xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกไทยสิ้นยุคต่างชาติครอบงำ สู่อุ้งมือนายทุนไทยกินรวบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ซีพีเข้าฮุบเทสโก้ โลตัส มูลค่า 338,445 ล้านบาท ตอกย้ำนายทุนไทยกินรวบโมเดิร์นเทรดเบ็ดเสร็จ เปลี่ยนจากอดีตที่ต่างชาติครอบงำตลาดค้าปลีกไทย เปิดสูตรเทกโอเวอร์เทสโก้ พร้อมขุมพลังเครือข่ายโมเดิร์นเทรดซีพี งานนี้ใครกล้าขวาง

การเข้าครอบครองกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยกับในประเทศมาเลเซียของเครือซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์ ที่เอาชนะคู่แข่งรายใหญ่จากไทยอีก 2 กลุ่มที่เข้าร่วมประมูลเช่นกัน คือ ไทยเบฟ ของตระกูลสิริวัฒนภักดี และเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ กลายเป็นการตอกย้ำถึงสถานการณ์ค้าปลีกค้าส่งในไทยที่ตกอยู่ในกำมือของนายทุนไทยอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เครือซีพี” ที่แทบจะกล่าวได้ว่าอยู่ในสถานภาพผูกขาดและกินรวบในทุกเซกเมนต์ของตลาดค้าปลีกทั้งระบบ

*** ขุมพลังเครือข่ายโมเดิร์นเทรดของซีพี

นับตั้งแต่คอนวีเนียนสโตร์ที่มีเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นหัวหอกหลัก ทะลวงทุกพื้นที่ ด้วยสาขาที่มากกว่า 10,000 สาขาไปแล้วในเวลานี้ ทิ้งห่างคู่แข่งหลายช่วงตัวจนแทบไม่เห็นฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น แฟมิลี่มาร์ทของค่ายเซ็นทรัล หรือลอว์สัน 108 ของเครือสหพัฒน์

เซเว่นอีเลฟเว่นมีแผนที่จะขยายสาขาในปี 2563 นี้อีกไม่ต่ำกว่า 700 สาขา ตามคำประกาศของ นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังระบุด้วยว่า การขยายตัวเท่านี้เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ปัจจุบันร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในไทยมีประมาณ 10,000 สาขา มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นมากที่สุด

ทั้งนี้ ปี 2564 มีเป้าหมายที่จะขยายในไทยให้ได้ถึง 13,000 สาขา เรียกได้ว่าเปิดกันทุกตรอกซอกซอยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้ นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ Chief Financial Officer บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซีพีออลล์ ได้เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทฯ ว่า ปี 2562 มีรายได้รวม 571,110 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2561 ประมาณ 8.3% มีกำไรสุทธิ 22,343 ล้านบาท เติบโต 6.8%

สำหรับรายได้ของ CPAll มาจาก 3 ส่วน คือ 1. ร้านสะดวกซื้อ (7-11) สัดส่วนมากที่สุด 59%, 2. ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สัดส่วน 34% และ 3. ธุรกิจอื่นๆ 7%

ผลการดำเนินงานปี 2562 ของบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 124,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อน จากการเติบโตของรายได้จากการขายของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจแม็คโครและธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ

ในเซกเมนต์แคชแอนด์แคร์รี มีแม็คโครเป็นอาวุธหลัก โดยผลประกอบการของแม็คโครและบริษัทย่อย ใน ปี 2562 มีรายได้รวม 210,627 ล้านบาท มากกว่าปี 2561 ที่มีรายได้รวม 192,930 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีกำไรรวม 6,184 ล้านบาท มากกว่าปี 2561 ที่มีกำไร 5,872 ล้านบาท

แนวทางการรุกขยายกิจการของแม็คโครเองก็มีต่อเนื่องเช่นกัน อาจจะไม่รุนแรงและรวดเร็วเท่ากับเทสโก้ โลตัส หรือเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะแม็คโครเป็นธุรกิจที่เจาะกลุ่มผู้ประกอบการเป็นหลัก ทั้งนี้ แต่ละปีจะลงทุนเฉลี่ย 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งปีที่แล้ว (2532) ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในไทย 5,800 ล้านบาท ขยายสาขา 7-8 แห่ง ปรับปรุงสาขาเดิม และระบบสารสนเทศ ส่วนอีก 2,700 ล้านบาทจะลงทุนในต่างประเทศ เปิดสาขาใหม่ในจีน 1-2 สาขา และจะเปิดสาขาแรกในประเทศพม่า โดยบริษัทมีสาขาในต่างประเทศแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ ในกัมพูชา 2 สาขา และในอินเดีย 3 สาขา

