xs
xsm
sm
md
lg

เลิกเกณฑ์รับหุ้น PACE-SHR / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสียงเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์รับหุ้นใหม่ โดยเฉพาะการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เกตแคปดังขึ้นเป็นระยะ เพราะบริษัทที่เข้ามาระดมทุนภายใต้เงื่อนไขมาร์เกตแคป สร้างความเสียหายให้นักลงทุนมาซ้ำซาก

กรณีล่าสุดคือ บริษัท เอสโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 และราคาหุ้นต่ำกว่าจองกว่า 40%

หลักเกณฑ์มาร์เกตแคป เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 7,500 ล้านบาท สามารถยื่นคำขอเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดย ไม่ต้องพิจารณาถึงผลประกอบการ ซึ่งแต่เดิมเคยกำหนดมาร์เกตแคปไว้เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น

เกณฑ์ปกติสำหรับบริษัททั่วไปที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท มีผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี กำไรสุทธิช่วง 2-3 ปีไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และปีล่าสุดไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีผลประกอบการ 2 ปี และปีล่าสุดมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

การผลักดันหลักเกณฑ์มาร์เกตแคป เป็นไปตามนโยบายเพิ่มปริมาณบริษัทจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงใช้มาตรการผ่อนปรนด้านคุณสมบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ที่ยังไม่สามารถสร้างผลกำไร แม้จะดำเนินงานมาแล้วหลายปีก็ตาม สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้

มีหุ้นหลายบริษัทที่เข้าจดทะเบียนด้วยหลักเกณฑ์มาร์เกตแคป แต่ บริษัทที่สร้างปัญหา จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ทบทวนเกณฑ์ที่ผ่อนปรนคือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ซึ่งเข้าจดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคปมากกว่า 5,000 ล้านบาท

PACE สร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุนในตลาดหุ้น โดยหุ้นที่นำเสนอขายประชาชนครั้งแรก กำหนดราคาขายหุ้นละ 3.50 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท แต่ราคาหุ้นทรุดตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่ ผลประกอบการขาดทุนตลอด ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์จนถึงปัจจุบัน และแม้จะระดมทุนหลายรอบ แต่ไม่อาจกอบกู้ฐานะทางการเงินได้

จนเกิดปัญหาการชำระหนี้ และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ราคาหุ้นทรุดลงมาสู่ระดับ 7 สตางค์ มีนักลงทุนรายย่อยถือหุ้นติดมืออยู่ 5,100 คน

ถ้าตลาดหลักทรัพย์ไม่มุ่งนโยบายเพิ่มบริษัทจดทะเบียนในเชิงปริมาณ ไม่เน้นการเติบโตของขนาดมากกว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน PACE คงไม่สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นได้ นักลงทุนนับหมื่นรายคงไม่เสียหาย

หุ้นที่เข้ามาด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป และทำให้นักลงทุนเสียหายอีกบริษัทคือ SHR ราคาจอง 5.20 บาท แต่ราคาปิดเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ทรุดลงมาเหลือเพียง 2.86 บาท ต่ำกว่าจอง 2.34 บาท หรือ 45% และไม่อาจคาดหวังแนวโน้มผลประกอบการได้ โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยฝากชะตากรรมอยู่กว่า 7,000 ราย

ความเสียหายซ้ำซากจากหลักเกณฑ์รับหุ้น โดยพิจารณาเพียงมาร์เกตแคป ทำให้เสียงเรียกร้องการทบทวนเกณฑ์มาร์เกตแคป ดังขึ้นอีกครั้ง และต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์กลับมายึดคุณสมบัติด้านผลประกอบการ และผลกำไรสุทธิเท่านั้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

บริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น ควรพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถ สร้างผลกำไรจากการดำเนินงานได้แล้ว มีข้อมูลการดำเนินงานย้อนหลัง เพื่อให้นักลงทุนศึกษา ไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่โต แต่ขาดทุนทั้งปีทั้งชาติ

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาด mai ปัจจุบันมีเกือบ 1,000 บริษัท มากพอที่จะให้นักลงทุนเลือกลงทุนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นเพิ่มปริมาณสินค้าในตลาดหุ้น

มีเพียงความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่มากกว่า หรือถ้าจะรับหุ้นใหม่เข้ามา จะต้องเลือกเฟ้นบริษัทที่มีคุณภาพจริง

อย่าปล่อยหุ้นเน่าหลุดรอดเข้ามาสร้างความเสียหายอีก เพราะหุ้นเน่าๆ มีอยู่เยอะแล้ว

เกณฑ์มาร์เกตแคปยกเลิกได้แล้ว อย่าจับนักลงทุนเป็นหนูทดลองยา กับบริษัทที่ไม่มีข้อมูลการดำเนินงานอดีต และไม่อาจคาดหมายผลประกอบการในอนาคตอีกเลย

เจอกรณี PACE และ SHR นักลงทุนเสียหายไปนับหมื่นล้านบาทแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น