เมื่อต้นปี บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เพิ่มทุนไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ช่วงปลายปีประกาศเพิ่มทุนอีกรอบ และเป็นการเพิ่มทุนที่น่าเชื่อว่า อาจมีเพียงกลุ่มจุฬางกูรเท่านั้นที่จะใช้สิทธิจองซื้อ
คณะกรรมการ NOK จัดประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติเพิ่มทุน จำนวน 888.14 ล้านหุ้น โดยนำหุ้นใหม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 3.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา NOK เรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 908.79 ล้านหุ้น ซึ่งจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท ปรากฏว่า มีผู้ใช้สิทธิจองซื้อทั้งสิ้น 836.51 ล้านหุ้น มีหุ้นเหลือการจัดสรร จำนวน 72.28 ล้านหุ้น ระดมทุนได้ทั้งสิ้น 3,267.36 ล้านบาท
การเพิ่มทุนครั้งก่อน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สละสิทธิการจองซื้อหุ้นที่ได้รับการจัดสรร 198.15 ล้านหุ้นทั้งจำนวน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 15.94% ของทุนจดทะเบียน
หุ้นเพิ่มทุน จำนวน 908.79 ล้านบาท รอบก่อนที่ขายเกือบหมด กลุ่มจุฬางกูรน่าจะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือจากการเสนอขายของนักลงทุนรายย่อย และบริษัท การบินไทย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นกลุ่มจุฬางกูรพุ่งขึ้นเป็น 67% ของทุนจดทะเบียน
การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ซึ่งจะเรียกชำระค่าหุ้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า บริษัท การบินไทย คงสละสิทธิ เช่นเดียวกับการเพิ่มทุน 2 ครั้งก่อน และกลุ่มจุฬางกูรคงใช้สิทธิจองซื้อแทน รวมทั้งจองซื้อหุ้นในส่วนที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 7,654 ราย สละสิทธิด้วย
เพราะเมื่อหุ้นใหม่เสนอขายในราคา 2.50 บาท ขณะที่ราคาหุ้น NOK ในกระดานซื้อขายกันอยู่ที่แถว 2 บาท นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่คงสละสิทธิจองซื้อ
กลุ่มจุฬางกูรเคยเจรจาขายหุ้น NOK กับบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย แต่ติดขัดปัญหาในแง่กฎหมายเรื่องการผูกขาดทางการค้า ทำให้ AAV ต้องถอนตัวออกไป สายการบินนกแอร์ จึงติดมือกลุ่มจุฬางกูร และต้องถมเงินเข้าพยุงอย่างต่อเนื่อง
การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ชำระหนี้และการจัดหาฝูงบินใหม่ แต่อาจไม่ใช่การระดมทุนครั้งสุดท้ายของหุ้นสายการบินแห่งนี้
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหุ้นละ 2.50 บาท ต้องถือว่า กลุ่มจุฬารกูรใจป้ำ และใจสู้มาก เพราะสามารถประเมินได้อยู่แล้วว่า บริษัท การบินไทยคงสละสิทธิ และผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่อาจไม่พร้อมจะเติมเงิน
กลุ่มจุฬางกูรจึงต้องรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นสละสิทธิ และเมื่อรู้ว่าต้องเป็นผู้ควักเงินเติมใส่ NOK จึงน่าจะกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนราคาต่ำๆ เพื่อจะซื้อหุ้นต้นทุนถูกได้
แต่กลุ่มจุฬางกูรกลับเลือกที่จะกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนสูงๆ ทั้งที่รู้ว่ากลุ่มตัวเองจะต้องจ่ายแพง
ถ้าเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนทั่วไป และคิดจะเอาเปรียบผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่น คงกดราคาหุ้นเพิ่มทุนต่ำๆ เพื่อกลุ่มตัวเองจะได้ซื้อของถูก
กลุ่มจุฬางกูร ทุ่มเงินใส่ NOK แล้วนับหมื่นล้านบาท จนกลายเป็นเจ้าของสายการบินนกแอร์เต็มตัว พร้อมภาระอันหนักอึ้ง เพราะแม้จะมีเงินเติมใส่เพื่อพยุงฐานะของสายการบินแห่งนี้ แต่จะสู้ได้ยาวนานขนาดไหน
เพราะแนวโน้มธุรกิจสายการบินยังอยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว และหุ้นสายการบินในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 4 แห่ง ก็ย่ำแย่ตามๆ กัน
บริษัท การบินไทย ถอดใจจาก NOK แล้ว เพราะตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอด ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เติมทุนจนท้อ เหลือแต่กลุ่มจุฬางกูรเท่านั้นที่ใจยังสู้
และการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด เป็นการประกาศว่า กลุ่มจุฬางกูรพร้อมสู้ตายกับ NOK