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดที่มีการระบุไว้คือเมื่อปีที่แล้ว แม็คโครมีสาขารวม 129 สาขา แบ่งเป็น ศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโครคลาสสิก 79 สาขา, แม็คโครฟูดเซอร์วิส 25 สาขา, อีโคพลัส 13 สาขา, แม็คโคร ฟูดชอป 5 สาขา และสยามโฟรเซ่น 7 สาขา


*** เปิดสูตรซื้อเทสโก้ โลตัสไทย-มาเลเซีย

ล่าสุดการรุกคืบสู่ไฮเปอร์มาร์เกตด้วยแบรนด์เทสโก้ โลตัส ของเครือซีพี

เทสโก้ โลตัส ถือเป็นพี่ใหญ่ในวงการโมเดิร์นเทรดเมืองไทยก็ว่าได้ในช่วงที่ผ่านมา

วันนี้ตกอยู่ในมือของเครือซีพี ก็สมน้ำสมเนื้อแล้ว ด้วยมูลค่าซื้อขายมากถึง 338,445 ล้านบาท

โดยเครือซีพีได้ตั้ง บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่จะเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายครั้งนี้ โดยบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวจะถือหุ้นโดยเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง 40%, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 40% และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ถือหุ้น 20%

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน สัดส่วนไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ (ก.) บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เทสโก้ประเทศไทย) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย และ (ข.) Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย

บริษัทจะลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 95,981 ล้านบาท

ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทที่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้นทั้งหมด ลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน สัดส่วนไม่เกิน 20% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ (ก.) เทสโก้ประเทศไทย และ (ข.) เทสโก้ประเทศมาเลเซีย

บริษัทจะลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยเงินลงทุนของ CPM ในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 47,991 ล้านบาท

ส่วนหุ้นอีก 40% ในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะถือโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด


นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟสนใจเข้าร่วมลงทุนในเทสโก้เอเชีย เพราะเป็นการต่อยอด Value Chain ของช่องทางการขายสินค้าของบริษัททั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย และมีแนวทางในการปรับรูปแบบของการค้าเนื้อสัตว์ให้ผ่านช่องทางที่ทันสมัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้ทำให้ยอดขายทั้งของเทสโก้และซีพีเอฟเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ รายการลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่กำหนดไว้สำเร็จครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Tesco UK สำหรับการขายหุ้นในกลุ่มเทสโก้เอเชีย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอนุญาตให้ทำรายการ (หากต้องมีการขออนุญาต) และได้รับอนุญาตจาก Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia ทำรายการในประเทศมาเลเซีย โดยคาดว่าการเข้าทำรายการน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 63 นี้

วันนี้เทสโก้โลตัสกลับมาอยู่ในมือของเจ้าสัวธนินท์อีกครั้ง หลังจากที่รอคอยมานานกว่า 20 ปี

นี่คือแขนขาของเครือซีพีในการยึดสมรภูมิค้าปลีกไทย ที่ว่ากันว่ามีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท


*** ย้อนอดีตทุนต่างชาติครอบงำ
หากในอดีต 20-30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าโมเดิร์นเทรด อย่างเช่น คอนวีเนียนสโตร์ ไฮเปอร์มาร์เกต ดิสเคานต์สโตร์ แคชแอนด์แคร์รี หรือสเปเชียลตี้สโตร์ และอื่นๆ จากต่างประเทศล้วนสยายปีกเคลื่อนทัพเข้ามาเปิดกิจการในไทยเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น เทสโก้ จากอังกฤษ (ที่เข้ามาผนวกกิจการกับทางโลตัสของเครือซีพีในช่วงหลัง) แม็คโครจากเนเธอร์แลนด์ ค่ายกาสิโนจากฝรั่งเศส (ที่เข้ามาร่วมทุนกับทางบิ๊กซีซึ่งเป็นของเครือเซ็นทรัลในภายหลัง) เซเว่นอีเลฟเว่นจากอเมริกาที่เครือซีพีเป็นผู้ได้รับไลเซนส์ คาร์ฟูร์จากฝรั่งเศส หรือแม้แต่โอชองจากฝรั่งเศส ที่น้อยคนนักจะรู้จักแบรนด์นี้


