ตลาดหุ้นเงียบเหงาซบเซามา 2 ปีติดต่อ ปีนี้ทำท่าจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากสหรัฐฯ กับจีนลงนามในข้อตกลงทางการค้าทำให้ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้นมาทะลุ 1,600 จุด แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉุดให้ตลาดหุ้นกลับเข้าสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายอย่างหนักกับนักลงทุนจำนวนกว่า 10 ล้านคน
วันที่ 17 มกราคม 2563 ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้นไปปิดที่ 1,600.48 จุด สร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบปีนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปขยับขึ้นไปที่ 16.96 ล้านล้านบาท โดยคาดว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจะกลับมาสดใส
แต่ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้สถานการณ์การลงทุนทั้งโลกเปลี่ยนทิศทาง นักลงทุนเกิดความกังวลในผลกระทบ เทขายหุ้นทิ้ง เริ่มต้นจากหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ก่อนกระจายไปในหุ้นกลุ่มอื่น จนในที่สุด หุ้นทั้งกระดานถูกถล่มขาย ราคาทรุดหนักถ้วนหน้า
วันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นอีกวันมหาวิปโยคของตลาดหุ้น เพราะดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงนับพันจุด ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จุดชนวนการเทขายหุ้นในลักษณะหนีตาย
หุ้นทั้งกระดานแดงเถือก ดัชนีหุ้นทรุดลง 108.63 จุด ลงมายืนที่ 1,255.94 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงเหลือ 13.51 ล้านล้านบาท
ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน ดัชนีหุ้นลดลงไปประมาณ 345 จุด ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหายวูบไปประมาณ 3.45 ล้านล้านบาท
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ลดลง ทำให้ความมั่งคั่งของตลาดหุ้นลดลงตาม ซึ่งหมายถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นทุกคนจนลง
นักลงทุนในตลาดหุ้นมีจำนวนรวมกว่า 10 ล้านคน โดยเฉลี่ยประชากร 6 คน จะเป็นนักลงทุน 1 คน
ตามข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ล่าสุด เมื่อสิ้นปี 2562 มีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งสิ้น 1.81 ล้านบาท
ส่วนข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เมื่อสิ้นสุดปี 2561 มีนักลงทุนเปิดบัญชีลงทุนผ่านกองทุนรวมประมาณ 6.65 ล้านบาท และลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกประมาณ 3.3 ล้านราย
ทุกคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นทางตรง โดยเปิดบัญชีซื้อขายผ่านบริษัทโบรกเกอร์ หรือลงทุนในตลาดหุ้นทางอ้อม ผ่านกองทุนรวมหรือผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้รับความเสียหายจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 เสมอกัน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วิกฤตหนัก จนวันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ต้องใช้มาตรการเซอร์กิจเบรกเกอร์ หรือพักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที หลังดัชนีหุ้นร่วงลงเกิน 7%
ตลาดหุ้นไทยหวิดต้องใช้มาตรการเซอร์กิจเบรกเกอร์เหมือนกัน เพราะดัชนีหุ้นวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม ทรุดลงเกือบ 10%
มาตรการเซอร์กิจเบรกเกอร์สำหรับตลาดหุ้นไทย จะนำมาใช้เมื่อดัชนีหุ้นลดลงเกินกว่า 10% โดยเคยนำมาใช้แล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 หลังดัชนีทรุดตัวลง 108.41 จุด หรือลดลง 14.84% ลงมายืนที่ 622.14 จุด
ครั้งที่สอง วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เมื่อดัชนีลดลง 50.08 จุด หรือลดลง 10.02% ลงมายืนที่ 449.91 จุด และครั้งที่สาม วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เมื่อดัชนีหุ้นลดลง 45.44 จุด หรือลดลง 10.50% ลงมายืนที่ 387.43 จุด
มาตรการเซอร์กิจเบรกเกอร์ครั้งที่ 4 จะเกิดขึ้นอีก แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และจะเกิดขึ้นจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 หรือไม่
ยังไม่สามารถประกันตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แน่ชัด จากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่คาดหมายในเบื้องต้นว่า จะมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท
แต่สำหรับตัวเลขความเสียหายในตลาดหุ้น สามารถประเมินตัวเลขในเบื้องต้นได้แล้ว จากความมั่งคั่งที่สูญเสียไป 3.45 ล้านล้านบาท
นักลงทุนในตลาดหุ้น จัดเป็นกลุ่มที่มีฐานะ กำลังซื้อสูง แต่หุ้นที่ตกหนัก ความมั่งคั่งที่ลดลง การขาดทุนอย่างหนัก จะบั่นทอนกำลังซื้อของนักลงทุนกว่า 10 ล้านคน กระทบต่อการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาสุดขีด
สถานการณ์ที่เลวร้ายยังไม่ผ่านพ้นไป เพราะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการลงทุนจึงยังไม่สิ้นสุด และไม่อาจกำหนดกรอบเวลาได้ว่า วิกฤตครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด
จีดีพีประเทศไทยจะทรุดลงขนาดไหน จุดต่ำสุดของตลาดหุ้นจะอยู่ที่เท่าไหร่ ดัชนีหุ้น 1,200 จุดจะต้านอยู่หรือไม่
ยังไม่ทันผ่าน 3 เดือนแรก ตลาดหุ้นแทบจะพังพินาศไปแล้ว เศรษฐกิจก็อยู่ในอาการปางตาย อีก 9 เดือนข้างหน้าปีนี้ ไม่รู้ประเทศจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จึงต้องเตรียมตัวรับมือผลกระทบกันให้ดี
ตัวใครตัวมัน อย่าตั้งความหวังรัฐบาล “ลุง” มากเกินไปแล้วกัน