“ราช กรุ๊ป” เผยยื่น กกพ.ขอใบอนุญาตเป็น Shipper นำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง มั่นใจได้ข้อสรุปปีนี้พร้อมกับพันธมิตรร่วมทุน แย้มสนใจธุรกิจเชื้อเพลิงอัดแท่ง เจรจาหาพื้นที่ขนาดใหญ่ในลาว-พม่าเพื่อปลูกไม้โตเร็ว ทุ่มงบลงทุนปีหน้า 2 หมื่นล้านบาทเน้นซื้อกิจการ M&A โรงไฟฟ้า
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าหินกอง 2 โรง กำลังผลิตรวม 1.4 พันเมกะวัตต์ ที่จังหวัดราชบุรีว่า ขณะนี้ได้ยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในต้นปีหน้า หลังจากนั้นจะจัดหาเงินกู้และเริ่มดำเนินการก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี คาดว่าจ่ายไฟเชิงพาณิชย์โรงแรกในไตรมาส 1/2567และโรงที่ 2 ในปี 2568
ส่วนการจัดหาก๊าซฯป้อนโรงไฟฟ้าหินกองทั้ง 2 โรงนั้น บริษัทฯ ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือผู้ให้บริการ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว เพื่อจัดหาก๊าซฯ ป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกอง หลังจากรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเป็น Shipper นอกเหนือจาก ปตท. เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคิดเป็น 70% ของค่าไฟ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญาจัดหาก๊าซฯ ได้ในปลายปีนี้หรือต้นปี 2563 ส่วนพันธมิตรร่วมทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าหินกอง บริษัทจะพยายามให้เสร็จในปลายปีนี้
นายกิจจากล่าวว่า บริษัทฯ ยังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนเชื้อเพลิงอัดแท่ง (Wood pallet )เพื่อจำหน่ายให้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นแนวโน้มธุรกิจที่ดี ที่โรงไฟฟ้าฟอสซิล ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ต้องการนำเชื้อเพลิงอัดแท่งจากไม้ไปผสมกับเชื้อเพลิงหลัก เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทางผู้ซื้อต้องการทำสัญญาระยะยาว ดังนั้น บริษัทจึงอยู่ระหว่างการเจรจาจัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่ และทำสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาวใน สปป.ลาว และ/หรือพม่า เพื่อปลูกไม้ยืนต้นในการนำมาอัดแท่งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะต้องหาพื้นที่หลายหมื่นหรือนับแสนไร่ โดยขนาดพื้นที่ปลูกต้นไม้โตเร็วราว 4 หมื่นไร่ สามารถผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง 1 แสนตัน/ปี หากตัดหาพื้นที่ได้ก็นับเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรมทางหลวงแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ต้นปีหน้า โดยบริษัทพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการมอเตอร์เวย์ที่จะเปิดประมูลเพิ่มเติมในอนาคตที่จะมีการเปิดให้สัมปทาน 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 6 พันกิโลเมตร
นายกิจจากล่าวต่อไปว่า ในปี 2563 บริษัทฯ เตรียมงบลงทุนไว้ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้เท่าตัว โดยเป็นงบลงทุนในโครงการที่ได้อนุมัติตามแผนงานราว 6 พันล้านบาท ที่เหลืออีก 1.4 หมื่นล้านบาทจัดสรรไว้สำหรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา มอเตอร์เวย์ เพื่อเสริมรายได้ให้แข็งแกร่งในอนาคต ขณะที่บริษัทมีความสามารถในการกู้เงินราว 3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซฯ นับพันเมกะวัตต์ รวมทั้งนำเข้า-จำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเวียดนาม ซึ่งจะจับมือพันธมิตรท้องถิ่นในการศึกษาความเป็นได้อยู่
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายในปี 2566 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าครบ 1 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่ากิจการ 2 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนเป็นธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน 80% อีก 20% เป็นธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,057 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและทยอยจ่ายกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปี 2563 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย 102.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย 24 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน 149.94 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ในปีหน้าบริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากกำลังผลิตที่เข้าใหม่ รวมทั้งสิ้น 276.43 เมกะวัตต์ หากรวมโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นที่จะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 2563 จะทำให้กำลังผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 395.54 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการผลิตในปี 2563 เป็น 7,333.11 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตที่ลงทุนแล้วทั้งหมด 9,341 เมกะวัตต์
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนของปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 33,611 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือรายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวมจำนวน 27,384 ล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของรายได้รวม และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 3,517.29 ล้านบาท คิดเป็น 10.5% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด จำนวน 5,058.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว