xs
xsm
sm
md
lg

กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ไปต่อไม่แตะเบรก ลุยพลังงาน “เวียดนาม” ก่อนลุ้น “ลาว” ต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี” ไปต่อ หลังคว้า 6,000 เมกะวัตต์ที่เวียดนาม ภาพรวมปี 62 รุกคว้าโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ดันกำลังการผลิตไฟฟ้าโตไม่หยุด จับตาแผนลงทุนเขื่อนใน สปป.ลาวอีก 2,500 เมกะวัตต์ ดันราคาหุ้นไต่เพดานแตะ 200 บาท

ปี 2562 นับเป็นอีกปีทองของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ซึ่งการเติบโตผลประกอบการ และราคาหุ้นล้วนมาจากงานต่างๆ ที่บริษัทวางแผนไว้ และบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างต่อเนื่องทำให้มี Story เข้ามาช่วยผลักดัน รวมถึงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

กล่าวได้ว่าใน 11 เดือนของปี 2562 หากใครถือครองหุ้น GULF ไว้ในพอร์ตสามารถสร้างผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาไปมากกว่า 111% ซึ่งมาจากราคาปิดซื้อขายของ GULF เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ระดับ 83.50 บาท/หุ้น และราคาหุ้นที่เป็นสถิติสูงสุด 179.50 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 62 คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 96.00 บาท/หุ้น ขณะที่ปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลงเล็กน้อย โดยเคลื่อนไหวที่ระดับ 168.00- 172.00 บาท/หุ้น

ปัจจัยที่สร้างแรงผลักดันให้ราคาหุ้น GULF ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดมาจากข่าวการประสบความสำเร็จในการลงนามบันทึกความร่วมมือกับคณะกรรมการประชาชนจังหวัดนิ่งห์ถ่วน (Ninh Thuan Provincial People’s Committee) ซึ่งนับเป็นการยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างบริษัทกับจังหวัดนิ่งห์ถ่วนในการพัฒนา “โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ” กำลังการผลิตติดตั้ง 6,000 เมกวัตต์ ร่วมกับสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ขนาดกำลังการผลิต 6 ล้านตัน/ปี โดยสำนักงานรัฐบาลได้ออกหนังสือให้การสนับสนุนบริษัทในฐานะหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่มีศักยภาพด้านการเงินและมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานให้เข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนาม

ต่อจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาโครงการฯ รวมถึงจะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ในธุรกิจโรงไฟฟ้าและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ตลอดจนแผนการจัดหาเงินทุนเพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป

ทำความรู้จัก GULF

GULF มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ “กลุ่มรัตนาวะดี” ในสัดส่วนถือหุ้นรวมกัน 58.06% โดยผู้ก่อตั้ง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ถือครองหุ้นสูงสุด 35.44% ส่วนที่เหลือเป็นการถือครองหุ้นในนาม GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED สัดส่วน 10.48%, GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. สัดส่วน 7.45% และ บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) สัดส่วน 4.69%

ที่ผ่านมา GULF ถูกยกให้เป็นหุ้นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยกำลังผลิตจำนวนมากในปัจจุบัน และกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่จะทยอย COD จนถึงปี 2567 ซึ่งหากคิดรวมจะมีมากกว่า 11,000 เมกะวัตต์ และที่ผ่านมาการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น GULF ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าตามใครงการใหม่ๆ ที่บริษัทได้รับสิทธิสัมปทาน และการเริ่มทยอย COD เข้ามาให้บริษัทรับรู้

ไม่เพียงเท่านี้ GULF ยังมีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจผ่านการลงทุนด้านอื่นๆ ซึ่งธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ การขยายธุรกิจด้านก๊าซธรรมชาติ และการรุกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศ โดยมีเป้าหมายคือ การแสวงหาโอกาสขยายธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม สปป.ลาว พม่า และกัมพูชา รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ อาทิ โอมาน

โครงการลงทุนที่สำคัญของบริษัทนั้นคือการร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นถึง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ Gulf JP ซึ่งร่วมทุนกับทาง Japan Power มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 IPPs และโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,237 เมกะวัตต์

