บอร์ดใหม่ กคช.ไฟแรง ชู NHA BIG BANG 10 มาตรการเร่งด่วนพลิกโฉมองค์กร เร่งสางปัญหาบ้านเอื้ออาทร 4,442 ไร่ จัดเกรดตามศักยภาพที่ดิน เร่งพัฒนา-ขาย หวังล้างตำนานบ้านเอื้ออาทร ปลายปีเตรียมเปิดตัวบ้านไฮเทค ราคา 3.5-5 แสนบาท/หน่วย ผ่อนเดือนละไม่ถึง 2,000 บาท/เดือน ประเดิมโครงการแรก จ.อุดรธานี
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของกรรมการชุดใหม่ที่ต้องการผลักดันการทำงานของ กคช. ภายใต้แนวคิด “NHA BIG BANG” ประกอบด้วย 10 มาตรการหลัก ทั้งการลงทุนในอนาคตและล้างปัญหาเดิมอย่างเด็ดขาด ซึ่งมาตรการแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ “เข้าชนปัญหาสะสม” “ลงทุนเพื่อประชาชน” และ “ระดมพลมาตรฐานใหม่เคหะ”
หมวด “เข้าชนปัญหาสะสม” ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดการสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และเสื่อมโทรม (Sunk Cost) เกี่ยวกับโครงการเอื้ออาทรทั้งหมดที่มีการทุจริตอยู่ในขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณา และโครงการที่มีปัญหาอื่นๆ โดยโครงการทั้งหมด 92 โครงการเนื้อที่รวมประมาณ 4,442 ไร่ มูลค่ากว่า 7,700 ล้านบาท โครงการบ้านเอื้ออาทรสร้าภาระหนี้ให้แก่การเคหะสูงถึง 78,000 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งการเคหะฯได้หาแนวทางลดหนี้ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่จำนวนประมาณ 30,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเคหะฯ ได้วางมาตรการแก้ปัญหา 3 ระดับ ซึ่ง กคช.ได้แบ่งระดับตามศักยภาพของที่ดิน ได้แก่ 1.ที่ดินศักยภาพสูงมีจำนวน 39 แปลง 1,558 ไร่ 2.ที่ดินศักยภาพปานกลาง 47 แปลง 2,464 ไร่ และศักยภาพต่ำ 6 แปลง 420 ไร่ โดยแนวทางการแก้ไขมีหลายวิธี เช่น นำที่ดินมาพัฒนา ทั้งลงทุนพัฒนาเอง หรือโครงการร่วมทุนเอกชนแบบ PPP หรือขายที่ดินยกโครงการให้แก่เอกชน เป็นต้น ถือเป็นการล้างตำนานบ้านเอื้ออาทรก็ว่าได้
2.เร่งจำหน่ายหน่วยที่อยู่อาศัยคงเหลือประมาณ 21,000 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 14,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการที่หลากหลาย รวมไปถึงนำเสนอต่อหน่วยราชการอื่นที่ต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เกษียณอายุราชการ และผ่านระบบนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญ แต่ปัญหาหลักของการขายคือ กลุ่มลูกค้าเกือบ 50% ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยจะต้องหาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการมีบ้านแต่ขอกู้ไม่ผ่าน เช่น ขอความร่วมมือธนาคารของรัฐในการปล่อยสินเชื่อแบบพิเศษ หรือการเคหะฯ จัดทำสินเชื่อเองแต่ต้องมาพิจารณาอีกว่าจะสามารรถดำเนินการได้หรือไม่
3.เพิ่มมูลค่าพื้นที่จัดสรรประโยชน์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ที่ดินว่างเปล่าจะมีมาตรการจัดประโยชน์ให้เอกชนได้เช่าใช้ทำธุรกิจ เช่น ตลาดการเคหะและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการเร่งปราบปรามการบุกรุกพื้นที่อย่างผิดกฎหมายทั่วประเทศ
4.เพิ่มศักยภาพบริษัทจัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (CEMCO) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเพียงแห่งเดียวของการเคหะแห่งชาติ โดยทำแผนเร่งด่วนแก้ปัญหาขาดทุนสะสม และหามาตรการขยายธุรกิจโดยใช้ความได้เปรียบของการเคหะที่มีหน่วยที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งได้เริ่่มดำเนินการจัดทำแผนงานปรับโครงสร้างองค์กรและแผนธุรกิจพร้อมดำเนินการทันทีในปี 2563 อีกทั้งวางแนวทางนำ CEMCO เข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 3 ปี
เปิดตัวบ้านไฮเทคหลังละ 3.5-5 แสนบาท
หมวด “ลงทุนเพื่อประชาชน” ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.โครงการบ้านราคา 350,000-500,000 บาท/หน่วย ซึ่งจะทำการเปิดต้นแบบได้ภายในปี 62 โดยจับกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ผ่อนประมาณ 2,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นบ้านที่มีความทันสมัย สวยงาม จะมีการสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยลดต้นทุนในการสร้างบ้าน ทำให้ได้มาตรฐานกว่าการก่อสร้างรูปแบบเดิม โดยแบบบ้านดังกล่าวจะนำไปสร้างบนที่ดินเก่าโครงการบ้านเอื้ออาทร เนื่องจากมีต้นทุนที่ดินราคาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้ราคาถูกกว่าราคาตลาดในปัจจุบันมาก อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจะให้รัฐบาลอุดหนุนเท่าใดนั้นจะต้องศึกษาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับบ้านเอื้ออาทร
