บอร์ด รฟม.สั่งศึกษารูปแบบลงทุน PPP สายสีส้มเพิ่ม เกรงไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กระทบเพดานงบประมาณ เหตุเอกชนลงทุน 100% โยธาและเดินรถ 30 ปี รัฐต้องจัดงบอุดหนุนค่าโยธา ขณะที่แยกรัฐลงทุนเอง เกรงเจอปัญหาล่าช้า ซ้ำซาก “ประธานบอร์ด” เผยอัปเกรดตั๋วร่วมเป็น EMV แมงมุม 4.0 ในปี 62 ส่วนบีทีเอส ต้องเจรจาเพื่อเปิดระบบเชื่อม
นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ได้มีการรายงานความคืบหน้าการศึกษาแผนการร่วมทุน (PPP) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่เนื่องจากผลการศึกษายังไม่เสร็จเรียบร้อย โดยให้ รฟม.ไปพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ
นอกจากนี้ บอร์ดได้เร่งรัดการพัฒนาตั๋วร่วมในระบบบัตร EMV Contactless Smart Card (Open Loop) เทคโนโลยีระบบใหม่ โดยประเมินว่าจะใช้เวลาในการปรับปรุงหัวอ่าน ทดสอบระบบ ทดสอบการใช้งานได้ประมาณเดือน ธ.ค. 2562 ซึ่งได้สั่งเร่งให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ตัวบัตรเครดิต/เดบิต ข้อกำหนดของ Master Card และ Visa Card ที่เป็น Contactless จะมีครบในปี 2563 แต่ทางธนาคารสามารถเร่งรัดให้เร็วขึ้นได้เพื่อยกระดับเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วม หรือแมงมุม 2.0 เป็นแมงมุม 4.0
“กรณีบีทีเอสยังไม่ร่วม เพราะมีบัตรแรบบิทที่เป็นระบบปิด (Close Loop) ซึ่งเมื่อพัฒนาเป็น EMV แล้วจะสะดวกมาก และผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกรายควรจะเข้าร่วม ซึ่งบีทีเอสอยู่ภายใต้การกำกับของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเจรจากันเพื่อดึงเข้ามาเพื่อให้เป็นระบบตั๋วต่อ หรือ Commom Ticket ก่อน การเป็นตั๋วร่วมที่สมบูรณ์ต้องเป็น Common Fair ที่ต้องมีเจ้ามือคือ รัฐ แต่จะเป็นใครอย่างไรต้องพิจารณากันต่อไป” นายไกรฤทธิ์กล่าว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า บอร์ดมีข้อสังเกตในการลงทุน PPP ของสายสีส้มหลายประเด็น โดยให้ รฟม.พิจารณาในทุกมิติอย่างรอบคอบ เช่น ความเป็นไปตามทางการเงิน อัตราดอกเบี้ย ปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงจะต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ที่มีกรอบเพดานการใช้งบประมาณ เพราะรูปแบบ PPP ให้เอกชนลงทุน 100% งานโยธาและระบบเดินรถเป็นสัญญาเดียวนั้นจะมีเงื่อนไขที่รัฐจะอุดหนุนค่างานโยธา เช่น รัฐชำระในระยะ 10 ปี เป็นการผูกพันงบประมาณ ซึ่งรูปแบบนี้ใช้กับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง แต่ขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จึงไม่มีเพดานการตั้งงบผูกพัน
ส่วนกรณีรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาเองให้เอกชนลงทุนเฉพาะการเดินรถ จะต้องพิจารณาผลกระทบหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลต่อภาระของรัฐและความเสี่ยงที่การก่อสร้างจะล่าช้าเหมือนสีน้ำเงิน หรือสายสีแดงที่งานโยธาเสร็จแล้วยังเปิดเดินรถไม่ได้ เป็นต้น
“ตอนนี้มีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ดังนั้น บอร์ดจึงอยากให้ศึกษาและตรวจสอบปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกมิติ ซึ่งจะศึกษาเพิ่มเติมเร่งสรุปเพื่อนำเสนอบอร์ดอีกครั้งในการประชุมเดือน ก.ค.ซึ่งตามกรอบเวลา สายสีส้ม (ตะวันออก) จะก่อสร้างเสร็จปี 2566 ดังนั้นการจัดหาเรื่องระบบและเดินรถจะต้องสรุปและเปิดประมูลในปี 2562 เพราะจะต้องใช้เวลาในการจัดหาผลิตรถไฟฟ้าและติดตั้งระบบ 36 เดือน”
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ด้านตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท โดยมีค่างานโยธา 85,288.54 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.ศึกษารายงานวิเคราะห์ลงทุน PPP พร้อมกับการขออนุมัติงานโยธา ตามมติ ครม. โดยผลการศึกษาให้มีรูปแบบให้มีผู้รับงาน 1 ราย รับผิดชอบทั้งงานโยธา ด้านตะวันตก งานวางระบบ จัดหารถไฟฟ้า และเดินรถสายสีส้ม ตลอดสาย (มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ระยะทางรวม 39 กม. PPP ประเภท Net Cost ระยะเวลา 30 ปี