บล.คันทรี่ กรุ๊ปชี้ภาวะสภาพคล่องทางการเงินของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ให้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย หากหยุดบินเดือน เม.ย. แต่ถ้านานกว่านั้นมีเงินเหลืออยู่ได้ 4-5 เดือน
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป เปิดเผยในบทวิเคราะห์การลงทุนว่า หากพิจารณาจากผลประกอบการในไตรมาส 1/2563 เบื้องต้นผู้โดยสารลดไปแล้วกว่า 17% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจากการที่โรค COVID-19 เริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่เดือน ก.พ. และทำให้ประเมินว่าทั้งปีผู้โดยสารจะลดลง 7%YoY มาอยู่ที่ระดับ 20.5 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ต่ำไป หลังจากโรคมีการระบาดไปในหลายๆ ประเทศมากขึ้น ทำให้ AAV มีการปรับลดเส้นทางบินลงอย่างต่อเนื่องก่อนจะตัดสินใจหยุดบินเส้นทางบินทั้งหมด
โดยเส้นทางระหว่างประเทศระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-25 เม.ย. และเส้นทางในประเทศระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. ซึ่งเบื้องต้นในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่ผ่านมาคาดว่าผู้โดยสารจะลดลงไปกว่า 17% (แต่ด้วยการบริหารเครื่องบินที่มีการปรับลดเที่ยวบินลงด้วยทำให้อัตราบรรทุกผู้โดยสารยังเห็นระดับ 80% ได้อยู่) ขณะที่ผลกระทบจากการหยุดบินในเดือน เม.ย.คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2563 จะเห็นการปรับตัวลดลงอย่างมาก (เปรียบเทียบกับปริมาณผู้โดยสารในไตรมาส 2/2562 มีประมาณ 5.6 ล้านคน)
ถ้าหยุดบินยาว อาจจะอยู่ได้เพียง 4-5 เดือน
เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบข้างต้น AAV มีความพยายามในการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงให้มากที่สุด ทั้งการปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร การให้พนักงานลาพักแบบไม่รับเงินเดือน การเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินในการชะลอการจ่ายไป (รวมถึงเงินกู้กับทางสถาบันการเงินต่างๆ) รวมถึงขอความช่วยเหลือจากภาครัฐฯ ทั้งการขอเงินกู้ระยะสั้น การขอส่วนลดจากทางผู้ให้บริการสนามบินอย่างค่าเช่าสำนักงาน ค่าใช้จ่ายในการขึ้นลงสนามบิน หรือการให้ส่วนลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ขยายไปถึงสิ้นปีแล้ว เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายผันแปรที่มีสัดส่วนกว่า 70% จะเห็นการลดลงได้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน AAV มีเงินสดในมือประมาณ 5,000 ล้านบาท (รวมที่ได้จากการทำ SLB ประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว) และยังมีช่องทางที่สามารถหาเงินมาบริหารภายในได้ไม่ว่าจะเป็นการนำเครื่องบินที่เหลือไปทำโครงการ SLB เหมือนที่ทำไปในช่วงไตรมาส 1/2563 ได้อีก และยังมีการขายตั๋วล่วงหน้าอยู่จึงทำให้หากต้องมีการหยุดบินนานกว่าเดือน เม.ย.บริษัทยังสามารถอยู่ได้ประมาณ 4-5 เดือนยังไม่ต้องเพิ่มทุนในระยะสั้นนี้แต่อย่างใด
แม้ราคาหุ้นลงมาก แต่ความเสี่ยงยังสูง แนะนักลงทุนให้รอก่อน
จากผลกระทบข้างต้น เบื้องต้นคันทรี่กรุ๊ปปรับประมาณการใหม่โดยคาดว่าสายการบินจะกลับมาบินได้ในเดือน พ.ค. และประเมินผู้โดยสารในช่วงที่เหลือของปี 20 ลดลงเฉลี่ย 30% ทำให้เราคาดจำนวนผู้โดยสารทั้งปีที่ระดับ 15.5 ล้านคน ลดลง 30%YoY และด้วยการทำรายการส่งเสริมการขายช่วงแรกของการกลับมาบินใหม่ทำให้เราประเมินค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 10% YoY รวมแล้วเราประเมินผลประกอบการจะมีผลขาดทุนสุทธิกว่า 1,800 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน 135 ล้านบาท ส่วนปี 2564 คาดว่าหลังจากปัญหาต่างๆ ได้ผ่านไปแล้วมีโอกาสเห็นการฟื้นตัวได้ เราจึงประเมินว่าจะมีกำไรประมาณ 167 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากนั้นคาดว่าจะเห็นผลดีชัดเจนในปี 2564 เนื่องจากปี 2563 มีการทำสัญญาล่วงหน้าไปแล้วกว่า 70% อย่างไรก็ตาม หากผลประกอบการช่วงไตรมาส 1/2563 ออกมาคันทรี่กรุ๊ปอาจจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง คำแนะนำการลงทุน ด้วยสถานการณ์โดยรวมที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะจบเมื่อใด ทำให้ในระยะสั้นจึงแนะนำให้ “ถือ” ไปก่อน และให้เข้าลงทุนได้เมื่อเริ่มมีสัญญาณบวกจากการควบคุมโรค COVID-19 เนื่องจากคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวได้อย่างมากจากการเป็นผู้นำของสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศ โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 2.90 บาท (0.6XPBV20’E)