10 อันดับเศรษฐีหุ้นประจำปี 2562 มีชื่อของนางดาวนภา และนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ สองสามีภรรยา ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ซึ่งให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อบุคคล ปรากฏอยู่ในฐานะเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 7 และ 8
นางดาวนภา ถือหุ้น MTC จำนวน 720 ล้านหุ้น คิดเป็น 33.96% ของทุนจดทะเบียน มูลค่า 41,040 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 6,300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.13% จากปีก่อน
ส่วนนายชูชาติ ติดอันดับที่ 8 โดยถือหุ้น MTC จำนวน 710.05 ล้านหุ้น คิดเป็น 33.49% ของทุนจดทะเบียน มูลค่า 40,841.21 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 5,448.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.40% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
สองสามีภรรยาเจ้าของบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล ชื่อเสียงอาจไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปมากนัก และการปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถ ไม่น่าจะทำให้ร่ำรวยจนติดอันดับเศรษฐีตลาดหุ้นอันดับต้นๆ ได้
เพราะเศรษฐีหุ้น ควรเป็นเจ้าของสัมปทานกิจการรถไฟฟ้า เจ้าของสัมปทานมือถือ เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือนายธนาคาร เจ้าพ่อเหล้า หรือเจ้าพ่อค้าปลีก
แต่เจ้าของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สามารถแทรกเข้ามาในทำเนียบเศรษฐีตลาดหุ้นได้ จากการตักตวงความมั่งคั่งนับแสนล้านบาทจากสินเชื่อเช่าซื้อ
MTC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 หลังนำหุ้นเสนอขายประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 5.50 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท โดยผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง และงวด 9 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 3,106.54 ล้านบาท
ค่าพี/อี เรโชหุ้น MTC อยู่ที่ 31 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 0.42% โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 10,179 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 32% ของทุนจดทะเบียน
ราคาหุ้น MTC ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนเชื่อว่า ผลประกอบการมีแนวโน้มสดใส รายได้จากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยังเติบโตสูง
ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ดี จนเป็นเศรษฐีภายในไม่กี่ปี เช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาตระกูลเพ็ชรอำไพ เพราะสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูง นอกจากรายได้ค่าธรรมเนียมสารพัด
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แต่ก่อนไม่มีการควบคุม จะเรียกเก็บดอกผลเช่าซื้อในอัตราเท่าไหร่ก็ได้
และผู้ขอสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่มักไม่ดูรายละเอียดและเงื่อนไขในสัญญา ทำให้ต้องแบกรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ มากมาย
ความมั่งคั่งของบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือการรับจำนำทะเบียนรถ จึงเกิดขึ้นบนภาระของผู้กู้ ซึ่งต้องแบกดอกเบี้ยแพงและจ่ายค่าธรรมเนียมหยุมหยิม
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่งประกาศควบคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถเมื่อกลางปี 2561 หลังประชาชนผู้ขอกู้ถูกบริษัทปล่อยกู้เอาเปรียบมานานนับสิบปี โดยกำหนดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถไม่เกิน 15% ส่วนการจำนำทะเบียนรถ กำหนดให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 28%
แม้จะควบคุมการปล่อยกู้ซื้อรถ แต่อัตราดอกเบี้ยยังสูงอยู่ เมื่อเทียบกับเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของธนาคารที่กำหนดดอกเบี้ยระหว่าง 6-7% โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทะเบียนรถที่คิดดอกเบี้ย 28%
การติดอันดับมหาเศรษฐีหุ้นของบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จึงเป็นสิ่งที่สังคมไม่ควรภาคภูมิใจนัก
เพราะความมั่งคั่งร่ำรวย ได้มาบนความลำเค็ญของประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศจำนวนนับล้านคน ซึ่งต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยมหาโหด
บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถ และสินเชื่อบุคคล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง แต่ละแห่งมีผลประกอบการที่ดี จากการโขกดอกเบี้ยจากประชาชนกลุ่มด้อยโอกาสในการขอสินเชื่อ
การก่อกำเนิดของเศรษฐีหุ้นกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถคนหนึ่ง จึงหมายถึงความทุกข์เข็ญของคนนับแสนนับล้านคน เพราะต้องแบกภาระผ่อนส่งค่างวดรถอยู่นานหลายปี
ผู้ขอสินเชื่อเช่าซื้อรถ ชีวิตแทบไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก แต่เจ้าของบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อกลับรวยเอาๆ รวยจนติดอันดับเศรษฐีหุ้น
MTC เข้าตลาดมา 5 ปี เจ้าของหุ้นรวยขึ้น 1,200% จะไม่ติดเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 7 และ 8 ได้ยังไงไหว