สำหรับแบบบ้านไฮเทค ราคา 3.5-5 แสนบาท เบื้องต้นออกแบบเป็นโครงการแนวราบชั้นเดียว ขนาดที่ดิน 20 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 28 ตร.ม. เบื้องต้นจะนำแบบบ้านดังกล่าวไปสร้างในโครงการบ้านเอื้ออาทรเก่าที่มีปัญหาในอดีตเนื่องราคาที่ดินถูก โดยจะเลือกแปลงที่มีศักยภาพมาพัฒนาก่อน สำหรับโครงการแรกของบ้านต้นแบบดังกล่าวคาดว่าจะพัฒนาที่จังหวัดอุดรธานีเป็นแห่งแรก
2.เร่งรัดโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) จำนวน 13 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการระดับชาติบางส่วน และบางส่วนเป็นหน้าที่ของกรรมการการเคหะแห่งชาติชุดใหม่ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งโครงการมีทั้งรูปแบบที่อยู่อาศัยปกติ บ้านพักสำหรับผู้เกษียณอายุ และโครงการผสมผสานในรูปแบบต่างๆ
3.การจัดทำฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยทั้งประเทศ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นอย่างกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน เพราะฐานข้อมูลจะช่วยให้นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จะสามารถเห็นข้อมูลทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลหลักแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศให้เอกชนได้นำไปต่อยอดสร้างธุรกิจเชื่อมโยงในระบบโลกต่อไป
หมวด “ระดมพลยกมาตรฐานเคหะ” ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.จัดทำชุมชนตัวอย่างมาตรฐานความเป็นอยู่สูง อย่างน้อย 3 แห่ง ในปี 2562 ได้แก่ชุมชนแนวราบ ชุมชนแนวตั้ง และตลาดการเคหะ โดยความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีงบประมาณด้าน CSR พัฒนาชุมชนให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงแบบครบวงจร เพื่อเป็นต้นแบบของชุมชนการเคหะรุ่นใหม่ๆ ในอนาคต ปัจจุบันมีกิจการขนาดใหญ่สนใจเข้ามาร่วมมือพัฒนาจำนวนมาก
2.จัดระบบภายในแก้ปัญหาคุณภาพด้านการก่อสร้างและการบริหารนิติบุคคลของการเคหะ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาคุณภาพการก่อสร้างและการบริหารโครงการบางส่วนเกิดขึ้นจากผู้รับเหมาโครงการและผู้ให้บริการที่มีศักยภาพต่ำ รวมไปถึงปัญหาการควบคุมงานภายในองค์กรเอง จึงได้จัดทำมาตรการพิเศษแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยอาศัยความร่วมมือของพนักงานการเคหะและตัวแทนจากชุมชนจัดตั้ง Task Force ร่วมกันแจ้งปัญหาและมีมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อผู้สร้างความเสียหายในทุกระดับ
NHA Beyond 3.มาตรการที่ยกระดับการเคหะจากภาระหน้าที่หลักในการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน เป็นการเคหะที่มีภาระหน้าที่ในการสร้างชุมชนและสังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นอยู่ที่ได้รับการดูแลที่ดี ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ได้แก่ Care Beyond ดูแลชุมชนแม้ว่าจะมีการปิดการขายโครงการและส่งมอบต่อไปยังนิติบุคคลเอกชนแล้วก็ตาม Service Beyond คือ การนำ CEMCO มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ชุมชมได้รับบริการทั่วไปเพิ่มเติม ไม่ว่าด้านการซ่อมแซม ประปา ไฟฟ้า การดูแลรักษาความปลอดภัย และ Reponsibility Beyond คือ ภาระที่การเคหะต้องสร้างชีวิตให้ชุมชน ด้วยการพัฒนาสันทนาการ เช่น กิจกรรมดนตรี กีฬา อาชีพผู้สูงอายุ ศูนย์รับเลี้ยงเด็กสำหรับคนในชุมชน ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ การส่งเสริมการออมร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อเตรียมการให้ประชาชนเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า 10 มาตการดังกล่าวจะทำให้การเคหะสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมไปถึงสะสางปัญหาค้างเก่าซึ่งทำให้การเคหะเสียภาพลักษณ์ และมีผลกระทบต่อประชาชนไปในเวลาเดียวกัน โดยมีการกำหนดกรอบเวลาติดตามผลอย่างชัดเจน สำหรับในปี 2562 จะมีการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการตามกรอบระยะเวลา 30, 60 และ 90 วัน ต่อคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