มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ หรือพักการซื้อขายหุ้น เมื่อดัชนีหุ้นปรับตัวลง 10% ถูกนำมาใช้เป็นครั้งที่ 5 จนได้เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา หลังตลาดหุ้นเกิดความปั่นป่วน นักลงทุนถล่มขายหุ้นทิ้ง ฉุดดัชนีหุ้นรูดลงระหว่างชั่วโมงซื้อขายกว่า 100 จุด ก่อนจะดีดตัวกลับขึ้นมาปิดบวก
เพียงช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน ดัชนีหุ้นร่วงลงเกือบ 500 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคปสูญหายร่วม 5 ล้านล้านบาท นักลงทุนจำนวนไม่น้อยอยู่ในสภาพแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
แม้แนวโน้มหุ้นจะยังอยู่ในช่วงผันผวน และไม่อาจคาดหมายได้ว่า ความเลวร้ายของวิกฤตตลาดหุ้นรอบนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด จุดต่ำสุดของดัชนีหุ้นอยู่ที่ระดับไหน แต่ นักลงทุนที่เหลือเงินสดอยู่ในมือ เริ่มเตรียมตัวเข้ามาช้อนหุ้นแล้ว
เพราะเห็นว่า หุ้นตกมาถึงจุดที่น่าสนใจ น่าเสี่ยง ระดับราคาปัจจุบันลงมาลึกมากแล้ว และพร้อมจะดีดตัวกลับหากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่มีพัฒนาการที่เลวร้ายลง หรือเริ่มทรงตัว
การเก็บเกี่ยวกำไรงามๆ จากตลาดหุ้น มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤต ดังนั้น วิกฤตไวรัสครั้งนี้จึงเป็นโอกาสตักตวงความร่ำรวย เพียงแต่ต้อง จับจังหวะการลงทุนให้ถูกเท่านั้น
เพราะในช่วงวิกฤต ราคาหุ้นมักจะลงแรงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือลงแรงเกินจริง จึงควรหาจังหวะในการช้อนเก็บหุ้นราคาถูก และถือรอเก็บเกี่ยวผลกำไรเมื่อผ่านพ้นวิกฤต
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นมูลค่าเพิ่ม ก็ร่ำรวยเพราะเข้ามาลงทุนในช่วงตลาดหุ้นวิกฤต หรือช่วงที่ดัชนีหลุดลงจากระดับ 1,750 จุด ลงมายืนที่ระดับ 200 จุด และจากเงินลงทุนเพียง 10 ล้านบาท กลายเป็นเงินหลายพันล้านบาท ภายในเวลาประมาณ 10 ปี
เศรษฐีที่มีเงินสดในมือ และไม่ใช่นักลงทุนประเภทที่ซื้อขายหุ้นอย่างสม่ำเสมอ หรือบางคนไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้น กำลังมองวิกฤตในตลาดหุ้น เพราะเห็นโอกาสดีๆ ในการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนงามๆ ในตลาดหุ้น
ดัชนีหุ้นยังมีโอกาสที่จะดิ่งลงต่อ แต่ลงมาแล้วประมาณ 500 จุด หรือประมาณ 30% ซึมซับรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปไม่น้อยแล้ว ระดับราคาหุ้นจึงยืนอยู่ในระดับใกล้ก้นเหวเต็มที
หุ้นลงไปถึงจุดหนึ่งต้องฟื้นกลับขึ้นมา โจทย์ที่นักลงทุนต้องตีให้แตกคือ เมื่อไหร่วิกฤตไวรัสจะถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด เมื่อไหร่จะเห็นสัญญาณการสิ้นสุดของขาลงรอบนี้ เพื่อชิงจังหวะซื้อหุ้น
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั่วโลกยังน่ากลัวอยู่ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มพุ่งทะยาน ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดหุ้น
เพราะนักลงทุนที่อารมณ์ความรู้สึกเปราะบางอาจตื่นตระหนกเทขายหุ้น ฉุดให้ดัชนีหุ้นที่เริ่มจะฟื้นทรุดลงไปอีก
แต่ราคาหุ้นที่ถอยลงมาระดับ 1,100 จุด แม้อาจใช่จุดต่ำสุดในรอบนี้ แต่ถือเป็นราคาที่ต่ำมากแล้ว ต่ำจนยั่วยวนให้คนที่ไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มศึกษาการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว เพราะถ้าหวังตักตวงความมั่งคั่งจากตลาดหุ้น ต้องซื้อหุ้นยามที่มีวิกฤต หรือซื้อในช่วงเวลาที่หุ้นตกต่ำสุดขีด
และช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะสุด เพียงแต่ไม่ต้องรีบร้อนนัก เฝ้ารอคอยประเมินสถานการณ์ จนเห็นสัญญาณการฟื้นตัว จึงเริ่มปฏิบัติการเก็บหุ้น
ไม่บ่อยนักที่หุ้นจะเกิดการปรับฐานใหญ่ ลงม้วนเดียว 500-600 จุด เมื่อเกิดขึ้นแล้วนักลงทุนไม่ควรเสียโอกาส ต้องมีกำไรจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ติดไม้ติดมือบ้าง
หุ้นราคาถูกเต็มไปหมด ถ้าเลือกจังหวะซื้อให้ถูก รวยกันทุกคน