หุ้นบริษัทจดทะเบียนใหม่ปี 2562 วิบัติต่อเนื่องจากปี 2561 โดยนักลงทุนที่หลงเข้าไปจอง เจ็บกันซ้ำซาก เพราะราคาหลุดจองกันเป็นแถว
หุ้นใหม่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ตัวแรกที่ประเดิมเข้าซื้อขายต้อนรับปีใหม่ กระทั่งตัวสุดท้ายก่อนปิดฉากปีเก่า เน่าพอๆ กันเพราะไม่มีโอกาสได้เห็นราคาจองนับจากวันที่เข้าซื้อขาย
เปิดฉากปี 2562 หุ้นบริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAAM ประเดิมเข้าซื้อขายเป็นตัวแรก ในวันที่ 7 มกราคม กำหนดราคาจอง 1.80 บาท แต่ปิดการซื้อขายที่ 1.52 บาท ต่ำกว่าจอง 28 สตางค์ และปิดสิ้นปีในวันที่ 30 ธันวาคมที่ 1.02 บาท ต่ำกว่าจอง 78 สตางค์
ส่วนหุ้นบริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH เป็นหุ้นน้องใหม่ตัวสุดท้ายที่เข้าซื้อขายส่งท้ายปี 2562 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ราคาจอง 6 บาท และหลุดจองตั้งแต่วันแรก โดยปิดที่ 4.72 บาท ต่ำกว่าจอง 1.28 บาท และปิดสิ้นปีวันที่ 30 ธันวาคมที่ 4.48 บาท ต่ำกว่าจอง 1.52 บาท
หุ้นใหม่ไม่ได้แย่เฉพาะช่วงต้นปีหรือปลายปีเท่านั้น แต่แย่ตลอดปี 2562 โดยมีหุ้นใหม่เข้ามาซื้อขายรวม 28 บริษัท แต่มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่ราคายืนอยู่เหนือจอง
ประกอบด้วย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM
ที่เหลืออีก 24 บริษัท เมื่อเทียบกับราคาปิดสิ้นปี หรือวันที่ 30 ธันวาคม ราคาหลุดจองหมด ซึ่งส่วนใหญ่ต่ำกว่าจองตั้งแต่การซื้อขายวันแรก และหลายตัวต่ำกว่าจองเกินกว่า 50% ทำให้นักลงทุนที่จองซื้อไว้ขาดทุนป่นปี้
ปี 2561 หุ้นใหม่เจ๊งกันแทบยกแผงไปปีหนึ่งแล้ว โดยมีหุ้นใหม่เข้าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 18 บริษัท แต่เมื่อเทียบกับจุดปิดสิ้นปี มีเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ราคายืนเหนือจอง ส่วนอีก 11 บริษัทต่ำกว่าจอง
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มักได้ยินคำแก้ตัวจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารหุ้นใหม่ ระบุถึงสาเหตุที่หุ้นต่ำกว่าจองว่า เกิดจากดภาวะตลาดหุ้นซบเซา ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
เพราะความจริงคือ ราคาหุ้นใหม่ที่นำมาเสนอขายนักลงทุนนั้น ตั้งราคาไว้สูงเกินไป เกินมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน และไม่เปิดช่องให้คนที่จองซื้อมีโอกาสทำกำไร
ก่อนเสนอขายหุ้น ไม่มีผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน หรือผู้บริหารบริษัทใหม่คนใดออกมาพูดถึงภาวะตลาดหุ้นที่ซบเซา มีแต่โหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปลุกเร้าให้นักลงทุนจองซื้อ โดยอวดอ้างแนวโน้มผลประกอบการที่สดใสของบริษัท แสดงความมั่นใจว่า หุ้นจะยืนเหนือราคาจอง
และมักคุยโม้ว่า หุ้นขายเกลี้ยง นักลงทุนจองซื้อล้นโควตาที่นำมาจัดสรร แต่เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายกลับไปไม่รอด ราคาหลุดจองแล้ว นักลงทุนแทบไม่สนใจเข้าไปช้อน
อาจมีข้อสงสัยว่า เมื่อจองแล้วเจ๊ง ทำไมนักลงทุนจึงซื้อหุ้นใหม่กันอีก ซึ่งจริงๆ แล้ว นักลงทุนจำนวนมากเริ่มขยาดหุ้นใหม่ และปฏิเสธโควตาที่ได้รับจัดสรร แต่บางส่วนถูกยัดเยียดให้ซื้อ ขณะที่นักลงทุนบางคนอยากช่วยมาร์เกตติ้งที่รับคำสั่งให้เชียร์ลูกค้าซื้อหุ้นใหม่ และจองซื้อหุ้นใหม่ไป ทั้งที่รู้ว่า เสี่ยงเจ็บตัวก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หุ้นใหม่หลายตัวก็ขายไม่หมด เพียงแต่หุ้นใหม่ที่เหลือขาย บริษัทผู้จัดจำหน่ายต้องแบกรับเข้าพอร์ต หรือซื้อไว้เอง แต่ไม่มีใครออกมายอมรับว่า หุ้นใหม่ขายไม่หมด เพราะกลัวผลกระทบเมื่อหุ้นเข้าซื้อขาย จึงปิดข่าวกันเงียบ
ปีนี้มีหุ้นใหม่รอคิวเข้ามาระดมทุนนับสิบบริษัท คำถามคือ นักลงทุนเข็ดหรือยังกับการเสี่ยงดวงกับหุ้นใหม่ ถ้าเข็ดต้องตัดใจ หนีให้ห่างจากหุ้นใหม่
และหุ้นเก่าๆ ในกระดานมีของถูกๆ ให้เลือกมากมาย จะเสี่ยงตายทำไมกับหุ้นใหม่