วิกฤตไวรัสโควิด -19 ซึ่งถล่มตลาดหุ้น จนดัชนีหุ้นทรุดลง 500 จุด และมีแนวโน้มว่า สถานการณ์ลงทุนจะเลวร้ายต่อ ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบนักลงทุน
กองทุนพยุงหุ้น เลือนหายจากความทรงจำไปแล้วประมาณ 28 ปี หลังการก่อกำเนิดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2535 และได้อนุมัติการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพิ่มเติม
เดิมมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่ผูกขาดการจัดตั้งกองทุนรวม
แต่เมื่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น จึงมีการแข่งขันการจัดตั้งกองทุน โดยกองทุนรวมหุ้นเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมรายใหม่ ประกาศตั้งกองทุนรวมหุ้นแทบทุกสัปดาห์ ในระหว่างปี 2535-2536
เมื่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมโตขึ้น วงเงินลงทุนมากขึ้น ความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นจึงหมดไป เพราะกองทุนเข้ามามีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพตลาด ไม่ให้เกิดความผันผวนรุนแรง เว้นแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งแม้แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมยังแทบเอาตัวไม่รอด
เพราะตลาดหุ้นปั่นป่วน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้น จากหน่วยละ 10 บาท เหลือเพียงหน่วยละ 2-3 บาท จนนักลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนร้องโวยวายทั่วประเทศ
กองทุนพยุงหุ้น เคยเฟื่องฟูระหว่างปี 2530-2534 ช่วงที่ ดร.สมคิด ยังเป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับ ดร.สมชาย ภคภาควิวัฒน์ และ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ในยุค ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
ถ้าตลาดหุ้นเกิดวิกฤต ราคาหุ้นดิ่งลงหนัก จะมีการจัดตั้งการทุนพยุงหุ้นเข้ามาอย่างเร่งด่วน
วิกฤตการณ์แบล็กมันเดย์ วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2530 เป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงขันจากโบรกเกอร์ 30 ราย เฉลี่ยรายละ 30 ล้านบาท และ นำเงินมาทยอยซื้อหุ้นเก็บ
การประกาศจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในยุคนั้น ส่งผลจิตวิทยากระตุ้นการลงทุนในทันที เพราะนักลงทุนเชื่อว่า กองทุนจะช่วยประคับประคองตลาดหุ้นได้ นักลงทุนบางส่วนจึงชิงซื้อหุ้นดักเก็งกำไร ก่อนกองทุนพยุงหุ้นจะเข้ามาซื้อ
แต่บางวิกฤต กองทุนพยุงหุ้นก็ไม่สามารถฟื้นวิกฤตตลาดหุ้นได้เหมือนกัน เช่น วิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างปี 2533-2534
เพราะแม้จะซื้อหุ้นจนเงินหมดแล้ว แต่หุ้นยังทรุดลงต่อ และซึมยาวนานเกือบค่อนปี
การประกาศจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นครั้งใหม่ แตกต่างจากอดีต เพราะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับจากนักลงทุนแต่อย่างใด ขณะที่ราคาหุ้นยังดำดิ่ง
สิ่งที่นักลงทุนเฝ้าติดตามอยู่คือ กองทุนพยุงหุ้นที่กำลังจะตั้งขึ้น จะมีวงเงินเท่าไหร่ แหล่งที่มาของเงินได้จากไหน
กองทุนพยุงหุ้นในอดีตที่ตั้งกันวงเงินเพียง 1,000 ล้านบาท แต่บทบาทช่วยพยุงหุ้นได้ระดับหนึ่ง เพราะมูลค่าการซื้อขายยุดนั้นเฉลี่ยวันละไม่กี่ร้อยล้านบาท
วันนี้เคาะซื้อเคาะขายหุ้นกันวันละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ถ้าจะตั้งกองทุนด้วยเงินเพียง 1,000 ล้านบาท ไม่มีสิทธิช่วยพยุงตลาดหุ้น
เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เพื่อประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน วงเงินประมาณ 16,000 ล้านบาท ยังไม่สามารถหยุดยั้งการทรุดตัวของหุ้น SCB ได้
กองทุนพยุงหุ้น ถ้าหวังจะกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุน และพอที่ช่วยประคับประคองตลาดหุ้นได้ วงเงินไม่ควรต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
แต่จะระดมเงินมาจากไหน จะขอให้โบรกเกอร์ที่มีอยู่ 38 แห่งร่วมกันลงขันคงลำบาก เพราะโบรกเกอร์ส่วนใหญ่กำลังเอาตัวไม่รอด จึงไม่อยู่ในฐานะร่วมลงขันได้
นักลงทุนคงไม่ได้คาดหวังกองทุนพยุงหุ้น เพราะกองทุนรวมที่มีวงเงินรวมกันนับล้านล้านบาท เห็นแล้วว่ายังพยุงหุ้นไม่ไหว
การปลุกผีกองทุนพยุงหุ้น จึงไม่อาจปลุกตลาดหุ้นให้ฟื้นคืนชีพได้