โครงการที่สอง Gulf MP ร่วมทุนกับ Mitsui & Co จะมีโครงการโรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมด 12 โรงไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการเสร็จ และจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 6 แห่ง ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการก่อสร้าง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,563 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ และโครงการ Independent ร่วมทุนกับ Mitsui & Co เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในโครงการ 2 IPPs กำลังการผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2024

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 11,910 เมกะวัตต์ จาก 33 โครงการ ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย 28 โครงการ, เวียดนาม 4 โครงการ และโอมาน 1 โครงการ โดยทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่ COD แล้ว 5,409 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 6,501 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ยังดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง/เตรียมการก่อสร้างจำนวน 10 โครงการ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 โครงการ และทั้งหมดจะ COD ภายในปี 2567

ขณะที่เป้าหมายในปี 2562 “ยุพาพิน วังวิวัฒน์” กรรมการบริหารบริษัท เคยแสดงความเห็นว่า โดยรวมทั้งปี 2562 บริษัทจะมีรายได้ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.37% จาก 20,200 ล้านบาทในปี 2561 อีกทั้งมีเป้าหมายสำคัญในระยะกลางคือการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาดกำลังการผลิตรวม 6,000 เมกะวัตต์ ในเวียดนามที่เพิ่งลงนามไป และยังมีอีกหนึ่งแผนงานที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพของบริษัทให้เติบโตยิ่งขึ้น นั่นคือ การลงทุนโครงการเขื่อนใน สปป.ลาวร่วมกับพันธมิตรจีน ด้วยกำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์

มีรายงานว่า จุดเด่นที่สำคัญของ GULF นอกเหนือจากการเข้ารับงานหรือการลงทุนผลิตกำลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทมีศักยภาพแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น นั่นคือ “สถานะการเงินที่แข็งแกร่ง” โดยเฉพาะต้นทุนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำโดยล่าสุด บริษัทจะมีการลงนามสัญญาเงินกู้ บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (GPD) ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ขนาดกำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ กับกลุ่มสถาบันการเงินทั้งในไทยและต่างประเทศ 16 แห่ง ระยะเวลา 23 ปี ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิน 3.3% ทำให้โครงการ GDP จะให้อัตราผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ย้อนกลับมาที่ไทม์ไลน์ทางธุรกิจ พบว่าก่อนหน้าเข้ารับโครงการขนาดใหญ่ที่เวียดนาม กำลังผลิต 6,000 เมกะวัตต์ GULF เพิ่งได้ข่าวดีมากระตุ้นผลประกอบการและราคาหุ้นผ่านการคว้างาน โครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ ในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 70% และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ถือหุ้น 30% (บริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT)

โดยเป็นสัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งให้เอกชนได้รับสิทธิ์ในการประกอบกิจการบนพื้นที่จำนวน 200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และมั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น โดยโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) นับเป็นโครงการแรกในจำนวน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางปิโตรเคมีในอนาคต

ขณะเดียวกัน บริษัทเพิ่งเข้าลงทุนเพิ่มในหุ้นของ บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 เพิ่มจำนวน 1,577,700 หุ้น หรือคิดเป็น 0.16% ราคาหุ้นละ 19.2 บาท มูลค่า 30.29 ล้านบาท ทำให้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่สอง โดยมีการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 10.07% ซึ่งเป็นรองเพียงนางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งสัดส่วนประมาณ 30.69% นั่นเท่ากับบริษัทได้ขยายพอร์ตการลงทุนด้านพลังงานทดแทนให้เติบโตเป็นเงาตามตัวธุรกิจโรงไฟฟ้าหลักที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่การลงทุนในเวียดนาม ก่อนหน้านี้ GULF ได้มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมไปแล้วกว่า 460 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2561

