ระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์นี้ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จะ เรียกชำระหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 888.14 ล้านหุ้น ซึ่งจัดสรรขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม แต่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ถือหุ้นในสัดส่วน 15.94% ของทุนจดทะเบียน คงสละสิทธิการจองซื้อหุ้นใหม่ตามเคย
หุ้นเพิ่มทุน จำนวน 888.14 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ เสนอขายในราคาหุ้นละ 2.50 บาท โดยกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 60% หวังว่าบริษัท การบินไทยจะใช้สิทธิจองซื้อ หลังนำเสนอข้อมูลแผนการดำเนินงานของ NOK ให้การบินไทยไปแล้ว
ถ้าการเพิ่มทุนครั้งนี้สำเร็จ ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อครบถ้วน ส่วนของผู้ถือหุ้น NOK จะกลับมาเป็นบวก และสามารถปลดเครื่องหมาย “C” ออกได้
แต่ผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิกันครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย
ราคาหุ้น NOK ที่ซื้อขายบนกระดาน เคลื่อนไหวอยู่แถว 2 บาท ต่ำกว่าหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 20% จึงไม่มีเหตุผลว่าทำไมผู้ถือหุ้นเดิม จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในเมื่อสามารถซื้อหุ้นในราคาต้นทุนต่ำกว่าได้
และ NOK เพิ่มทุนบ่อยมาก กลายเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่ ถมไม่เต็ม ผู้ถือหุ้นใส่เงินลงไปแล้วหาย ไม่ได้รับผลตอบแทนคืนกลับ ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้ถือหุ้นที่เติมเงินเข้าไปต้องเสียหายซ้ำซาก จนผู้ถือหุ้นรายย่อยเข็ดกับการเพิ่มทุน
ส่วนผลประกอบการของบริษัทฯ ไม่มีสัญญาณฟื้น โดยยังขาดทุนหนัก ยอดขาดทุนสะสมพุ่งขึ้น 9,551.76 ล้านบาท และ ธุรกิจสายการบินยังอยู่ในแนวโน้มขาลง อยู่ เพราะรายได้ลด ต้นทุนเพิ่ม การแข่งขันสูง
การเพิ่มทุนครั้งก่อนหน้า จำนวน 908.79 ล้านหุ้น ซึ่งเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท ซึ่งเรียกชำระเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บริษัท การบินไทยได้รับการจัดสรร จำนวน 198.15 ล้านหุ้น แต่สละสิทธิทั้งจำนวนทำให้กลุ่มจุฬางกูรต้องใช้สิทธิจองซื้อแทน
ส่วนการเพิ่มทุนครั้งนี้ กลุ่มจุฬางกูร คงไม่สามารถกล่อมให้การบินไทยใช้สิทธิจองซื้อหุ้นได้ เพราะฐานะของการบินไทยไม่แตกต่างจาก NOK ผลประกอบการขาดทุนหนักพอกัน มียอดขาดทุนสะสม 18,470.41 ล้านบาท และเพียงแค่พยายามประคับประคองตัวเองให้รอด ก็เหนื่อยพออยู่แล้ว จึงไม่แข็งแรงพอที่จะช่วยคนอื่น
และถ้าจะเพิ่มทุน คณะกรรมการบริษัท การบินไทย คงไม่มีเหตุผลอธิบายให้ผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลัง ทำไมจะต้องเพิ่มทุนให้ NOK ทั้งที่มีความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งไม่สามารถชี้แจงกับผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 1 แสนรายได้ว่า
ทำไมต้องใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เมื่อราคาหุ้นในกระดานถูกกว่าประมาณ 20%
คณะกรรมการ THAI คงไม่ยอมเสี่ยงกับการถูกผู้ถือหุ้นซักฟอก จากการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน NOK กลุ่มจุฬางกูรจึงเลิกตั้งความหวังได้
การเพิ่มทุนครั้งนี้ กลุ่มจุฬางกูรน่าจะประเมินไว้ล่วงหน้าว่า ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นการบินไทยหรือรายย่อย คงสละสิทธิการจองซื้อ และเตรียมทางออกไว้แล้วเหมือนกัน
ถ้าผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นสละสิทธิ กลุ่มจุฬางกูรคงใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนแทน เช่นเดียวกับการเพิ่มทุนครั้งก่อนจำนวน 908.79 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นใหม่เหลือขายอยู่เพียง 72 ล้านหุ้นเท่านั้น
กลุ่มจุฬางกูร ถมเงินใส่ NOK ไปแล้วหลายพันล้านบาท และคงต้องก้มหน้าก้มตาถมเงินต่อไป เพราะ "ติดกับ" สายการบินแห่งนี้ จนสายเกินไปที่จะถอนตัวออก