มาแล้า! กฎเหล็กคุม อปท. 7 พันแห่ง ก่อหนี้มั่ว! กู้ได้มีภาระหนี้ไม่เกิน 10% ของรายได้ ตีกรอบให้กู้เงิน มุ่งใช้ 3 ด้าน การดำเนินโครงการลงทุน/ปรับโครงสร้างหนี้/ทุนหมุนเวียน หวังคุมวินัยการเงินการคลัง เผย ยกเว้นการกู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมกิจการ อบจ./เทศบาล/อบต. และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น เผย ที่ผ่านมา อปท.กู้ไปใช้จ่ายในลักษณะรายจ่ายประจำปกติ ทำให้มีปัญหาการใช้หนี้ในอนาคต พบ อปท.บางแห่งก่อหนี้ผูกพัน ในระยะยาว จนผู้บริหารพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง
วันนี้ (18 ก.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ.2561 ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางปฏิบัติการกู้ยืมของ อปท.ให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมา แต่ละ อปท.มีกฎหมายจัดตั้งของตัวเองซึ่งให้อำนาจในการกู้เงิน แต่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่เป็น กรอบวินัยการเงินการคลัง
สำหรับสาระสำคัญของเงื่อนไขได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายใน 3 ด้าน คือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับโครงสร้างหนี้ และกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ทำได้ เฉพาะสถานธนานุบาลของท้องถิ่นเท่านั้น
ด้านกรอบเพดานการกู้เงินนั้น อปท.จะกู้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีภาระชำระหนี้ในแต่ละปีไม่เกิน 10% ของรายได้เฉลี่ยประเมินจากปีปัจจุบันและย้อนหลัง 2 ปี แต่จะกู้เกินเพดานนี้ได้หากเป็น การกู้เพื่อลงทุน อปท.สามารถรับภาระชำระหนี้ และไม่กระทบกับรายจ่ายประจำ ส่วนสกุลเงินที่กู้จะเป็น เงินบาทหรือสกุลต่างประเทศก็ได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริหารหนี้ การทำประกันจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่รัฐบาลจะไม่ค้ำประกันหนี้ให้ อปท. รวมทั้งไม่รับผิดชอบหรือตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยดังกล่าว แต่ อปท.สามารถหาการค้ำประกันจากหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ สำหรับการกำกับดูแลจะมีความใกล้ชิดมากขึ้น โดยระเบียบกำหนดให้ อปท.ที่จะกู้เงินต้องจัดให้มีแผนการเงินประจำปี มีระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐาน โดยระเบียบฉบับนี้ จะครอบคลุม อปท.ทั้ง 7,852 แห่งทั่วประเทศ
มีรายงานวา ที่ผ่านมา ระเบียบฉบับนี้ รัฐต้องการระบุว่า อปท.ต้องกู้เพื่อการลงทุนเท่านั้น ห้ามกู้เพื่อรายจ่ายประจำและต้องสอดคล้องกับการหารายได้ เนื่องจากพบว่าเงินกู้บางส่วนไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่กู้ไปใช้จ่ายในลักษณะรายจ่ายประจำปกติ ซึ่งอาจจะมีปัญหาการใช้หนี้ในภายหลัง
ทั้งนี้ การกู้เงินจากสถาบันการเงิน ที่ผ่านมา หน่วยงานอย่าง อบต. ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ระเบียบ จะเปิดช่องให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สามารถยื่นกู้ได้ทั้งจากสถาบันการเงินและเทศบาลทุกระดับที่เป็นสมาชิก กรณีนี้มีปัญหาจากการกู้เงิน ซึ่งเคยมีการทักท้วง เนื่องจาก อปท. บางแห่งก่อหนี้ผูกพัน ในระยะยาวกระทั่งผู้บริหารพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง มีการตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ขณะที่การกู้เงินจากสถาบันการเงินต้องตรวจสอบข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
“ปัญหาเกิดจากหนี้สาธารณะระดับประเทศ ที่กระทรวงการคลัง เห็นว่า อปท. มีหนี้สินจำนวนมาก และพยายามนำไปบวกรวมกับหนี้กลาง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าหนี้สาธารณะเป็นปัญหาของรัฐบาล จึงออกหลักเกณฑ์มาควบคุมเป็นเรื่องเหมาะสม แต่หนี้ของ อปท. ไม่เคยมีปัญหาหนี้เสีย เนื่องจากมีระเบียบบังคับให้มีการชำระหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์กำหนดโดยไม่ให้ อปท. เป็นหนี้เกินจากข้อกำหนด นอกจากนั้น อปท. ยังมีกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล และกองทุนส่งเสริมกิจการ อบจ. มีทุนหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาท ที่สำคัญ การกู้เงินของ อปท. ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบ และการกู้จากสถาบันการเงิน หากเกินวงเงินกำหนด ต้องแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบด้วย”
ล่าสุด ราชกิจจนานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกระเบียบไว้
สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว อาทิ ข้อ 4 ระเบียบนี้ใช้บังคับกับการกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเว้นการกู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อ 6 การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกระทำโดยความรอบคอบและคำนึงถึงความคุ้มค่า ความยั่งยืนทางการคลัง ความสามารถในการจัดหารายได้ การชำระหนี้ การกระจายภาระการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ ให้มีการติดตามประเมินผลการรายงาน การใช้จ่ายเงินกู้ และการเปิดเผยต่อประชาชนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ข้อ 7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 1) การดำเนินโครงการลงทุน 2) การปรับโครงสร้างหนี้ 3) ทุนหมุนเวียน
ข้อ 8 โครงการลงทุนที่จะดำเนินการกู้เงินตามข้อ 7 (1) ต้องมีลักษณะเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1) เป็นโครงการตามอำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น 3) ไม่เป็นโครงการที่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน 4) ไม่เป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย ทัศนศึกษาดูงาน หรือการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม 5) ไม่เป็นโครงการที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
การจัดทำโครงการลงทุนเพื่อขอความเห็นชอบหรืออนุมัติการกู้เงินดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเทคนิค และแสดงให้เห็นถึงรายได้หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งรายละเอียดและวงเงินกู้ของโครงการฯ รวมถึงแผนการชำระหนี้เงินกู้จากผลตอบแทนของโครงการ ทั้งนี้ หากโครงการลงทุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอขอกู้เงินตามวรรคหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวิเคราะห์ผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเปิดเผยต่อสาธารณชน และต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ข้อ 11 ระบุ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะกู้เงิน ตามข้อ 7(1) ได้เมื่อการกู้นั้นไม่ก่อให้เกิดภาระชำระหนี้เกินกว่าร้อยละ 10 ต่อรายได้เฉลี่ย รายได้เฉลี่ยตามวรรคหนึ่งให้คำนวณจากประมาณการรายได้ตามเอกสารงบประมาณท้องถิ่นในปีที่กู้เงิน และรายได้ย้อนหลังสองปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจกู้เงินเมื่อมีภาระชำระหนี้เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการชำระหนี้โดยไม่กระทบต่อรายได้ประจำ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 22
ข้อ 22 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินก่อนการกู้เงิน เพื่อดำเนินโครงการลงทุนตามข้อ 7 (1) และการกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ตามข้อ 7 (2) แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติตามกฎหมาย นอกจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในกรณีที่เป็นการกู้เงินตามข้อ 11 วรรคสาม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอข้อมูลก่อนการกู้เงินต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความเห็นชอบหรืออนุมัติ ให้ผู้ซึ่งมีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรืออนุมัติการกู้เงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำผลการรับฟังความเห็นตามวรรคหนึ่งประกอบการพิจารณา