นอกจากนี้ GULF ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอีกหนึ่งไลน์ธุรกิจ และหลายฝ่ายคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อแผนดำเนินงานของบริษัทมากขึ้นในอนาคต นั่นคือ การขยายธุรกิจเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยโครงการที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 อีกทั้งยังมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M8) ผ่านกิจการร่วมค้า บีจีเอสอาร์ หรือ BGSR ซึ่งกลุ่มบริษัทเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 36% เนื่องจากกลุ่มบริษัทมีศักยภาพในการจัดหาเงินทุนได้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และสามารถประหยัดต้นทุนจากระบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 อยู่ระหว่างเจรจากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยมูลค่าลงทุนเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ธุรกิจ Infrastructure คาดว่าจะมีในปี 2570 จะสร้างสัดส่วนรายได้ให้แก่บริษัทมากกว่า 10% แต่ไม่เกิน 20% ส่วน IRR จะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งจะต่ำกว่าโครงการโรงไฟฟ้าอย่าง IPP ที่มี IRR อยู่ที่ 25-30% และโครงการ SPP มี IRR อยู่ที่ 20-22%

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองต่อการดำเนินธุรกิจของ GULF ว่ายังคงคำแนะนำ “ถือ” แต่ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 172.00 บาท จากเดิมระดับ 86.00 บาท ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขี้น 41.40 บาท มาจากโครงการใหม่ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะได้ในอนาคตและเป็นโครงการที่มี PPA รองรับหรือเซ็นสัญญาแล้ว และอีก 44.05 บาทมาจากโครงการที่ยังไม่มี PPA หรือเซ็นสัญญา แต่มีโอกาสมากที่จะได้รับ

โดย GULF รายงานกำไรปกติไตรมาส 3/62 ที่ระดับ 997 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการ COD โครงการใหม่เพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาอีก 22% ขณะที่กำไรปกติแบบไตรมาสต่อไตรมาสพบว่ายังทรงตัวได้แม้ผ่าน high season หลัง EGAT กลับมาซื้อไฟฟ้ามากขึ้นใน 6 โครงการที่อยู่ในจังหวัดระยองเพื่อชดเชยการปิดซ่อมบำรุงสายส่งในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

“ราคาหุ้น GULF ช่วง 3 และ 6 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นกว่า 40% และ 62% มาจากการตอบรับความคืบหน้าของ potential projects ซึ่งบริษัทมีโอกาสได้รับในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเมิน momentum การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นจะเริ่มชะลอตัว คาดตลาดจะหันมารอการเซ็นสัญญาเพื่อปิดดีลโครงการต่างๆ ที่ราคาหุ้นได้ price in ไปแล้ว แต่ราคาหุ้นยังมี upside จากโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีกราว 27.00 บาท ซึ่งหากรวมเข้ามาราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 199.00 บาท”

ทำให้คงประมาณการปี 2562 เติบโตราว 17% และยังคงประมาณการกำไรปกติปีนี้ที่ระดับ 3,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า โดยกำไรปกติรอบ 9 เดือนคิดเป็น 80% ของประมาณการทั้งปี

ขณะที่ บล.บัวหลวงประเมินทิศทางธุรกิจของ GULF ว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 6,000 เมกะวัตต์ คาดว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งการลงทุนครั้งนี้ประมาณ 50% เป็นอย่างน้อย หากนำกำลังผลิต 3,000 เมกะวัตต์ (ตามสัดส่วนลงทุน) มาคำนวณในการประเมินครั้งนี้ จึงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น GULF และปรับราคาเป้าหมายปี 2563 ขึ้นเป็น 200 บาทต่อหุ้น

และจากมุมมองดังกล่าว ทำให้ต้องติดตามว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ GULF จะมีข่าวดีด้านโครงการใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้อีกมากน้อยเพียงใด เพื่อผลักดันให้ผลประกอบการ และราคาหุ้นทะยานขึ้นแตะระดับ 200 บาท/หุ้น หรืออาจมากกว่านี้จากโครงการใหม่ที่ทยอยลงนามเพิ่ม หรือโครงการใหม่ๆ ที่บริษัทสนใจเข้าประมูล


กำลังโหลดความคิดเห็น