xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนรบ “เทสโก้ โลตัส-บิ๊กซี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ส่องแผน 2 ยักษ์ไฮเปอร์มาร์เกตในอุ้งมือคนไทย “เทสโก้ โลตัส-บิ๊กซี” แข่งกันเต็มที่ เร่งสปีดสาขาครอบคลุมทั่วไทยทุกโมเดล ชี้ศึกโมเดิร์นเทรดจากนี้ต้องจับตา ดุเดือดไม่แพ้ในอดีตแน่นอน


แม้ว่าทั้งบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส จะเปลี่ยนมือเจ้าของจากต่างชาติมาอยู่ในกำมือของคนไทยแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือ การแข่งขันที่ต้องทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะระหว่าง 2 ค่ายใหญ่นี้ในสนามไฮเปอร์มาร์เกตเมืองไทย

ดูแล้วก็มีความสูสีกันอยู่ในเชิงทั้งคู่ ระหว่างบิ๊กซีในมือของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งมี นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กุมบังเหียน

ส่วนเทสโก้ โลตัสในกำมือของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารยังคงเป็นชุดเดิมอยู่

เรียกได้ว่าเกมนี้ไม่มีใครด้อยกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุน เครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ความสามารถในการหาทำเล และกลยุทธ์การตลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนเจ้าของก็ต้องมารอดูกันอีกทีว่าเทสโก้ โลตัสจะมีการเปลี่ยนแผนและยุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง

ค่ายเทสโก้ โลตัส ตามแผนเดิมที่เคยมีการประกาศไว้ก่อนหน้านี้ คือ จะยังลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาจะลงทุนเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทิศทางหลักจากนี้ไปโดยเฉพาะแผน 3 ปีเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วจะเน้นหนักเปิดเทสโก้ โลตัสเอ็กซ์เพรสมากเป็นพิเศษ ด้วยจำนวนมากถึง 750 สาขา เพราะขยายสาขาได้รวดเร็ว ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ มีความคล่องตัวในการลงทุน ส่วนสาขาใหญ่ไฮเปอร์มาร์เกตก็ยังคงเปิดแต่อัตราเร่งจะไม่เร็วเท่าอดีต

สำหรับเทสโก้ โลตัสในไทยมีร้านค้าในรูปแบบต่างๆ คือ ไฮเปอร์มาร์เกต 214 สาขา, ตลาดโลตัส 179 สาขา และเทสโก้ โลตัสเอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค. 62)


แต่ดูเหมือนว่า บิ๊กซี จะมีความเคลื่อนไหวมากในช่วงนี้ เมื่อต้องมาประหมัดกับเทสโก้ โลตัสของเจ้าสัวธนินท์

“ตอนนี้ทุกคนก็มีความกังวลกับเศรษฐกิจไม่ต่างกัน เราต้องลงทุนเพิ่ม จัดกิจกรรมการตลาด โปรโมชัน เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายของผู้บริโภค” นี่คือคำกล่าวของ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ รามี ปีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2563 นี้ BJC ตั้งงบลงทุนรวมประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อกระจายการลงทุนใน 4 ธุรกิจหลัก คือ บรรจุภัณฑ์, สินค้าอุปโภคบริโภค, เวชภัณฑ์กับเทคนิค และค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนหลักจะไปอยู่ที่บิ๊กซีถึง 70% หรือประมาณ 5,600-7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนรุกสาขาของบิ๊กซีคือ เตรียมเปิดไฮเปอร์มาร์เกตอีก 5-7 สาขา, บิ๊กซีมาร์เกต ประมาณ 2 สาขา และมินิบิ๊กซีอีก 300-400 สาขา เน้นหนักที่ตลาดหัวเมืองใหญ่

นอกจากนั้นจะรุกหนักในส่วนที่เป็นการบริหารพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งมีแผนที่จะพัฒนาโมเดลธุรกิจ “ชอปปิ้งมอลล์” ด้วยคอนเซ็ปต์ ทาวน์เซ็นเตอร์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สร้างการเติบโตได้ดี

ขณะที่ปี 2562 บิ๊กซีก็ขยายสาขาไม่หยุด คือ เปิดไฮเปอร์มาร์เกต 4 สาขา เปิดบิ๊กซีมาร์เก็ต (บิ๊กซี ฟู้ดเพลส) 1 สาขา เปิดมินิบิ๊กซี 300 สาขา และเปิดร้านขายยาเพรียว 5 สาขา ซึ่งทั้งปี 2562 สรุปคร่าวๆ จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 1,379 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เกต 153 สาขา, บิ๊กซีมาร์เกต 63 สาขา, มินิบิ๊กซี 1,000 สาขา และร้านขายยาเพรียว 145 สาขา

ไทยยังคงเป็นตลาดหลัก แต่ก็ยังคงขยายในตลาดต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะในอาเซียน เน้นไปที่ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว


สำหรับผลประกอบการรวมของบีเจซี ปี 2562 มีรายได้รวม 174,037 ล้านบาท เติบโต 1.1% กำไรสุทธิ 7,774 ล้านบาท เติบโต 6.7% มาจาก 4 ธุรกิจหลัก คือ บรรจุภัณฑ์, สินค้าอุปโภคบริโภค, เวชภัณฑ์และเทคนิค และค้าปลีกสมัยใหม่

โดยที่พระเอกหลักคือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ บิ๊กซี นั่นเองที่มีรายได้ 126,904 ล้านบาท เติบโต 1.5% และกำไรสุทธิ 6,604 ล้านบาท เติบโต 3.8% ทั้งนี้ แยกเป็นรายได้ที่มาจากการขายสินค้า 111,389 ล้านบาท เติบโต 1.4%, จากการเปิดสาขาใหม่ ขณะที่ยอดขายต่อสาขาเดิมลดลง 2.7% ส่วนรายได้ค่าเช่าและค่าบริการสถานที่และรายได้อื่นๆ ประมาณ 15,515 ล้านบาท เติบโต 2.2%


เกมรบค้าปลีกโมเดิร์นเทรดระหว่าง เทสโก้ โลตัส กับ บิ๊กซี จากนี้ห้ามกะพริบตา




กำลังโหลดความคิดเห็น