ่มไทยเบฟฯ” ของ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” จะมีการปรับยุทธศาสตร์ในการรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้อย่างไร.


กำลังโหลดความคิดเห็น