วันนี้ (13 มี.ค.) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ศูนย์ราชการฯ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ จากกรณีที่มีการประมูลซื้อ-ขายกิจการเทสโก้โลตัสในประเทศไทยและในประเทศมาเลเซีย ซึ่งกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ชนะการประมูลซื้อไปได้ด้วยราคา 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วแล้วนั้น
การเข้ามาเป็นข้าวของกิจการค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ในกิจการของเทสโก้-โลตัสดังกล่าว อาจเข้าข่ายมีอำนาจ หรืออิทธิพลเหนือตลาดได้ เนื่องจากกลุ่มซีพีมีกิจการโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ คือ แม็คโครอยู่แล้วซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 37.4% (ไทยมีโมเดิร์นเทรดเพียง 3 ราย คือ บิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาด 24.2% แม็คโคร มีส่วนแบ่งตลาด 37.4% และเทศโก้-โลตัส มีส่วนแบ่งตลาด 38.4%) และเมื่อเข้ามาซื้อกิจการของเทศโก้-โลตัส ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 38.4% จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 75.8%
นอกจากนั้นยังมีร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกขนาดเล็ก คือ 7-11 อีกกว่า 11,688 แห่งทั่วประเทศ เมื่อกลุ่มซีพีเข้ามาซื้อเทสโก้-โลตัสซึ่งมีร้านค้าในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา มีตลาดโลตัส 179 สาขา และยังมี Tesco Express อีก 1,850 สาขาจะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% ไม่เป็นไปตามประกาศที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนด
โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2550 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยกำหนดกรอบของคำว่า “ส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขาย” ไว้ดังนี้ (1) ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป หรือ (2) ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป เว้นแต่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในสามรายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าร้อยละ 10 และมียอดขายในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท
ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการเทสโก้-โลตัสของกลุ่มซีพี จึงอาจเข้าข่ายเป็น “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” ซึ่งขัดต่อ ม.3 ประกอบ ม.4 ม.51 และม.52 แห่งพรบ.ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า 2560 ได้ ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดสามารถสร้างหรือทำลายการแข่งขันได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยและผู้บริโภคโดยตรง
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อดำเนินการวินิจฉัยและใช้อำนาจตาม ม.60 ประกอบ ม.61 สั่งระงับ หยุด หรือแก้ไชเปลี่ยนแปลงการกระทำดังกล่าวภายใน 90 วัน และหากคณะกรรมการฯวินิจฉัยไม่เป็นไปตามกฎหมาย สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป