xs
xsm
sm
md
lg

3 ทศวรรษนโยบายให้เอกชนผลิตไฟฟ้า คนไทยมีไฟฟ้าใช้ทุกที่ ทุกเวลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

“ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ สำหรับปี 2020 (doing Business 2020) โดยธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่มื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้วโดยได้คะแนน 80.10 เป็นคะแนนสูงที่สุดของไทยในรอบ 10 ปี ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 (86.20 คะแนน) และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12 (81.50 คะแนน)

รายงาน Doing Business ของธนาคารโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสภาพแวดล้อมและการอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการประกอบธุรกิจของเอกชนในประเทศต่างๆ ครอบคลุมตัวชี้วัดของวงจรธุรกิจตั้งแต่การเริ่มจัดตั้งธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และการเลิกธุรกิจ โดยกำหนดตัวชี้วัดรวมทั้งสิ้น 10 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5) ด้านการได้รับสินเชื่อ 6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7) ด้านการชำระภาษี 8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ 9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10) ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย

กล่าวเฉพาะอันดับความยากง่ายในการขอใช้ไฟฟ้า ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมาหลายปีแล้ว ปีที่แล้ว และปีนี้ไทยติดอันดับ 6 ของโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทย และคะแนนปรับสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้าของไทยที่ง่าย รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ เป็นที่ 6 ของโลก เป็นฝีมือประสิทธิภาพของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งสามารถจัดจำหน่ายกระจายไฟฟ้าตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ฉับไวและทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจ และครัวเรือนเกิดขึ้นได้เพราะประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ในทุกที่ทั่วประเทศ ในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม หากไฟไม่พอ ก็ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่า พื้นที่ไหนจะได้ใช้ไฟฟ้าก่อน ครัวเรือนหรือธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าไปไม่ถึง เพราะไฟฟ้าไม่พอ ก็ต้องรอไปก่อน หรือรออีกนาน

ดังนั้น ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่า มีความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้าเป็นที่ 6 ของโลก ก็คือ เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ และมีต้นทุนที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับได้ของภาคธุรกิจ

เรื่องนี้เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในอดีต ที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นโยบายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2532 ด้วยเหตุผลดังนี้

1. เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทำให้กิจการพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้บริโภคมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม

2. ลดภาระการลงทุนของรัฐ และลดภาระหนี้สินของรัฐ

3. ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น

5. สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ

6. ช่วยพัฒนาตลาดทุน

ก่อนหน้าปี 2530 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดียวในประเทศไทย ไฟฟ้าที่ผลิตมาจากเขื่อน ซึ่งต้องมีการทำลายป่าแลกกับการผลิตไฟฟ้าราคาถูก

ประมาณปี 2530 กฟผ.มีโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ทันต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่ถูกนักศึกษา ประชาชนคัดค้านอย่างรุนแรง จนต้องล้มเลิกโครงการไป

นั่นคือ ประวัติศาสตร์หน้าสุดท้ายของการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ หมดยุคของการสร้างเขื่อนเพื่อทำไฟฟ้า

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน กระจายความเจริญสู่ชนบท ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จึงต้องมีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ขึ้น

ลำพังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพียงรายเดียว ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการได้อย่างแน่นอน เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องการลงทุนที่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล หรือให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ซึ่งจะถูกนับเป็น หนี้สาธารณะ ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น กระทบต่อสถานะการเงิน การคลังของรัฐบาล

นอกจากนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ต้องใช้เวลานาน 4-5 ปี การสร้างโรงไฟฟ้าหลายๆ แห่ง เพื่อให้ทันต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกันหรือในเวลาไล่เรี่ยกัน หากเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า โดยรัฐ กำกับควบคุมราคาให้เป็นธรรมต่อผู้ลงทุน และผู้ใช้ไฟก็จะแบ่งเบาภาระของ กฟผ.ได้

ที่สำคัญคือ เป็นหลักประกันว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และทันเวลา

ทุกวันนี้ คนไทยไม่เคยเจอภาวะไฟดับ ไฟตกเป็นเวลานานๆ หรือเป็นประจำ อาจจะมีก็ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ฝนตก ฟ้าคะนอง แต่ไม่เคยเกิดจากกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ที่มีปัญหาไฟดับ ไฟตก เป็นประจำ

ในขณะเดียวกัน ค่าไฟที่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. กฟน.และ กฟภ.ก็เป็นราคาจากการประมูลแข่งขันกันระหว่างผู้เสนอตัวผลิตไฟฟ้า โดยมีราคากลางที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด จึงเป็นราคาที่ถูกที่สุด และเป็นธรรมแล้ว เพราะถูกกำหนดโดยการแข่งขัน ไม่ใช่ราคาที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตั้งเองตามใจชอบเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าของประเทศอาเซียนด้วยกัน ค่าไฟฟ้าของไทยไม่ได้ถูกที่สุด แต่ก็ไม่ได้แพงที่สุด ประเทศที่ค่าไฟถูกกว่าไทยเป็นเพราะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตในสัดส่วนที่สูงมาก ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าของไทย ใช้ถ่านหินน้อยมาก เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดในสัดส่วนที่มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ (IPP) รายเล็ก (SPP) และ รายเล็กมาก (VSPP) ประมาณ 160 ราย ใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล โดยมี กฟผ.ซึ่งเป็นผู้รับซื้อรายเดียวเป็นผู้ควบคุมสั่งการระบบจัดจำหน่าย จ่ายไฟไปยังผู้ใช้ทั่วประเทศ จึงจัดว่า เป็นธุรกิจที่มีผู้ผลิตหลายราย มีการแข่งขันอย่างเสรี ผ่านระบบการเสนอราคาขายไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด ให้ กฟผ.

ทุกวันนี้ เรามีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง สามารถใช้ได้ทุกเวลาตามต้องการ จนเราไม่อาจจินตนาการได้ถึง ชีวิตประจำวันที่มีไฟฟ้าใช้เฉพาะเวลาที่กำหนด เพราะไฟฟ้าไม่พอใช้ นี่คือ ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรมจากนโยบายให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นเมื่อสามสิบปีก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น