จะว่าไปแล้ว บิ๊กซีเกิดมาจากกลุ่มเซ็นทรัล ส่วนคาร์ฟูร์ก็มีกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปร่วมก่อตั้งถือหุ้นในช่วงแรก ส่วนเครือซีพีก็เป็นผู้ก่อตั้งโลตัสขึ้นมาในอดีต ก่อนที่ภายหลังจะมาผนวกรวมเป็นเทสโก้ โลตัสในปี 2541 รวมทั้งซีพีเองก็เป็นผู้ร่วมถือหุ้นอยู่ในแม็คโครตั้งแต่แรกแล้วด้วย

ทุนโมเดิร์นเทรดต่างชาติที่เคลื่อนทัพเข้ามาสร้างความฮือฮาและความตื่นเต้นให้กับวงการค้าปลีกไทยไม่น้อย ควบคู่ไปกับการต่อต้านของกลุ่มทุนไทยรายย่อยที่มองว่าการเข้ามาของยักษ์ใหญ่ต่างชาติเหล่านี้ สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบเพราะฆ่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่งดั้งเดิมแบบไทยๆ หรือบรรดาโชวห่วยตายสนิท รวมไปถึงค้าปลีกภูธรต่างๆ ด้วย

แม้ว่าห้างภูธรทั้งหลายจะพยายามปรับตัวตั้งรับแต่ก็มิอาจต้านทานแรงโหมกระหน่ำของทุนต่างชาติได้ บางแห่งก็ต้องขายกิจการ บางแห่งก็ถูกค้าปลีกต่างชาติหลายรายเข้าซื้อกิจการทำเลต่างๆ แย่ที่สุดก็คือต้องปิดกิจการเลิกราไปไม่น้อย


เพราะต่างชาติมีทุนหนา และการขยายตัว การขยายสาขาอย่างรวดเร็วทั่วบ้านทั่วเมือง กุมตลาดแบบเบ็ดเสร็จ

ทว่า ปัจจุบันสถานการณ์กลับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะทุนต่างชาติทยอยถอนทัพจากไทยจากเอเชียกลับบ้านเกิดทั้งหมดแล้วเนื่องจากหลายสาเหตุแตกต่างกันไปแต่ละค่าย แต่สรุปปัญหาหลักๆ ก็คือ โดนพิษเศรษฐกิจของโลกเล่นงาน การต้องการลดต้นทุนควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการโฟกัสตลาดบางภูมิภาค เป็นต้น

ด้วยการประกาศขายกิจการมาต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ค่ายบิ๊กซีที่ตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นเจ้าของร่วมกับกลุ่มกาสิโนจากฝรั่งเศสที่เข้าซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ ที่เป็นคู่แข่งกันมาตลอดในไทยช่วงปี 2553 ด้วยมูลค่าการซื้อขายไม่มากแค่ 3.55 หมื่นล้านบาท

ถัดมาปี 2556 ซีพีออลล์ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่นก็ผงาดธุรกิจค้าส่ง เมื่อทุ่มงบ 188,000 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นใหญ่ใน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมเครือซีพีก็มีหุ้นในแม็คโครอยู่บ้างแล้ว

ถัดจากนั้น กลุ่มบีเจซี ธุรกิจในเครือข่ายของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ก็เป็นผู้ชนะดีลในการประมูลซื้อบิ๊กซีเมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งได้เฉพาะบิ๊กซีในไทยเท่านั้น ส่วนบิ๊กซีในเวียดนาม ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้สิทธิ์ไปทั้งหมด และอยู่ระหว่างการทยอยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โก แทน

ล่าสุดก็คือ เครือซีพี (อีกแล้ว) ซื้อเทสโก้ โลตัส ในปี 2563 ด้วยมูลค่าที่มากที่สุดเมื่อเทียบจากดีลที่ผ่านๆ มาในไทย มูลค่า 338,445 ล้านบาท ซึ่งจะได้เครือข่ายเทสโก้ โลตัสทั้งในไทยและมาเลเซียด้วย

จากนี้ไปคงไม่มีดีลใหญ่ๆ อะไรที่จะซื้อขายกันอีกแล้ว เพราะโมเดิร์นเทรดใหญ่ๆ ล้วนตกอยู่ในมือคนไทยแล้ว

จึงได้เวลาจับตาดูการสู้รบปรบมือจากผู้ประกอบการคนไทยด้วยกันเองแล้ว แน่นอนว่าสถานการณ์การแข่งขันย่อมดุเดือดไม่แพ้ก่อนหน้านี้




กำลังโหลดความคิดเห็น