ผอ. สบน. ไม่ห่วงบริหารหนี้รัฐบาลท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและความผันผวนของค่าเงิน เหตุหนี้สินต่างประเทศมีไม่ถึง 1% เทียบหนี้รวมของรัฐบาลที่ 5.2 ล้านล้านบาท ส่วนยอดรวมหนี้ต่างประเทศล่าสุดเมื่อสิ้นเดือน พ.ค. 61 มีทั้งสิ้น 9.44 หมื่นล้านบาท ย้ำ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ฉบับใหม่ กำหนดขอบเขตคำนิยาม “หน่วยงานรัฐ” ให้กว้างขวางขึ้นเป็น 2,681 แห่ง
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงการบริหารหนี้สาธารณะท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นว่าไม่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากโครงสร้างสัดส่วนของหนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ระยะยาวนั้นจะอยู่ในระดับสูงถึง 90% โดยหนี้สินในส่วนนี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ตายตัวไว้แล้ว ขณะที่หนี้สินระยะหนี้ซึ่งใกล้จะครบกำหนดชำระคืนจะมีอยู่เพียง 10% เท่านั้น ดังนั้น
ตนจึงเชื่อว่า การบริหารหนี้ของรัฐบาลจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
นอกจากนี้ การบริหารหนี้สาธารณะในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างผันผวนนั้น จะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อีกทั้ง หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลในปัจจุบันจะมีอยู่ไม่ถึง 1% เมื่อเทียบจากหนี้รัฐบาลโดยรวมที่มีทั้งสิ้น 5.2 ล้านล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นเดือน พ.ค.61 รัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศ 94,484 ล้านบาท ซึ่ง สบน. ได้ดำเนินการบริหารจัดการจัดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว 61,194 ล้านบาท ส่วนอีก 33,289 ล้านบาทยังไม่ได้ดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 61 ว่าได้ให้คำนิยามของคำว่า “หน่วยงานรัฐ” ให้มีความกว้างขวางขึ้น โดยกำหนดให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานของรัฐสภา, หน่วยงานของศาล, องค์การมหาชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีหน่วยงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ฉบับใหม่ เพิ่มขึ้นจากเดิม 159 แห่ง เป็น 2,681 แห่ง โดย สบน. จะทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานดังกล่าวทั้งหมดนี้ด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนการกู้เงินที่เป็นภาระของงบประมาณแผ่นดินของ อปท. ทั่วประเทศ นายภูมิศักดิ์ ย้ำว่า อปท. ที่จะกู้เงินจำเป็นต้องจัดทำแผนการกู้เงิน แผนการบริหารหนี้ และต้องทำรายงานการกู้เงิน และสถานะหนี้คงค้างให้ สบน. ได้รับทราบเพื่อจัดทำเป็นรายงานการเงินรวมของภาครัฐ โดยนับจากนี้ไป สบน. จะได้จัดทำรายงานแยกออกเป็นรายงานการเงินรวมของรัฐบาล และหน่วยงานรัฐ รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ และรายงานการเงินรวมของ อปท. เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 210 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ จากนั้นจึงจะทำการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับหนี้คงค้างของ อปท. ทั่วประเทศ จะมีอยู่ราว 29,000 ล้านบาท ซึ่ง สบน. ถือว่ายังไม่ได้มากเมื่อเทียบจำนวนหนี้สาธารณะรวมของประเทศ ส่วนแนวโน้มในอนาคต สบน. ก็เชื่อว่า การก่อหนี้ของ อปท. จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีอำนาจในการกู้เงินได้มากขึ้น และหาก อปท. แต่ละแห่งมีศักยภาพในการบริหารการใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แล้วก็จะทำให้เกิดโครงการที่ดี และมีประโยชน์ รวมทั้งยังจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นของตนเองด้วย